สานต่อความอร่อย ‘พ่อ’ ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ นั่งแท่น ‘เชลล์ชวนชิม’ คนใหม่

สานต่อความอร่อย ‘พ่อ’ ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ นั่งแท่น ‘เชลล์ชวนชิม’ คนใหม่

เชลล์ชวนชิม – เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่สัญลักษณ์ความอร่อย “เชลล์ชวนชิม” อยู่คู่เคียงกับสังคมไทย ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสัญลักษณ์เชลล์และก๊าซหุงต้มจนกระทั่งปรับเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์รูปชามเบญจรงค์ลายผักกาดอันคุ้นเคย ซึ่งที่มาของลายดังกล่าวก็มาจากจานชามในบ้านของ “ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์” บุคคลสำคัญที่อยู่ทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้าของเชลล์ชวนชิมที่แท้จริง

การจากไปของ ม.ร.ว.ถนัดศรี ได้สร้างความโศกเศร้าแก่ผู้คนในแวดวงอาหารเป็นอย่างมาก แต่กระนั้นสิ่งที่ท่านได้สร้างไว้ก็มีคนพร้อมที่จะสานต่อ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ลูกไม้หล่นใต้ต้น ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ หรือ อิ๊งค์ เจ้าของปลายปากกา “ปิ่นโตเถาเล็ก” ที่เดินตามรอยพ่อขึ้นแท่นเป็น

“กรรมการของเชลล์ชวนชิม” คนใหม่

โดยในงานแถลงข่าวครบรอบ 58 ปีสานต่อตำนาน “เชลล์ชวนชิม สัญลักษณ์แห่งความอร่อย เคียงคู่คนไทย” ณ อีเวนต์ ฮอลล์ ชั้น 3 โครงการ 101 ทรู ดิจิทัล พาร์ค เชลล์แห่งประเทศไทย ได้แสดงเจตนารมณ์เดินหน้าการันตีความอร่อยทั่วประเทศ ยกระดับและสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหารให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เป็นที่ยอมรับไปทั่วประเทศ

Advertisement

ทั้งนี้ ได้มอบสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิมให้แก่ ร้านอาหาร 10 ร้านแรก ที่ได้รับการการันตีความอร่อยในปีนี้ อาทิ ร้านเจ๊โอว ร้านข้าวต้มเก่าแก่ย่านบรรทัดทองที่มีเมนูเด็ดมื้อดึกชื่อดัง อย่างมาม่าหน้ากรรเชียงปูรวม, ร้านข้าวเหนียวมะม่วง ป้าเล็กป้าใหญ่ ของอร่อยหายากที่มีจำหน่ายฤดูกาลละครั้ง หรือปีละ 4 เดือนเท่านั้น และ ร้านเรือนไทยกุ้งเผา ร้านอาหารทะเลประจำ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่คิวแน่นตลอดจนต้องจองโต๊ะข้ามปี

ม.ล.ภาสันต์ เล่าว่า ชีวิตของผม ตั้งแต่เริ่มจำความได้ พ่อ (ม.ร.ว.ถนัดศรี) ก็พาออกไปชิมอาหารเลย วันหยุดเสาร์-อาทิตย์แทบไม่ได้นอนบ้านเพราะพ่อพาไปชิมทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทุกวันนี้ร้านอาหารที่เคยได้รับสัญลักษณ์หลายร้านยังคงมีอยู่ ผูกพันกันเหมือนครอบครัว เพราะร้านอาหารก็มีการสืบทอดกันจากรุ่นต่อรุ่น

Advertisement

“เวลาที่เราสองพ่อลูกไปชิมอาหารกัน เราจ่ายเงินค่าอาหารเองนะ เพราะพ่อบอกว่ายังไงก็แล้วแต่สิ่งนี้คือเครื่องมือทำมาหากินของเขา เราจะต้องอุดหนุน และเวลาที่ให้สัญลักษณ์แล้ว ให้แล้วให้เลย ถ้าวันหนึ่งไม่อร่อยเหมือนเดิมแล้ว ลูกค้าก็จะเป็นคนตัดสินเอง”

ส่วนมรดกที่ ม.ล.ภาสันต์ได้รับจากคุณพ่อ คือ “ลิ้นของนักชิม” เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหน ม.ร.ว.ถนัดศรีก็มักจะหิ้วลูกชายคนนี้ไปด้วยทุกที่ และมักจะพูดเป็นประจำว่า “พ่อหิ้วปิ่นโตเถาเล็กไปด้วย” จนกลายเป็นนามปากกาของ ม.ล.ภาสันต์ในที่สุด

“ผมยินดีมากที่จะได้สืบสานตำนานที่พ่อสร้างไว้” ม.ล.ภาสันต์กล่าวด้วยรอยยิ้มและว่า

“เกณฑ์การคัดเลือกร้านเชลล์ชวนชิมสำหรับผม สำคัญที่สุดคือ “ความอร่อย” ซึ่งคำว่าอร่อยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง เมนูต้มยำ ที่บางร้านใส่รสเปรี้ยวนำมาก ซึ่งหากจะให้อร่อยมากขึ้น ต้องมีเค็มด้วย และจะใส่ข่าในเมนูต้มยำปลาเท่านั้น ฉะนั้นประสบการณ์การชิมจากคณะกรรมการจึงสำคัญในการช่วยตัดสินความอร่อย ถัดไปคือเรื่องของ “เอกลักษณ์” ซึ่งมีอยู่หลายแบบไม่ว่าจะเป็นร้านจองคิวนาน ร้านอาหารพื้นบ้าน ร้านอาหารไทยแท้ ร้านอาหารชาววัง รวมไปถึงคาแร็กเตอร์ของเจ้าของร้าน หรือบรรยากาศโดยรวม เช่น เดินเข้าไปถามว่า มีอะไรกินบ้าง เจ้าของร้านตอบห้วนๆ ว่า เปิดดูเมนูเอง จุดนี้ก็เป็นหนึ่งเอกลักษณ์ (ขำ) ขณะเดียวกันบางร้านก็ตั้งอยู่ข้างถังขยะก็มี และสุดท้ายคือ “คุ้มค่าแก่การไปชิม” นั่นคือไปกินแล้วต้องไม่ผิดหวัง”

สำหรับปณิธานการมอบสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิม เชลล์ชวนชิมคนใหม่ย้ำว่า “ซื้อไม่ได้แน่นอน” เพราะพ่อสอนมาตลอดว่าเรากินเราต้องจ่ายเอง ถ้าไม่อร่อยก็ต้องแนะนำเขาด้วย และบอกทางร้านให้ลองไปแก้ไขมา บางร้านปรับปรุง 2-3 ครั้ง จนในที่สุดถึงจะได้รับเชลล์ชวนชิมก็มี

ขอบคุุณรูปภาพจาก IG : ink_aroi

ทั้งนี้ เชลล์ชวนชิม ยังได้ปรับรูปแบบใหม่ ให้มีภาพลักษณ์และรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่มักจะหาข้อมูลความอร่อยผ่านโลกออนไลน์เพื่อตามรอยไปชิมตามได้ในช่วงพักผ่อนหรือระหว่างเดินทาง

โดยบรรจุข้อมูลร้านเชลล์ชวนชิมทั่วประเทศ ทั้งร้านเก่าแก่ ตลอดจนร้านอาหารสายเลือดใหม่ที่การันตีโดยเชลล์ชวนชิมไว้ในเว็บไซต์ www.shellshuanshim.com รวมทั้งเฟซบุ๊กและยูทูบ “เชลล์ชวนชิม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image