“มหาวิทยาลัยเด็กแห่งชาติ” กระตุ้นความรัก “วิทยาศาสตร์”

เอ่ยถึงวิทยาศาสตร์ หลายคนอาจนึกถึงเรื่องอะไรหนักๆ อย่างตารางธาตุ ไฟฟ้า หรือการคิดค้นหลักพันธุกรรมต่างๆ ที่เด็กไทยหลายคนต่างต้องเคยท่องจำในห้องเรียนมา จนทำเอาหลายคนมองว่าเป็นเรื่องยาก และผลักให้เรื่องวิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องไกลตัวของเด็กไทยไปโดยปริยาย แต่ที่จริงแล้วโลกของวิทยาศาสตร์ยังมีมุมสนุกสนาน ที่อาจสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กหลายๆ คน ได้เติบโตมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ที่ดีในอนาคตได้

ยิ่งได้เห็นว่าผู้ใหญ่และเหล่ารุ่นพี่คนไทยทำอะไรได้จากองค์ความรู้วิทยาศาสตร์แล้ว ยิ่งก่อให้เกิดแรงบันดาลใจได้ไม่ยาก

โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย 3 (1)

จึงเกิดเป็นโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทยขึ้น นำเอาเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย และมัธยมศึกษาตอนต้น มาร่วมเปิดโลกวิทยาศาสตร์กับเหล่ารุ่นพี่มหาวิทยาลัย โดยครั้งนี้ได้บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้การสนับสนุนโครงการ ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และมหาวิทยาลัยต่างๆ อีก 8 แห่ง ในโครงการ มหาวิทยาลัยเด็กแห่งประเทศไทย ประจำปี 2559 ภายใต้แนวคิด “สนุกวิทย์ ปลูกแนวคิดวิทยาศาสตร์สู่เยาวชน” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กรุ่นใหม่

Advertisement

คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ กรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เผยว่า นับได้ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำริว่า “วิทยาศาสตร์นั้นมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ”

“การจะทำให้เด็กเข้าใจได้นั้นต้องทำให้วิทยาศาสตร์เข้าไปเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเด็ก สอนให้เด็กเห็นความเป็นเหตุเป็นผล ไม่งมงาย ซึ่งจะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ได้ทอดพระเนตรมหาวิทยาลัยเด็ก ซึ่งเริ่มต้นที่ประเทศเยอรมนีและได้ประยุกต์ไปหลากหลายแห่ง มหาวิทยาลัยเด็กนำเอานักศึกษาปริญญาโท-เอก มาสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ นี่เองเป็นข้อดี จึงได้ทรงนำเอาความคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับคนไทย และเสด็จฯเปิดโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555 ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช.” คุณหญิงสุมณฑากล่าว

ดร. ดวงสมร คล่องสารา
ดร. ดวงสมร คล่องสารา

ด้านดวงสมร คล่องสารา ประธานคณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ได้ขยายความต่อเกี่ยวกับโครงการนี้ไว้ว่า มหาวิทยาลัยเด็กนั้นจัดทำรูปแบบให้แตกต่างจากค่ายวิทยาศาสตร์อื่นๆ คือเราเน้นให้เด็กได้ลงมือทำเองผ่านกิจกรรมต่างๆ เสมือนได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ให้เด็กได้คิดหาคำตอบ ซึ่งหลังจากรับเอาแนวคิดเข้ามาแล้วเราได้ปรับให้เป็นแบบของไทยเอง ผุดให้เด็กเป็นนักคิด นักวิจัย ให้เขาอยากเข้าเรียนทางด้านนี้ ซึ่งเรื่องนักวิจัยนี้เองเป็นเรื่องสำคัญเพราะไทยเองว่าไปแล้วขาดแคลนนักวิจัยมากที่สุด มีเพียง 7 ใน 1 หมื่น ขณะที่ประเทศอื่นมี 10 กว่าคนต่อ 1 หมื่นคน เพราะไม่ถูกปลูกฝังว่าวิทยาศาสตร์มันดี จบไปไม่มีงานทำ รัฐบาลไม่สนับสนุน สุดท้ายประเทศก็ไม่พัฒนาอะไร

Advertisement

“ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ร่วมโครงการนี้ได้เริ่มกิจกรรมกันไปแล้ว ให้เด็กวัยประถมและมัธยมต้นซึ่งรู้เรื่องและปลูกฝังได้ง่าย ร่วมทำกิจกรรม โดยมีอัตราส่วนเด็กและผู้ใหญ่ไม่มากเพื่อให้เด็กทุกคนได้ถาม ได้รู้ข้อมูลจริงๆ ได้ลงมือทำจริง โดยมีพี่เลี้ยงกระตุ้นตลอดเวลา กิจกรรมต่างๆ ก็ได้คิดค้นมาให้เด็กได้เรียนรู้ครบทั้งธรรมชาติ คณิตศาสตร์ การประดิษฐ์ ฟิสิกส์ และเคมีต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่ในความรู้เชิงวิทยาศาสตร์แบบใกล้ตัวเขา จุดมุ่งหมายคืออยากให้เด็กคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์และนำไปใช้ในชีวิตของเขา เขาจะไม่เชื่อ ไม่งมงายอะไรง่ายๆ และจะกลับไปบอกกับผู้ปกครองถึงแนวความคิดนี้เองได้”

สำหรับฐานต่างๆ ที่จัดมาให้เรียนรู้ในครั้งนี้ เช่น เด็กได้เรียนรู้กับพลังงานไฟฟ้าจากน้ำหมักชีวภาพ ส่งต่อประจุไฟฟ้าจากผลไม้ หรือน้ำอัดลม, ฐานน้ำตกแสงเลเซอร์ ที่เรียนรู้การสะท้อนกลับของน้ำจากการยิงแสงเลเซอร์, สวนเคมีหลากสี ที่เด็กจะได้เทสารละลายโลหะลงบนขวดกับตัวทำละลายเป็นสีต่างๆ เช่นกิ่งไม้ นอกจากจะให้ความสวยงามแล้วเด็กยังได้รู้ว่าสารตัวไหนเป็นเช่นไร และยังได้สัมผัสกับนวัตกรรมใหม่อย่างกล้องจุลทรรศน์พกพา ที่มีขนาดเล็กใช้หนีบติดกับเลนส์สมาร์ทโฟน ได้ภาพความละเอียดเทียบเท่ากล้องจุลทรรศน์ขนาดใหญ่

IMG_2365

IMG_2359

ด.ช.ณัฐพล เมธเศรษฐ วัย 13 ปี นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เผยว่า เคยไปค่ายวิทยาศาสตร์มาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ค่อยมีที่ไหนที่มีกิจกรรมเยอะเช่นนี้ ได้ลองไปเข้าฐานน้ำหมักชีวภาพ ฐานแผ่นดินไหว และการแยกชั้นสารต่างๆ ก็รู้สึกได้ความรู้เพิ่มเติมจากในห้องเรียน ที่ปกติแม้มีทดลองแต่ก็ไม่ใช่บรรยากาศเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องดีที่ได้มาเติมความรู้ด้านที่ชอบมากขึ้น

ด้าน รศ.สรัญญา วัชโรทัย อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่นำเอาความรู้เรื่องการคายน้ำของพืชมาแนะนำกับเด็กๆ เผยว่า กับความรู้ที่ได้จัดมาให้เด็กๆ ในครั้งนี้พยายามจะสอดแทรกข้อมูล กระตุ้นให้เด็กคิดแบบวิทยาศาสตร์ตลอด เช่น ทำไมสีของพืชถึงต่างกัน เพื่อให้เขาได้เอากระบวนความคิดนี้ไปใช้ได้ในอนาคต เนื่องจากกระบวนการคิดแบบนี้จะส่งผลให้เด็กคิดค้นอะไรได้ในอนาคต รู้ว่าสิ่งไหนเป็นเหตุ และผลคืออะไร นอกจากนี้ในเรื่องของชีวิตประจำวันหากเขารู้ว่าอะไรดีไม่ดี เขาก็จะมีความยับยั้งชั่งใจเวลากระทำไม่ดีอีกด้วย นี่เป็นสิ่งที่แฝงไว้ในความคิดแบบวิทยาศาสตร์

กระตุ้นคิด วิเคราะห์ แยกแยะ

IMG_2351

IMG_2428

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image