‘สศช.-ยูนิเซฟ’ เผยดัชนีชี้วัด เด็กไทยมีความยากจนหลายมิติ

ความยากจน

‘สศช.-ยูนิเซฟ’ เผยดัชนีชี้วัด เด็กไทยมีความยากจนหลายมิติ

ความยากจน – แต่ละปีรัฐบาลทุ่มงบประมาณในภาพรวมเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นแสนล้านบาท ขณะเดียวกันภาคส่วนต่างๆ ก็พยายามสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาอนาคตของชาติมากมาย แต่ประเทศก็ยังประสบปัญหาเด็กขาดสารอาหาร ถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำความรุนแรง ฯลฯ

เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดทำดัชนีชี้วัดความยากจนหลายมิติของเด็ก (Child Multidimensional Poverty Index หรือ Child MPI) ซึ่งจัดแถลงข่าว ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า การวัดความยากจนหลายมิติในเด็ก เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยทำให้แน่ใจว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ทำให้เราได้ข้อมูลเจาะลึก ที่ระบุว่าใครคือกลุ่มเด็กที่เปราะบางที่สุด ข้อมูลเหล่านี้คือ จุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนานโยบาย และการกำหนดงบประมาณที่เหมาะสม

Advertisement

“ผมอยากเน้นย้ำว่าการลงทุนสำคัญที่จะทำให้ประเทศเติบโตคือ การลงทุนในเด็ก อย่างในสหรัฐพบว่าการลงทุนในเด็ก 1 เหรียญ ให้ผลตอบแทนถึง 5 เท่า ในระยะเวลา 25 ปี จึงขอเป็นกำลังใจให้ประเทศไทย” นายโธมัสกล่าว

ภายในงานมีการเปิดผลศึกษา Child MPI ซึ่งนำข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2558-2559 (MICS) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ทำการสำรวจเด็กใน 14 จังหวัดที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน มาคำนวณหาความยากจนในเด็กแรกเกิดถึง 17 ปีใน 4 มิติ ได้แก่ การศึกษา สวัสดิภาพเด็ก มาตรฐานความเป็นอยู่ และสุขภาพ และอีก 10 ตัวชี้วัด

โธมัส ดาวิน

นางสาวมนต์ทิพย์ สัมพันธวงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาฐานข้อมูลและภาวะสังคม สภาพัฒน์ กล่าวถึงผลศึกษาว่า ประเทศไทยมีเด็กประมาณ 1 ใน 5 หรือร้อยละ 22 ที่กำลังเผชิญกับความยากจนในหลายมิติ โดยเฉพาะในด้านการศึกษาถึง ร้อยละ 42 รองลงมาคือสุขภาพ ร้อยละ 30 สวัสดิภาพเด็กร้อยละ 18 และมาตรฐานความเป็นอยู่ ร้อยละ 10

Advertisement

ทั้งนี้ พบเด็กใน “เขตชนบท” มีความยากจนหลายมิติมากกว่า “เขตเมือง” โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ที่มีสัดส่วนความยากจนหลายมิติของเด็กมากสุด คือ จ.กาฬสินธุ์ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาสวัสดิภาพเด็ก ที่เด็กไม่ได้อาศัยอยู่กับผู้ปกครอง

ขณะที่ระดับความรุนแรงพบว่า ภาคเหนือมีสัดส่วนสูงสุด คือ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก เป็น 2 จังหวัดที่เผชิญกับ “ความยากจน” ในระดับ “รุนแรงที่สุด” ซึ่งมีความยากจนมาก ครอบครัวไม่มีเงิน ไม่มีทรัพย์สิน

เมื่อนำสัดส่วน “ความยากจนหลายมิติ” มารวมกับ “ความยากจนระดับรุนแรง” พบว่า จ.ปัตตานี มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด

นางสาวมนต์ทิพย์กล่าวอีกว่า เมื่อแยกตามกลุ่มอายุเด็ก พบว่าร้อยละ 42 ของเด็กอายุ 0-4 ปีเผชิญปัญหาการเรียนรู้ ที่ไม่มีหนังสือหรือหนังสือภาพให้เด็ก หรือเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ ขณะที่กลุ่มวัยรุ่น 15-17 ปี เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะมาช่วยพ่อแม่ทำงาน หรือการสมรสก่อนวัย เพราะไม่ได้รับการเรียนรู้เพศศึกษา และกลุ่มเด็ก 12-14 ปี จะพบปัญหาเรื่องสภาพความเป็นอยู่และโภชนาการ เพราะเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่

“เมื่อแยกตามเพศ พบว่าเด็กชาย มีความยากจนหลายมิติสูงกว่า เด็กหญิง โดยเฉพาะความขัดสนด้านโภชนาการ สภาพความเป็นอยู่ และการป้องกันสุขภาพ”

มนต์ทิพย์ สัมพันธวงศ์

แม้หลายๆ ตัวชี้วัดจะสะท้อนปัญหาเด็กไทยอย่างละเอียด แต่หากนำผลสำรวจ MICS มาคำนวณย้อนหลังตามสูตร Child MPI จะพบว่า “ไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น ที่ปัญหาความยากจนหลายมิติลดลงมาก”

นางสาวมนต์ทิพย์กล่าวว่า ผลสำรวจ MICS จะประกาศอีกครั้งในปี พ.ศ.2563 โดยสภาพัฒน์จะนำมาคำนวณตามสูตร Child MPI เพื่อสะท้อนปัญหาให้มีความปัจจุบันที่สุด ขณะเดียวกันสภาพัฒน์จะลงพื้นที่สำรวจเพื่อยืนยันข้อมูลนี้ ตรงตามสถานการณ์จริงมากน้อยเพียงใด

เป็นที่น่ายินดีว่า ประเทศไทยจะมีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เพื่อมาประกอบนโยบายและมาตรการแก้ปัญหาและพัฒนาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image