ขอพูดแทน ‘น้องหมา-แมว’ มาตรฐานจริยธรรมสถานพยาบาล

ส่วนหนึ่งของเพื่อนร่วมโลกที่จากไป

ขอพูดแทน ‘น้องหมา-แมว’ มาตรฐานจริยธรรมสถานพยาบาล

สัตว์เลี้ยง – ปัจจุบันคนนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เหงา และเกิดความผูกพันจนสัตว์เลี้ยงเป็นเสมือนหนึ่งในสมาชิกครอบครัว ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และสถานพยาบาลสัตว์มีมากขึ้น

การสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของสถานพยาบาลสัตว์และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของเจ้าของสัตว์ จึงเป็นประเด็นที่กำลังได้รับการพูดคุยในสังคมขณะนี้

เนื่องจาก ยามสัตว์เลี้ยงป่วย สัตว์พูดไม่ได้ มูลนิธิเพื่อนร่วมโลกจึงจัดกิจกรรม The Sound of Silence เพื่อให้เจ้าของและคนรักสัตว์เลี้ยงทั้งหลายลุกขึ้นมา “พูดแทนสัตว์เลี้ยง” ที่พูดไม่ได้ โดยมีเสวนาเชิงวิชาการหัวข้อ “การสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของสถานพยาบาลสัตว์ และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของเจ้าของสัตว์เลี้ยง” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ส่วนหนึ่งของเพื่อนที่มารำลึกถึงเพื่อน

ผศ.นสพ.กัมปนาท สุนทรวิภาต คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บางครั้งสัตวแพทย์จะเป็นคนส่งสารเสียส่วนใหญ่ หมายถึงมักจะเป็นคนแนะนำและคิดว่าเจ้าของจะเข้าใจอย่างที่อยากให้เข้าใจ ด้วยความที่เป็นสัตวแพทย์บางครั้งอาจจะสื่อสารได้ไม่ดีพอ และบางครั้งเจ้าของเลือกที่จะฟังมากกว่าที่จะถามสัตวแพทย์ ที่จริงสัตวแพทย์อยากฟังเจ้าของมากกว่า ว่าเจ้าของอยากรู้และอยากได้อะไร ซึ่งในปัจจุบันพบว่า อินเตอร์เน็ตช่วยสัตวแพทย์ได้ค่อนข้างมาก เจ้าของจะเสิร์ชเข้าไปดูว่ามีข้อมูลความรู้อะไรบ้าง แล้วจึงมานั่งคุยกับสัตวแพทย์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่บางครั้ง ด้วยความเชื่อใจสัตวแพทย์ ด้วยความที่เป็นสัตวแพทย์ บางครั้งข้อมูลหลายอย่างถูกบิดเบือนไปและมีความเข้าใจไม่ตรงกัน บางครั้งจึงอยากให้เจ้าของ ถามสัตวแพทย์บ้างว่ามีตรงไหนไม่เข้าใจ

Advertisement

ผศ.พรรณศักดิ์ สุขี ผู้อำนวยการศิลป์ คณะละคร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระบุว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องใฝ่รู้ ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ เจ้าของต้องเลิกทัศนคติที่คิดว่าสิทธิขาดในการรักษาเป็นของสัตวแพทย์ เจ้าของต้องร่วมรับรู้และร่วมตัดสินใจ และต้องถามซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ผศ.นสพ.กัมปนาทระบุว่า การหาความรู้ทางอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็อันตราย เพราะเป็นทั้งข้อมูลที่ถูกและผิด แนะนำให้หาข้อมูล หลังจากได้รับการวินิจฉัยที่เป็นไฟนอลแล้ว เพื่อหาทางเลือกโดยหาข้อมูลเพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัยที่เชื่อถือได้

ผศ.พรรณศักดิ์ สุขี
รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร

ฟาก รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านพัฒนาวิทยาเขตและการสัตวแพทย์ เผยว่า สิ่งที่จะช่วยทำให้กำกับดูแล หรือช่วยดูแลมาตรฐานให้เป็นกลางได้ คือ สัตวแพทยสภาคุ้มครองผู้บริโภคไม่ใช่หมอ เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นก็สามารถร้องเรียนหาข้อเท็จจริงจากสภาได้

Advertisement

สุดท้าย ดร.นิธินาถ สินธุเดชะ เตลาน กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ก็คือ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานประกอบการ สัตวแพทย์ เจ้าของสัตว์เลี้ยง ด้วยสิทธิและหน้าที่ทั้งหมดตรงนี้ ทุกคนมีส่วนร่วมกัน เชื่อว่าสังคมก็จะนำไปสู่ความสร้างสรรค์

ในท้ายที่สุดไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าคุณภาพชีวิตและคุณภาพของการรักษาพยาบาลของสิ่งมีชีวิต

หนูนา – กัญจนา ศิลปอาชา ให้เกียรติมาร่วมงาน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image