เช็กลิสต์ ‘วัยรุ่น’ เข้าใจผิด บุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัย

เช็กลิสต์ “วัยรุ่น”เข้าใจผิด บุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัย

“ดิฉันได้เข้าไปพูดคุยกับลูกๆ นักเรียนที่โรงเรียนอาชีวะแห่งหนึ่งถึงเหตุผลในการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เขาตอบทันทีเลยว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย เป็นเพียงแค่การสูบละอองไอน้ำเท่านั้น ขณะเดียวกันเรื่องที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือ ผู้ปกครองของนักเรียนจะดีใจมาก เมื่อลูกมาขอเงินไปซื้อน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเขามองว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าดีกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา”

เสียงบอกเล่าของ ครูอนงค์ พัวตระกูล เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ที่สะท้อนสถานการณ์ความเข้าใจผิดของวัยรุ่นไทยเกี่ยวกับ “บุหรี่ไฟฟ้า” ได้อย่างน่าสนใจ สอดคล้องกับ “ความกังวล” ของคณะแพทย์ไทยในปัจจุบัน ที่ห่วงใยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีความอยากรู้อยากลอง ทั้งยังมีความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงว่า “บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย” และเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับคนต้องการเลิกบุหรี่

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ “เลิกสูบบุหรี่”

Advertisement

จึงเป็นที่มาของการจัดงานแถลงข่าว “หยุดสูบ หยุดตาย จากบุหรี่ไฟฟ้า” โดยความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ณ ห้องเทอควอยซ์ โรงแรมเอทัส ลุมพินี กรุงเทพฯ

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า “วัยรุ่นมีความเข้าใจผิดร้ายแรงว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย” คิดว่าควัน ไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเพียงละอองน้ำหรือไอน้ำมีเพียงสารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอม ตลอดจนอ้างว่าสูบชนิดที่ “ไม่มีนิโคติน”

แต่ในความความเป็นจริง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีนิโคติน ควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กกว่า PM 2.5 ก็ยังมีสารเคมีที่เป็นอันตราย ทั้งที่เป็นสารก่อมะเร็ง ตลอดจนสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ ไดอะซิทิล อโครลิน โลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก ตะกั่ว ซึ่งอาจมาจาก “น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า” หรือ “อุปกรณ์สูบ” ที่โลหะหนักหลุดลอยจากขดลวดที่ชุบน้ำยา ขณะที่สารปรุงแต่งกลิ่นรสมีนับพันชนิด เมื่อถูกความร้อนจนเกิดเป็นไอระเหย มีการวิจัยพบว่า แม้จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าชนิดที่ไม่มีนิโคตินก็ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด และระบบไหลเวียนโลหิตได้

ซึ่งความรุนแรงของการเกิด “โรคปอด” ที่มีโอกาสสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น รุนแรงถึงขั้นคร่าชีวิตของชาวอเมริกาไปแล้ว 7 ราย

ประกิต

พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร ผู้แทนสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า ในระยะเวลา 2 เดือน ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐ พบการเจ็บป่วยด้วยโรคปอดที่มีโอกาสสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 450 ราย ซึ่งเกิดในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพียงไม่กี่ปี มีอาการเบื้องต้นคือ ไอแห้ง เจ็บแน่นหน้าอก อาจมีไข้ ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ อาเจียน บางรายเป็นรุนแรงและรวดเร็วถึงขั้นการหายใจล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แตกต่างจากโรคถุงลมโป่งพองที่เกิดจากการสูบบุหรี่ธรรมดา ที่เนื้อปอดจะเสียหายช้าๆ กว่าจะถึงขั้นหายใจล้มเหลวต้องใช้เวลานานมาก

ทุกคนจึงควรตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าและไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า

ศ.นพ.ประกิต ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึง “ความเข้าใจผิดอื่นๆ” เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อหลายคนบอกว่า “บุหรี่ไฟฟ้ามีแต่สารปรุงให้มีกลิ่นหอม” แต่ความเป็นจริงคือ กลิ่นหอมในบุหรี่ไฟฟ้าเกิดจากสารเคมีปรุงแต่ง แม้สารเหล่านี้จะปลอดภัยเวลาผสมกินเป็นอาหาร แต่ไม่ปลอดภัยเมื่อหายใจเข้าสู่ปอด โดยเฉพาะสาร Propylane glycol (PG) และ Vegetable glycerin ซึ่งเป็นสารไขมัน เมื่อเซลล์เนื้อเยื่อปอดมีไขมันคั่งมากๆ จะทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ตามปกติ

ส่วนคำพูดที่ว่า “บุหรี่ไฟฟ้าที่สูบไม่มีนิโคติน ไม่มีทางที่จะไปติดมัน” กับเรื่องนี้ ศ.นพ.ประกิตกล่าวว่า จากงานวิจัยพบว่า แม้จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีนิโคติน แต่สารเคมีอื่นๆ ยังคงเป็นพิษ เป็นอันตรายต่อปอด หัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ที่ผ่านมาแม้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าจะระบุว่าไม่มีนิโคติน แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างแท้จริงเพราะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุมโดยองค์การอาหารและยา ส่วนในกรณีที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบมีนิโคตินผสม จะทำให้สมองได้รับนิโคตินใน 10 วินาทีแรก ซึ่ง “สมองของวัยรุ่นอยู่ในระหว่างการพัฒนา ทำให้เสพติดนิโคตินโดยง่าย”

และการได้รับนิโคตินในวัยรุ่น ยังมีผลไปขัดขวางการพัฒนาของสมองและส่งผลในระยะยาวได้ เช่น อารมณ์หุนหัน และมีความผิดปกติทางอารมณ์

ที่สำคัญ “การเสพติดนิโคตินมีอำนาจการเสพติดสูงเทียบเท่ากับเฮโรอีน” เลยทีเดียว อัตราการเลิกเสพจึงยากตามไปด้วย ประกอบกับมีงานวิจัยยืนยันว่า “คนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน หากลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว เท่ากับเพิ่มโอกาสที่จะเริ่มสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 4 เท่า”

นภารัตน์

อย่างไรก็ตาม นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงผลรายงานการสำรวจโดยสถาบัน National Institute for Public Health and the Environment เนเธอร์แลนด์ ที่ระบุ “เหตุผลที่คนสูบบุหรี่ไฟฟ้า” ไว้ดังนี้ 1.ปรุงแต่งกลิ่นที่จูงใจ มีกลิ่นรสมากกว่า 200 ชนิด เช่น รสผลไม้ ขนม ลูกอม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.ออกแบบรูปลักษณ์ทันสมัย ใช้งานสะดวก 3.สามารถปรับระดับปริมาณสารนิโคตินได้ตามต้องการ และ 4.ปรับแต่งและตกแต่งอุปกรณ์ได้สวยงาม

สะท้อนว่ากลิ่นหรือรสชาติที่ปรุงแต่งในบุหรี่ไฟฟ้าคือ “เหตุผลหลัก” ในการตัดสินใจสูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่เพราะต้องการเลิกสูบบุหรี่ตามที่มีบางกลุ่มกล่าวอ้าง และอาจจะอนุมานได้ว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” นั้นสร้างมาเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากลองของวัยรุ่น ทั้งในเรื่องของกลิ่นปรุงแต่ง อุปกรณ์ที่ตกแต่งได้เพื่อความเท่ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ในยุคที่บุหรี่ไฟฟ้าสามารถหาซื้อได้โดยง่าย ผู้ปกครองควรให้ความใส่ใจศึกษาถึงโทษของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้

ชยนันท์ (2 จากขวา)

ลบล้างความเข้าใจผิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image