รู้จัก ‘เจนซี-อัลฟ่า’ ประชากรเจนล่าสุดของไทย

ซี-อัลฟ่า

รู้จัก ‘เจนซี-อัลฟ่า’ ประชากรเจนล่าสุดของไทย

ซี-อัลฟ่า – เชื่อว่าหลายคนอาจจะคุ้นเคยดีกับชื่อของการแบ่งกลุ่มประชากรด้วยช่วงอายุ ตามหลักประชากรศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น เบบี้บูมเมอร์, เจเนเรชั่นเอ็กซ์ เจเนเรชั่นวาย และเจเนเรชั่นแซด แต่ประชากร “เจเนอเรชั่น ซี-อัลฟ่า” อาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยมากนัก

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการยุวชนนิเวศของประชากรเจเนอเรชั่น ซี-อัลฟ่า ซึ่งเป็น “ประชากรเจเนอเรชั่นล่าสุดของสังคมไทย” (เกิดระหว่าง พ.ศ.2547-2566) ที่จะเติบโตเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมไทยในอนาคต มุ่งศึกษาไปที่ความเชื่อมโยงของอิทธิพลจาก 3 พื้นที่ที่แวดล้อม และส่งผลต่อพฤติกรรมและทัศนคติในเจเนอเรชันนี้ ได้แก่ บ้าน โรงเรียน และพื้นที่อื่นๆ รวมไปถึงที่อยู่ในพื้นที่ออฟไลน์ และออนไลน์

เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ประชากร “เจเนอเรชั่น ซี-อัลฟา” ของประเทศไทยในบริบทต่างๆ

ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวในฐานะหัวหน้าโครงการ ว่า ครอบครัวในสังคมไทยปัจจุบัน คนในครอบครัวมีการพูดคุยกันใน “พื้นที่เสมือน” มากขึ้น เนื่องจากมีรูปแบบอยู่กันแบบกระจัดกระจายกันมากขึ้น อยู่ห่างไกลกันและใช้เวลาอยู่ร่วมกันน้อยลง เนื่องจากหลายสาเหตุ ทั้งการย้ายถิ่น จากครอบครัวขยายที่อยู่กันแบบปู่ย่าตายายพ่อแม่ลูกในหนึ่งบ้าน หรือรวมกันสามเจเนอเรชั่น อาจเหลือแต่พ่อแม่ลูก ในขณะที่พ่อแม่ลูกบางบ้านก็อาจจะเหลือแต่พ่อกับลูก หรือแม่กับลูก

Advertisement

นอกจากนี้ สมาชิกในครัวเรือนยังใช้เวลาเดินทางในท้องถนนนานขึ้นเนื่องจากสภาพการจราจร ทำให้ต้องใช้พื้นที่เสมือนในการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านไลน์หรือเฟซบุ๊ก


ทั้งนี้ จากการศึกษายังพบว่ามี “ช่องว่างการสื่อสารระหว่างเจเนอเรชั่น” ในพื้นที่เสมือนนี้ด้วย

“การใช้โซเชียลมีเดียส่งผลต่อทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับคนอื่นๆ โดยในกลุ่มครอบครัวที่มีสามเจเนอเรชั่น ผู้ใหญ่รุ่นปู่ย่าตายายอาจรู้สึกไม่ชินกับภาษาที่เด็กสื่อสารในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นคำห้วนๆ หรือ คำแผลงต่างๆ ที่ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่ชอบ ในขณะที่เจเนอเรชั่นพ่อแม่จะคอยเป็นตัวประสานความเข้าใจของเจเนอเรชั่นปู่ย่าตายายกับเจเนอเรชั่นลูก

ซึ่งการโซเชียลมีเดียจริงๆ แล้วถ้าใช้ให้เกิดประโยชน์สามารถช่วยได้ในเรื่องการบริหารจัดการภายในครัวเรือน (Household Management) เช่น การไปโรงเรียนของลูก การจัดการเรื่องอาหาร การนัดพบเพื่อทำกิจกรรมของครอบครัวผ่านโซเชียลมีเดีย ฯลฯ โดยสามารถเยียวยาความเปราะบางของครอบครัวที่ต้องอยู่ห่างไกลกันได้ แต่ทดแทนการเป็นอยู่แบบได้เห็นหน้ากันได้สัมผัสกันไม่ได้ ตรงนี้เป็นจุดที่ควรระวัง หากเรารู้เท่าทันจะทำให้เราใช้สื่อสร้างสรรค์สังคมได้อย่างเป็นประโยชน์มากที่สุด”

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ภูเบศร์กล่าวทิ้งท้ายว่า หากบรรยากาศในครอบครัวในพื้นที่จริงดี บรรยากาศในโซเชียลมีเดียก็จะดีไปด้วย โดยเป็นผลที่ตามมาจากความอบอุ่นที่เกิดจากการสัมผัสในพื้นที่จริง ตรงกันข้าม หากในพื้นที่จริงความสัมพันธ์ไม่ค่อยดี จะทำให้ความสัมพันธ์ในโซเชียลมีเดียไม่ดีไปด้วย และแม้ความรักความผูกพันยังมี แต่ด้วยความห่างไกล ทำให้โอกาสในการช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างทันท่วงทีลดลงตามไปด้วยเช่นกัน

เพราะฉะนั้น “ความอบอุ่นที่แท้จริง” จึงเกิดขึ้นนอกพื้นที่เสมือน ควรจะต้องมีการใช้เวลาร่วมกันระหว่างครอบครัว (family time) ให้มากเพียงพอด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image