หอบฝันอันยิ่งใหญ่ “ชีวิตหลังม่าน” อังคณา นีละไพจิตร

อังคณา นีละไพจิตร

ล่วงเลยมา 11 ปี 10 เดือนกับการหายตัวไปอย่างลึกลับของ นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม แม้วันนี้จะยังไม่รู้ว่าทนายสมชายอยู่ที่ไหน มีลมหายใจหรือเปล่า แต่เหตุการณ์นี้ได้สร้าง “สตรีนักสิทธิมนุษยชน” แถวหน้าของประเทศคนหนึ่ง

น่าสนใจไม่น้อยจากเส้นทางพยาบาลวิชาชีพจับเข็มจับสายน้ำเกลือรักษาคน ภายหลังลาออกจากราชการมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก 5 คน จู่ๆ วันหนึ่งเสาหลักของครอบครัวหายตัวไป เธอจำเป็นต้องจับตำรากฎหมายมานับหนึ่ง เพื่อลุกขึ้นสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้สามี ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถเรียกร้องและปกป้องสิทธิให้คนอื่นได้อีกด้วย ก็เป็นแรงผลักดันให้เธอมีวันนี้ วันที่ชื่อ อังคณา นีละไพจิตร ปรากฏในรายนามกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ชุดที่ 3 (พ.ศ.2558-2564)

เป็นโอกาสพูดคุยกรรมการ กสม.ป้ายแดง ซึ่งรับผิดชอบด้านสิทธิสตรีและสิทธิพลเมือง พร้อมชีวิตหลังม่าน ในบทบาท “ผู้นำครอบครัว”

อังคณาเล่าว่า สิทธิมนุษยชนกว้างไกลกว่ากฎหมาย หลายเรื่องในหลักสิทธิมนุษยชนกฎหมายยังไม่มี ฉะนั้นการปกป้องดูแลสิทธิมนุษยชนจะต้องตีความให้กว้างกว่ากฎหมาย อย่างเรื่องสิทธิสตรี แม้วันนี้จะมีกฎหมายดีๆ เยอะ เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 กฎหมายข่มขืน แต่ในทางปฏิบัติเรามีปัญหามาก เกิดจากทัศนคติและอคติของสังคม อย่างกรณีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรง มีน้อยมากที่ไปแจ้งความ เพราะเธอต้องเผชิญกับทัศนคติและอคติที่เป็นอุปสรรคการเข้าถึงสิทธิและความยุติธรรม ส่วนคนที่พอเข้าใจอย่างพนักงานสอบสวนหญิงก็ยังมีไม่เพียงพอ และที่มีอยู่ยังต้องรับผิดชอบงานทั่วไปด้วย

Advertisement

กสม.ชุดนี้ “ให้ความสำคัญสิทธิสตรี” ไม่เพียงเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง แต่ยังมององค์รวมครอบคลุม ผู้หญิงพิการ ผู้อพยพและลี้ภัยหญิง ผู้หญิงติดเชื้อเอชไอวี ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนผู้ต้องขังหญิง อีกทั้งยัง “เอาจริง” ด้วยการแยกสิทธิสตรีออกมาตั้ง “อนุกรรมการ” ต่างหากเป็นครั้งแรก จากเดิมที่เคยรวมไปกับสิทธิเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

3

ขณะที่อังคณาก็ “หอบความฝันอันยิ่งใหญ่” ซึ่งเธอเชื่อว่า “สิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้

Advertisement

“ดิฉันฝันและอยากเห็นผู้หญิงขึ้นมากำกับนโยบาย มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเปิดเผยและได้รับการยอมรับ ผู้หญิงในสถาบันตุลาการ ที่ผ่านมาแม้เราจะมีกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี แต่กองทุนถูกนำไปใช้กับการกู้ยืมเงินและทำให้ผู้หญิงมีหนี้สินมากขึ้น ไม่ได้สร้างศักยภาพให้ผู้หญิงให้เป็นผู้นำ วันนี้เราอยากเห็นการสร้างผู้นำหญิง ก็ดูต้นแบบจากต่างประเทศที่เขามีสถาบันรวบรวมองค์ความรู้ผู้หญิงที่เป็นผู้นำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นนักการเมือง เป็นประธานาธิบดี เขารวบรวมองค์ความรู้ไว้หมด แต่ของเรายังไม่มีอะไรเลย ทั้งที่เราก็มีผู้หญิงจำนวนมาก จึงอยากเสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพจัดตั้งสถาบันนี้ให้เกิดขึ้นในไทย รวบรวมองค์ความรู้ผู้หญิงที่กระจัดกระจาย มาสร้างความมั่นใจ ให้ความรู้ ดึงศักยภาพผู้หญิงให้สามารถก้าวสู่สถานะผู้นำและได้รับการยอมรับ”

“อย่างดิฉันที่มาถึงจุดนี้ได้ เพราะรู้สึกมาตลอดว่าการแสวงหาความยุติธรรมเป็นความชอบธรรม ในเมื่อมันเป็นความชอบธรรม เราต้องอย่าท้อถอย อย่าหวั่นเกรง ประสบการณ์ 10 กว่าปีที่ผ่านมา

บอกตัวเองและสังคมว่า ผู้หญิงธรรมดาๆ แบบดิฉันถ้ามายืนตรงนี้ได้คนอื่นก็มาได้ เพราะดิฉันไม่ได้วิเศษกว่าคนอื่น ไม่เลย แค่เป็นผู้หญิง เป็นพยาบาล เป็นแม่ เป็นคนธรรมดามาก ขอเพียงให้มีความจริงใจ”

ส่วนที่มาสมัครเป็นกรรมการ กสม. อังคณายืนยันน้ำเสียงหนักแน่น “มาอย่างตั้งใจและเต็มใจ ไม่ได้มาแบบฟลุ๊กๆ”

“ดิฉันเห็น กสม.ชุด 1-2 แล้วรู้สึกว่าอยากทำงาน เพราะรู้ปัญหา เคยเป็นเหยื่อ รู้ดีว่ามันเป็นอย่างไร จึงอยากทำ เป็นความตั้งใจ ทั้งที่รู้ดีว่าต้องเจอแรงเสียดทาน รู้ดีว่าต้องมีอุปสรรค แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต มันสอนให้มีความหวัง ไม่ได้ทำให้รู้สึกเสียใจหมดกำลังใจและแอบไปซุกอยู่ที่บ้าน ต้องขอบคุณสังคมไทยที่คอยช่วยเหลือ ทุกวันนี้ขึ้นรถเมล์ก็จะมีคนมาทักทาย อันนี้คือมิตรภาพที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ เงินทองซื้อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้” อังคณาพูดทั้งรอยยิ้ม ก่อนจะเล่าถึงความสุข 2 อย่างในชีวิตคือ 1.การอ่านหนังสือ ซึ่งเธอบอกว่า “ชอบมาก วันหยุดหากไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะชอบอยู่บ้านอ่านหนังสือ” และ 2.ลูกๆ นี่คือความสุขและกำลังใจอันยิ่งใหญ่ของเธอ

แม้ชะตาชีวิตจะต้องเผชิญกับมรสุมที่โหมกระหน่ำ แต่ในความเป็น “แม่” ผู้หญิงคนนี้แข็งแกร่ง สองมือของเธออุ้มชูเลี้ยงดูลูก 5 คน ให้เติบใหญ่อย่างเข้มแข็งและเป็นคนดี

วันนี้ลูกสาว 4 คน ลูกชายคนเล็ก 1 คน จบการศึกษาในระดับเกียรตินิยมทุกคน

1

ลูกสาวคนแรกจบปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษา อยู่ศาลอาญา, ลูกสาวคนสองจบปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ, ลูกสาวคนที่คนสาม กำลังศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และทำงานเป็นนักวิจัย, ลูกสาวคนที่สี่ จบปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานอยู่ที่ศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาฯ และลูกชายคนสุดท้อง กำลังศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

อังคณาเปิดเคล็ดลับแบบไม่มีเม้มว่า “จริงๆ ก็เลี้ยงเหมือนเด็กทั่วไป เช่น ดูทีวี อ่านหนังสือ เล่น พักผ่อน เพียงแต่เน้นให้มีระเบียบวินัยและรู้จักรับผิดชอบตัวเอง เพื่อให้เขาสามารถจัดการเวลาได้ อย่างเรื่องการเรียน จะให้เขามีเวลาทำการบ้านและสอนการบ้าน นอกนั้นพยายามอำนวยความสะดวกเขา อย่างเวลาทำรายงานต้องการหนังสือหรืออะไรเพิ่มเติม ก็จะช่วยหามาให้ ดิฉันจะไม่คาดคั้นลูกว่าอ่านหนังสือหรือยัง ทำอะไรหรือยัง แต่ให้ลูกบริหารจัดการด้วยตัวเอง”

“ที่สำคัญจะให้ลูกอยู่กับความจริงตลอด ไม่เคยปกปิดเลย อย่างฐานะทางเศรษฐกิจที่ครอบครัวเราไม่ได้ร่ำรวย พ่อก็มาหายไปยิ่งสะเทือน ลูกทั้ง 5 คนก็เข้าใจและไม่เคยรบเร้าว่าอยากได้ของเล่นโน่นนี่ เว้นแต่อะไรพอเป็นไปได้ที่ดิฉันจะหาให้ได้ก็จะหาให้”

หัวอกคนเป็นแม่ยอมรับว่า “ดีใจเขามีความรับผิดชอบ ได้มีโอกาสเรียน และทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก”

6

ก่อนจะปิดท้ายพูดถึงคดีทนายสมชายว่า “ยังไม่จบ” แม้ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้อง 5 จำเลย ในคดีกักขัง หน่วงเหนี่ยว และลักทรัพย์ เนื่องจากเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอ และไม่น่าเชื่อถือ แต่ยังมีคดีฆาตกรรม ที่เป็นคดีพิเศษในการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาตั้งแต่ปี 2548

ซึ่งเธอเฝ้าอดทนรอให้มีความยุติธรรมเกิดขึ้นสักวัน!!

ขอบคุณรูปภาพบางส่วนจากเฟซบุ๊ค Angkana Neelapaijit

หนังสือพิมพ์มติชนรายวันหน้า 23

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image