เปิดใจ ‘น้องโม-ชลธิชา ศรีษะโคตร’ นายกหญิงคนแรก องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ

น้องโม-ชลธิชา

เปิดใจ ‘น้องโม-ชลธิชา ศรีษะโคตร’ นายกหญิงคนแรก องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ

จารึกประวัติศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานกว่า 103 ปี สำหรับ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ที่ผลิตบุคลากรคุณภาพออกสู่สังคมมาโดยตลอด และทุกครั้งที่รั้วจามจุรีแห่งนี้เปิดรับนิสิตใหม่ ขณะนั้น องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์ (อบจ.) ซึ่งอยู่เบื้องหลังกิจกรรมต่างๆ ก็ได้เริ่มขับเคลื่อนจุฬาฯ ในภาคการศึกษาใหม่อีกครั้ง

ซึ่งในปีการศึกษา 2562 นี้ พิเศษกว่าปีที่ผ่านๆมา ด้วยผลการลงคะแนนเลือกตั้งสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเอกฉันท์ ว่าทีมบริหารภายใต้การนำของ น.ส.ชลธิชา ศรีษะโคตร หรือ โม อายุ 22 ปี นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้รับเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่ใน อบจ. เป็นตลอดวาระ 1 ปีต่อจากนี้ไป

โม และทีม ขณะหาเสียง
โม และองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์

นับว่าเป็นครั้งแรกในรั้วจามจุรี ที่มี นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์ เป็น “ผู้หญิง” ทำหน้าที่คอยดูแลและบริหารงานในสโมสร ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

“ตอนที่รู้ว่าเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ สิ่งที่คิดคือหวังว่าในปีต่อๆ ไป จะมีน้องๆ ผู้หญิงมาทำหน้าที่ตรงนี้และมีส่วนร่วมมากขึ้นอีก แต่อีกมุมก็แปลกใจเพราะจากที่โมทำกิจกรรมมาโดยตลอด โมมองว่าผู้หญิงกับการบริหารงานเป็นเรื่องปกติ เพราะผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกัน แต่หากมองจากมุมของคนภายนอกที่มองเข้ามา อาจจะเป็นความรู้สึกแปลกใหม่มากกว่า เพราะในตำแหน่งนี้ยังไม่มีผู้หญิงเข้ามาเป็นผู้นำมาก่อน จึงเกิดความคาดหวังที่จะได้เห็นสิ่งใหม่ๆ” ชลธิชากล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังและเล่าว่า

Advertisement

ช่วงเวลาก่อนที่จะลงสมัครเลือกตั้งสโมสรนิสิตจุฬาฯ มีหลายครั้งที่เธอเกิดสงสัยว่า “ผู้หญิงจะสามารถเป็นผู้นำได้ไหม” และ “ทำไมสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้นำ หรือระดับบริหารถึงน้อย” จึงไปศึกษาข้อมูลผ่านบทความวิเคราะห์ต่างๆ โดยมีบทความหนึ่งระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นฐานนิสัยของผู้หญิงที่มีความเปราะบางทางด้านอารมณ์ ขี้น้อยใจ หรือคิดเยอะ

“พออ่านไปก็เข้าใจในบริบทต่างๆ มากขึ้น แล้วก็นำมาสำรวจตัวเองก็พบว่าจริงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดตามที่เขาบอก เพราะโมเชื่อว่าเราทุกคนพัฒนาได้ อย่างในกรณีของโม โมเน้นการทำงานเป็นทีม การที่เราเป็นผู้หญิงมีข้อได้เปรียบเรื่องการเอาใจใส่ ทุกคนในทีมรู้สึกสบายใจและกล้าที่จะเข้ามาปรึกษาเรื่องงาน ทำให้บรรยากาศในการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนเรื่องอารมณ์คิดเล็กคิดน้อยแบบผู้หญิงก็มี แต่พอเข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวม ก็รู้จักที่จะปล่อยวางและโฟกัสไปที่เรื่องงานโดยรวม” นายก อบจ.หญิงกล่าว

Advertisement

นอกจากทีมเวิร์กที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 แล้ว “ผู้นำที่ดี” ในแบบฉบับของโม คือ “มองเห็นโอกาส และหยิบยื่นโอกาสให้แก่ผู้อื่นที่เหมาะสม” เพราะเธอเองก็ได้รับโอกาสจากรุ่นพี่ ที่มองเห็นศักยภาพของเธอจนกระทั่งมีวันนี้ เป็นโมในแบบฉบับที่ดีขึ้น ฉะนั้นทุกคนจึงต้องการโอกาสที่จะได้เป็นคนที่ดีกว่าเดิมเหมือนกัน แต่ต้องดูต่อไปด้วยว่าคนที่ได้รับโอกาส พัฒนาต่อไหม เพราะโอกาสต้องดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาถึงจะเกิดประโยชน์

สำหรับ เป้าหมายในการขับเคลื่อนจุฬาฯของเธอ คือ อยากสร้างสิ่งใหม่ๆ นอกจากกิจกรรมประจำปีที่มีอยู่แล้ว ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบที่มาจากความต้องการของนิสิตจริงๆ โดยริเริ่มโครงการพิชชิ่งเพื่อให้นิสิตมีส่วนร่วมในการเสนอไอเดีย โดยกิจกรรมนั้นๆ จะเป็นส่วนหนึ่งในการ “พัฒนานิสิต” ทั้งผู้จัดงานและผู้ที่มาร่วมงาน ครอบคลุมทั้งในด้านซอฟต์สกิล และการบริหารจัดการงาน

ทั้งนี้ ทีมงานของเธอมีมายด์เซตเดียวกันคือ “อยากพัฒนาทั้งด้านบุคลากรและความสัมพันธ์ เพราะเชื่อว่าทุกคนพัฒนาได้และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

กลายเป็นผู้นำที่ทำงานเก่งแบบนี้ นายก อบจ.หญิงคนแรก เล่าย้อนกลับไปว่า เธอเริ่มต้นจากการเป็นทีมงานก่อน ต่อมามีรุ่นพี่ทาบทามให้เป็นเลขาธิการใน อบจ. จากนั้นก็เก็บประสบการณ์เรื่อยๆ จนได้เป็นประธานฝ่ายต่างๆ จนกระทั่งเป็นประธานอำนวยการร่วม ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 และ 73

“จากการทำงานที่ผ่านมา โมพัฒนาไปเยอะมากทั้งด้านความคิด ทักษะต่างๆ การดูคน การทำงานแบบเป็นทีม จากเมื่อก่อนที่เป็นคนทำไปเรื่อยๆ ต้องมีคนคอยบอกถึงจะเริ่มลงมือทำ คิดเองไม่เป็น และคิดอะไรก็จะพูดเลย ไม่ใช่คนใจเย็น แต่ตอนนี้มีความเป็นผู้นำมากขึ้น ใจเย็นขึ้น เพราะการมาอยู่จุดนี้สิ่งสำคัญคือต้องวางแผนตลอดเวลา คิดรอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะคำพูดของเรารวมทั้งทัศนคติที่แสดงออกไป” ชลธิชากล่าว

ทั้งนี้ ต้องรับบทหนักทำหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน โมมีเคล็ดลับใน การบริหารจัดการเวลา คือ “การเรียงลำดับความสำคัญ” (Priority) ตลอดจนลำดับความเร่งด่วนของงาน โดยเธออธิบายว่า ถ้าเป็นช่วงสอบก็จะทุ่มกับการเรียนเต็มที่ แต่หากระหว่างนั้นมีงานกิจกรรมที่ด่วนมากเข้ามาก็จะทำกิจกรรมก่อน และปรับรูปแบบการอ่านหนังสือให้เหมาะสม โดยเพิ่มระยะเวลาการทบทวนหนังสือให้ไวขึ้น ทั้งยังเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image