เช็กอัพ ‘มะเร็งเต้านม’ ลดความเสี่ยง-เพิ่มอัตรารอด

เช็กอัพ ‘มะเร็งเต้านม’ ลดความเสี่ยง-เพิ่มอัตรารอด

มะเร็งเต้านม – ตุลาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำหนดให้เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านมสากล บ่งชี้ให้เห็นว่าโรคร้ายนี้ยังคงเป็นภัยคุกคามชีวิตผู้หญิงในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยซึ่งปัจจุบันพบผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 14,804 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 41 คน และมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึงวันละ 10 คน และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ถือเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มผู้หญิงไทยขณะนี้

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และกรรมการมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมประจำปีเป็นวิธีการป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด เพราะการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะช่วยเพิ่มโอกาสรักษาโรคให้หายขาดได้มากขึ้น โดยจากสถิติของทางสถาบันพบว่าการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะที่ 1-2 จะมีอัตราการอยู่รอดที่ 5 ปี สูงถึง 85-99% แต่หากตรวจพบในระยะที่ 3 อัตราการอยู่รอดจะลดลงอยู่ที่ 40-60% และจะยิ่งลดลงไปเหลือเพียง 18-20% หากตรวจพบในระยะที่ 4 โดยผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ทุกช่วงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ทุกคน ดังนั้น ทุกคนจึงควรเอาใจใส่ตรวจเช็กสุขภาพ ศึกษาหาความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บใกล้ตัว ร่วมกับการดูแลสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับตุลาคมปีนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติร่วมกับมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติและโครงการวาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม ของบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคลินิกตรวจสุขภาพพิเศษ จัดกิจกรรม “ตุลาคม…เดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม โดยทางโครงการสนับสนุนงบรวม 1 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ฟรีแก่ประชาชนที่มารับบริการตรวจสุขภาพ ในโปรแกรม Check up Gold ณ คลินิกตรวจสุขภาพพิเศษ จำนวน 460 คน ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม ลาน OPD ชั้น 1 อาคารดำรงนิราดูร ตลอดเดือนตุลาคมนี้

ทั้งนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติยังได้เปิดตัวรถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ระบบดิจิทัลและอัลตราซาวด์ คันที่ 2 มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ซึ่งใช้ระบบอัลตราซาวด์เต้านมอัตโนมัติที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน และยังติดตั้งระบบไฮดรอลิก อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการขึ้นลงรถลำบาก พร้อมทั้งนำแอพพลิเคชั่นระบบนัดคิวมาใช้เพื่อช่วยแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อถึงคิวนัดหมาย เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงบริการมากขึ้น หลังจากที่รถคันแรกใช้งานมานานถึง 11 ปีจนเกิดปัญหาต้องซ่อมแซมอยู่บ่อยครั้ง

Advertisement


นพ.วีรวุฒิทิ้งท้ายว่า แม้การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเพื่อหาความผิดปกติยังเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง แต่ก็อาจเกิดปัญหาเรื่องความแม่นยำได้เช่นกัน จึงแนะนำให้ผู้หญิงตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมต่อเนื่องทุกปี ปีละ 1 ครั้งสำหรับผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป และอยากให้การรณรงค์ต้านภัยโรคร้ายนี้กลายเป็นกระแสต่อเนื่องช่วยให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ เข้าใจ ให้ความสำคัญ และนำไปปฏิบัติปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง

เพื่อให้ผู้หญิงไทยห่างไกลจากโรคมะเร็งเต้านมในที่สุด

นพ.วีรวุฒิ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image