ออกแบบ ‘กรุงเทพฯ’ เมืองปลอดภัย #ทีมเผือก ปักหมุดซอยเปลี่ยว

#ทีมเผือก

ออกแบบ ‘กรุงเทพฯ’ เมืองปลอดภัย #ทีมเผือก ปักหมุดซอยเปลี่ยว

#ทีมเผือก – เป็นปัญหาที่หลายฝ่ายมองเป็นเรื่อง “เล็กน้อย” ทั้งที่จากสถิติมีผู้หญิงมากถึง 86 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกคุกคามทางเพศบนท้องถนน

จุดอับ ถนนเปลี่ยว ซอยตัน ถนนมืดไม่มีแสงสว่าง ป้ายรถเมล์ เป็นสถานที่ไม่ปลอดภัยกับพวกเธอ ซึ่งสถานที่แบบนี้มีอยู่อย่างกลาดเกลื่อนทั่วกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร

เป็นสถานการณ์ที่ทำให้ “ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง” เปิดตัวโครงการ “ปักหมุดจุดเผือก” ชวนประชาชนร่วมกันสร้างเมืองปลอดภัย ด้วยการออกสำรวจค้นหา “จุดเสี่ยง” ต่อการถูกคุกคามทางเพศในเมืองใหญ่ ผ่าน Chat bot #ทีมเผือก ในแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Advertisement

เรื่องใหญ่ที่ถูกมองข้าม

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงไทย ไม่ได้เกิดขึ้นบนระบบขนส่งสาธารณะเพียงอย่างเดียว หากแต่ระหว่างการเดินทางเพื่อไปยังจุดหมายต่างๆ ผ่านพื้นที่บนท้องถนนและตรอกซอกซอยในชีวิตประจำวันของผู้หญิงโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา และคนวัยทำงาน ก็เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศที่เรียกว่า สตรีท ฮาลาสเมนต์ (street harassment) มากขึ้นด้วยเช่นกัน

“จากจำนวนผู้หญิงที่ได้รับการสำรวจ มีผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศบนท้องถนน 86 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะ เป็นปัญหาที่กระทบคนจำนวนมาก แต่กลับเป็นปัญหาที่ถูกมองข้าม”

Advertisement

 

เปิดพฤติกรรมคุกคามทางเพศ

ซึ่งพฤติกรรมคุกคามทางเพศ มีตั้งแต่คุกคามทางสายตา คำพูด และการสัมผัส ซึ่งมีหลายระดับ รวมทั้งรูปแบบแปลกๆ เช่น กรีดกระโปรง สะกดรอยตาม หรือโชว์อวัยวะเพศ

“เหตุการณ์แบบนี้ คนมองเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นความซวยส่วนตัว ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและโอกาสทางสังคมของคนที่ต้องสัญจรไปมาในพื้นที่สาธารณะ ถ้าผู้หญิงต้องใช้ชีวิตแต่ละวันอยู่กับความเสี่ยง ความรู้สึกหวาดระแวง ไม่ปลอดภัย หรือแย่กว่านั้น ถ้าผู้หญิงเคยถูกคุกคามทางเพศ ก็มีแนวโน้มที่จะจำกัดตัวเอง เช่น หลีกเลี่ยงสถานที่ที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย พยายามไม่กลับบ้านค่ำ เลี่ยงไม่ออกไปทำธุระตอนกลางคืน เลี่ยงไม่เดินทางคนเดียว ทำให้เสียโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะอย่างเต็มที่ และสำหรับคนจำนวนมาก เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่เขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น คนที่ต้องออกจากบ้านไปทำมาหากินตั้งแต่เช้ามืด หรือเลิกงานดึก หรือบ้านอยู่ซอยลึก ก็ต้องทนอยู่แบบหวาดระแวง เครียด กังวล กลายเป็นว่าเขาเสียโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วย” วราภรณ์กล่าว

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท

 

217 จุดเสี่ยง กทม.

สถิติที่น่าสนใจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า กรุงเทพฯ มีจุดเสี่ยงมากถึง 217 จุด ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ขณะที่เครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจจุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ เช่น สวนสาธารณะใกล้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ริมคลองหลอด และสนามหลวงในเวลากลางคืน รวมทั้งซอยร่วมฤดี ทั้งบริเวณทางจักรยานลอยฟ้าสวนลุม และริมคลองระบายน้ำ ยิ่งตอกย้ำถึงความเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย บางแห่งเปลี่ยว บางแห่งแสงสว่างไม่มี และบางแห่งไม่มีกล้องวงจรปิด

สังเกต 8 จุดเสี่ยงพื้นที่สาธารณะ

สำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ส่วนใหญ่จะมีลักษณะ 1.เป็นซอยตัน ไม่มีเส้นทางอื่นให้เลือก 2.เป็นทางผ่านไปในจุดที่อับหรือเปลี่ยว 3.มีสิ่งบดบังสายตาซึ่งมีโอกาสเป็นจุดซุ่มซ่อนตัวของคนร้าย 4.เป็นพื้นที่ปิดคนที่สัญจรไปมาหรือชุมชนรอบข้างมองไม่เห็น 5.ไม่มีแสงไฟส่องสว่าง หรือแสงสว่างไม่เพียงพอ 6.ไม่มีป้ายบอกชื่อสถานที่หรือป้ายบอกทางทำให้คนนอกพื้นที่ไม่สามารถระบุจุดหรือตำแหน่งที่ตัวเองอยู่ได้ชัดเจน 7.อยู่ห่างไกลจากจุดบริการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ไม่มีคนเดินทางสัญจรไปมา 8.ไม่มียามรักษาความปลอดภัยในจุดที่สมควร และไม่มีแหล่งขอความช่วยเหลือที่เข้าถึงได้ง่าย

ด.ญ.ถูกลวนลามขณะกลับบ้าน

นางนงลักษณ์ เจ้า มารดาของเยาวชนรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้เสียหายที่เคยถูกคุกคาม กล่าวว่า ภัยคุกคามทางเพศเป็นเรื่องใกล้ตัว เเละเกิดขึ้นกับลูกสาวของตน โดยเมื่อปีที่ผ่านมาลูกสาววัย 12 ปี ถูกคุกคามทางเพศจากคนแปลกหน้า ขณะที่เดินจากโรงเรียนกลับบ้าน แต่ลูกสาวฮึดสู้ ป้องกันตัวเอง จนคนร้ายวิ่งหนีหายไป แม้จะตกใจเเละหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ได้ตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดีเพื่อไม่ให้คนร้ายลอยนวลและไปก่อเหตุกับใครอีก ซึ่งสุดท้ายศาลสั่งจำคุก เพราะพบว่าคนร้ายเคยก่อเหตุในลักษณะนี้มาเเล้วหลายครั้ง

นงลักษณ์ เจ้า

เมืองปลอดภัยออกแบบได้

นายยศพล บุญสม กรรมการผู้จัดการบริษัท ฉมา และฉมาโซเอ็น จำกัด กล่าวว่า การออกแบบมีส่วนช่วยได้ในการเปลี่ยนเมืองให้ปลอดภัย เพราะมีหลักวิชาที่มากกว่าทำได้แค่การจัดการ หรือติดกล้องวงจรปิดอย่างเดียว

“ตัวอย่าง ลานกีฬาพัฒน์ เคหะคลองจั่น ซึ่งในอดีตค่อนข้างเป็นที่รกร้าง มีคนเสพยา แต่พอเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีการตั้งคณะกรรมการดูแลพื้นที่ และมีกิจกรรมที่ตอบรับกับความต้องการ ก็มีประชาชนเข้ามาใช้อย่างสม่ำเสมอ และยังพบว่าการที่ชุมชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม ทำให้รายงานความเสียหายและค่าดูแลต่ำกว่าสวนสาธาณะอื่น เพราะคนในชุมชนจะใช้ด้วยความระมัดระวัง ดังนั้น เมืองปลอดภัยออกแบบได้ ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว” ยศพลย้ำ

ยศพล บุญสม

#ทีมเผือก แจ้งจุดเสี่ยง

ดร.วราภรณ์ กล่าวว่า จริงอยู่ที่หน้าที่การดูแลความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะควรต้องเป็นความรับผิดชอบหลักของหน่วยงานรัฐ แต่ในความเป็นจริงเราก็รู้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่มีกำลังและศักยภาพมากพอที่จะดูแลให้เกิดความปลอดภัยในทุกพื้นที่ได้จริง เราเลยต้องระดมความร่วมมือจากภาคประชาชนให้ช่วยกันสอดส่องดูแล ช่วยกันทำให้พื้นที่สาธารณะในละแวกบ้านหรือที่ทำงานเรามีความปลอดภัยมากขึ้น และเราหวังว่าเมื่อภาคประชาชนช่วยกันส่งเสียงและเฝ้าระวังแล้ว ภาครัฐจะให้ความสำคัญและสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้กับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น

มาร่วมกันเป็น “ทีมเผือก” ด้วยการแจ้งจุดเสี่ยงคุกคามทางเพศในที่สาธารณะ โดยวิธีการแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ “ทีมเผือก” โดยแอดเฟรนด์ผ่านคิวอาร์โค้ด หรือ @Traffyfondue ซึ่งเมื่อแอดเฟรนด์แล้ว และเข้าไปในหน้าแชทข้อความระบุจะขึ้นขั้นตอนการแจ้งปัญหา ดังนี้

1.ติดแฮชแท็ก #ทีมเผือกพร้อมทั้งพิมพ์ข้อความปัญหา 2.ส่งภาพปัญหา เมื่อระบบขอรูปภาพ 3.ส่งตำแหน่ง (Share Location) เมื่อระบบขอพิกัด 4.ระบบจะส่งข้อความแจ้งความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา

“ช่วยกันส่งข้อมูลเข้ามา โดยทางเครือข่ายจะรวบรวมสภาพปัญหาเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อนำไปแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” ดร.วราภรณ์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image