แกนนำเยาวชน พัฒนาสังคม เชิงบวก

แกนนำเยาวชน พัฒนาสังคม เชิงบวก

มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ดำเนินพันธกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก ครอบครัว และชุมชนที่ยากไร้ในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 45 ปี จัดงาน “เวทีเยาวชนศุภนิมิตแห่งชาติ ประจำปี 2562-พลังสร้างสรรค์ พลังเยาวชนเชิงบวก” ณ ห้องประชุมใหญ่ ศูนย์ฝึกอบรมมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ

เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ จัดแสดงนิทรรศการผลการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาต้นทุนชีวิตเยาวชนเชิงบวก” (Positive Youth Development Plus : PYD+) โครงการเสริมศักยภาพ แกนนำเยาวชนทั่วประเทศ 44 คน ในการเขียนโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชนที่อาศัยอยู่ จนเกิดเป็นกิจกรรมพัฒนาชุมชน “โครงการที่มีเยาวชนเป็นผู้ริเริ่ม” ทั่วประเทศ ทั้งหมด 42 โครงการ ครอบคลุมทั้งในเรื่องการยุติความรุนแรงต่อเด็ก, ปัญหายาเสพติด, คุณแม่วัยใส ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเสริมสร้างพัฒนาทักษะชีวิต

เต้ย-ณัฐพล อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 แกนนำเยาวชนจากพื้นที่อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช เจ้าของโครงการ “รณรงค์ป้องกันไฟป่าและลดปัญหาหมอกควัน” เยาวชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ส่งผลให้เกิดผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ ชาวบ้านเป็นโรคทางเดินหายใจ เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนและที่ทำกิน เขาจึงตั้งใจริเริ่มโครงการโดยมีเป้าประสงค์คือการสร้างเครือข่ายในการระวังและป้องกันไฟป่า โดยจัดให้มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุและการป้องกันไฟป่าให้กับเยาวชนและชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

“ผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมโครงการดีมาก ทุกคนบอกว่าดีใจที่ในที่สุดก็มีคนตั้งใจลงมือแก้ปัญหา เพราะที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานเข้ามาให้ความรู้เลย ส่วนตัวผมเองมองว่าอย่างน้อยทุกคนก็มีวิธีป้องกันตัวเองจากหมอกควัน ประกอบกับสมัยนี้พลังเยาวชนยิ่งใหญ่มาก สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับประเทศได้ และหากเยาวชนมีภูมิคุ้มกันที่ดี ได้เริ่มต้นทำเพื่อสังคม ในอนาคตเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็สามารถที่จะช่วยพัฒนาสังคมได้อย่างแน่นอน”

Advertisement
เต้ย-ณัฐพล
เต้ย-ณัฐพล

เดียว-ทิชานนท์ อายุ 18 ปี นักเรียนชั้น ม.6 จาก จ.พังงา แกนนำเยาวชนเจ้าของโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “รวมพลังเยาวชนรักราชินีแห่งสายน้ำพลับพลึงธารแห่งเดียวในโลก” เผยว่าเพราะ “พลับพลึงธาร” พืชน้ำที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และความสะอาดของแม่น้ำ ขณะเดียวกันยังมีกลิ่นหอม ได้รับความนิยมนำไปสกัดเป็นหัวน้ำหอม ทำให้มีคนลักลอบมาขุดไปขายจนกระทั่งใกล้ที่จะสูญพันธุ์ เขาจึงตั้งใจที่จะริเริ่มโครงการอนุรักษ์พืชชนิดนี้ไว้ โดยเชิญชวนให้เยาวชนเข้าร่วมโครงการ ก่อนขยายผลออกไปสู่ชุมชนตั้งแต่กรรมวิธีการเพาะพันธุ์ กระทั่งลงมือปลูก

“ความตั้งใจของผมคืออยากให้พลับพลึงธารเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ เพราะเมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้น คนช่วยกันรักษาก็จะมากขึ้นด้วย การได้เป็นตัวแทนหรือแกนนำเยาวชนในการอนุรักษ์สิ่งที่เราเห็นตั้งแต่เด็ก รู้สึกภูมิใจมากๆ ผมคิดตลอดว่าดีกว่าที่เราจะมองดูเฉยๆ แล้วปล่อยให้มันหายไป หากอยากอนุรักษ์ต้องลงมือทำ” ทิชานนท์กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

Advertisement

ท็อป-วรวุฒิ อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.6 จาก 3 พื้นที่ตะเข็บชายแดนจังหวัดพะเยา และเชียงราย เจ้าของโครงการ “ค่ายพัฒนาทักษะชีวิตเยาวชน” สะท้อนปัญหาของเยาวชนในเขตชายแดนว่า ปัญหายาเสพติด นับเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เพราะมีทั้งผู้เสพและขายในพื้นที่ เยาวชนในชุมชนกว่า 90% มีความเสี่ยงที่เรียนไม่จบ และท้องก่อนวัยเรียน เขาจึงมีแนวคิดในการทำโครงการป้องกันปัญหาเหล่านี้ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันผ่านกระบวนการเรียนรู้ เสริมทักษะชีวิต ทั้งเรื่องของการป้องกันการตั้งครรภ์ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัยเจริญพันธุ์ เพื่อเป็นองค์ความรู้ในการตัดสินใจดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างถูกต้อง

“โครงการของผมอาจจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ 100 เปอร์เซ็น แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ดีขึ้นได้ และภูมิใจมากที่ได้ลงมือทำ ตั้งใจไว้ว่าจะส่งต่อโครงการนี้จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อคุณภาพสังคมที่ดีขึ้น” วรวุฒิกล่าว

ปิดท้ายด้วยโครงการ “อบรมเรื่องพิษภัยยาเสพติดและสื่อออนไลน์” โดย ดรีม-วณิชชา อายุ 15 ปี นักเรียนชั้น ม.4 แกนนำเยาวชนจากพื้นที่ อ.มะขาม จ.จันทบุรี ที่เล่าว่า อ.มะขาม เป็นพื้นที่ที่มีเยาวชนจำนวนมาก และในปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้โดยง่าย ซึ่งบางส่วนได้ใช้สื่อออนไลน์ในทางที่ไม่ควร อาทิ โพสต์ข้อความด่าทอ กลั่นแกล้งเพื่อนบ้าง จนกระทั่งมีกรณีเพื่อนนักเรียนทะเลาะกันแล้วด่าทอกันผ่านโลกออนไลน์ จนฝ่ายหนึ่งเกิดความเครียดและคิดจะฆ่าตัวตาย ตนจึงมองว่าหากปล่อยให้เยาวชนใช้งานสื่อออนไลน์ในทางที่ผิดจะเป็นต้นเหตุนำไปสู่สิ่งที่อันตรายมากยิ่งขึ้น

“โครงการของหนูจัดให้เยาวชนที่อายุ 13-18 ปีทั้งหมด 185 คนมาร่วมอบรม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์ที่ถูกต้อง เพราะปัญหาที่เกิดเกิดจากเยาวชนเพราะฉะนั้นพลังของเยาวชนจึงสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้เกิดขึ้นจริง แม้จะช่วยกันคนละเล็กละน้อย แต่ก็ขับเคลื่อนไปด้วยกันได้” วณิชชากล่าวทิ้งท้าย

เยาวชนพลังบวก

ท็อป-วรวุฒิ
ท็อป-วรวุฒิ
เดียว-ทิชานนท์
เดียว-ทิชานนท์
ดรีม-วณิชชา
ดรีม-วณิชชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image