สรรหามาเล่า…นักศึกษาสาวญี่ปุ่นได้คะแนนเต็มวิชานินจา เขียนเรียงความด้วย ‘หมึกล่องหน’

หมึกล่องหน

สรรหามาเล่า…นักศึกษาสาวญี่ปุ่นได้คะแนนเต็มวิชานินจา เขียนเรียงความด้วย ‘หมึกล่องหน’

หมึกล่องหน – ใครอาจจะชอบ “นินทา” แต่ เอมิ ฮากะ นักศึกสาวญี่ปุ่นวัย 19 ชอบ “นินจา” มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หลังจากเคยดูละครทีวีเกี่ยวกับ นินจา สายลับ นักรบในยุคกลางของญี่ปุ่นที่สวมชุดดำ ปิดบังใบหน้าเพื่ออำพรางตัวเวลาออกทำงาน แล้วติดใจ กระทั่งเมื่อมีโอกาสเข้าเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยมิเอะ ฮากะก็สนใจลงเรียนวิชาประวัติศาสตร์นินจา แล้วเธอก็ได้ “คะแนนเต็ม” จากผลงานเขียนเรียงความด้วยหมึกล่องหน

ฮากะให้สัมภาษณ์บีบีซีว่า เธอใช้วิธีเดียวกับที่นินจาใช้ วิธีที่เรียกว่า อะบูริดาชิ (aburidashi) โดยนำเมล็ดถั่วเหลืองมาแช่น้ำทิ้งไว้ทั้งคืน พอเช้าจึงนำถั่วเหลืองมาบด และบีบในผ้า เพื่อนำน้ำมาใช้เป็นน้ำหมึก นำไปเขียนเรียงความ โดยตัวหนังสือ ข้อความบนกระดาษจะปรากฎให้เห็นก็ต่อเมื่อนำกระดาษไปลนไฟ
“นี่เป็นวิธีที่ฉันเรียนรู้มาจากหนังสือที่ฉันเคยอ่านตั้งแต่ยังเด็ก และฉันก็ยังแอบหวังว่าคงไม่มีใครนึกถึงวิธีนี้กัน” ฮากะเล่า

นักศึกษาวัยใสเล่าว่าถึงที่มาของผลงานชิ้นโบแดงที่สร้างทั้งความประหลาดใจ ประทับใจแก่ ยูจิ ยามาดะ อาจารย์ผู้สอนมากว่า อาจารย์ยูจิมอบการบ้านให้นักศึกษาในชั้นเรียนประวัติศาสตร์นินจา เขียนเรียงความเกี่ยวกับการที่มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นินจาอิงะ จังหวัดมิเอะ “เมื่ออาจารย์พูดในชั้นเรียนว่าจะให้คะแนนสูงสุดแก่การมีความคิดสร้างสรรค์ ฉันก็ตัดสินใจได้ทันทีว่าจะต้องหาทางทำให้เรียงความของฉันโดดเด่น แตกต่างจากคนอื่น เมื่อนั่งคิดสักพัก ฉันก็คิดถึง อะบูริดาชิ ขึ้นมาได้”

Advertisement

อากะเล่าว่า หลังจากนำเมล็ดถั่วเหลืองไปแช่น้ำทิ้งไว้ค้างคืน จากนั้นจึงนำถั่วเหลืองมาบด และนำมาใส่ลงในเศษผ้าเพื่อบีบเอาแต่น้ำถั่วเหลืองออกมา แล้วนำน้ำถั่วเหลืองที่ได้ไปผสมกับน้ำ จากนั้นก็ใช้พู่กันจุ่มน้ำหมึกที่ทำขึ้นมา นั่งเขียนเรียงความลงบนกระดาษวาชิ โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งทันทีที่ตัวหนังสือแห้ง มันก็จะมองไม่เห็น เหมือนเป็นกระดาษที่ว่างเปล่า อากะจึงต้องเขียนหนังสือด้วยหมึกธรรมดาลงบนแผ่นกระดาษอีกแผ่นว่า “นำกระดาษไปลนไฟ” เพราะเธอกลัวว่า อาจารย์ยามาดะอาจนำเรียงความของเธอไปทิ้งขยะ เพราะคิดว่า เธอส่งกระดาษเปล่า

อาจารย์ยามาดะบอกกับบีบีซีว่า เขารู้สึกประหลาดใจทันทีเมื่อเห็นเรียงความของเอมิ ฮากะ

“ผมเคยเห็นเรียงความที่เขียนเป็นรหัส แต่ยังไม่เคยเห็นเรียงความที่เขียนแบบอะบูริดาชิ บอกตามตรงว่า ตอนแรกผมก็นึกสงสัยเหมือนกันว่าตัวหนังสือจะเห็นชัดไหม แต่เมื่อผมนำกระดาษไปลนไฟบนเตาแก๊สที่บ้าน ตัวหนังสือปรากฏออกมาให้เห็นชัดเจนมาก ผมยังคิดว่าทำได้เยี่ยมมาก และผมก็ไม่ลังเลที่จะให้คะแนนเต็มแก่เรียงความนี้ ถึงแม้ผมจะอ่านยังไม่จบ เพราะผมคิดว่า ผมควรจะเก็บข้อความที่เหลือไว้ อย่าเพิ่งนำไปลนไฟทั้งหมด เผื่อว่าอาจมีสื่อสนใจและอยากจะถ่ายรูปเป็นหลักฐาน”

Advertisement

สำหรับฮากะบอกว่าในการเขียนเรียงความนี้ เธอให้ความสำคัญต่อรูปแบบ มากกว่า เนื้อหา

“ฉันมั่นใจว่าอย่างน้อยอาจารย์ก็ต้องรับรู้ถึงความพยายามของฉันในการสร้างสรรค์เรียงความชิ้นนี้ ดังนั้นฉันจึงไม่ได้สนใจเลยว่าจะได้คะแนนน้อยมั้ย เพราะเนื้อหาเรียงความของฉันไม่ได้มีอะไรพิเศษ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image