พฤติกรรม ‘แยกขยะ’ สร้างได้ หาก ‘ไม่ยุ่ง’ และ ‘ไม่ยาก’

พฤติกรรม ‘แยกขยะ’ สร้างได้ หาก ‘ไม่ยุ่ง’ และ ‘ไม่ยาก’

แยกขยะ – เพื่อแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทาง ล่าสุด กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลการทดลองในการสร้างพฤติกรรมการแยกขยะของคนไทย ที่ได้ดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม

พบ 2 เงื่อนไขสำคัญที่ “ช่วยส่งเสริม” ให้คนไทยแยกขยะได้สำเร็จคือ การขจัดความ “ยุ่ง” (ขี้เกียจแยก) และความ “ยาก” (ต้องคิดเยอะไป) พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขด้วยการออกแบบถังขยะให้สอดคล้องกับกระบวนการคิดของคน เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการลดปริมาณขยะและนำวัสดุที่รีไซเคิลได้ เช่น บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม กลับมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ปัจจัยที่ทำให้การรณรงค์เพื่อการแยกขยะที่ต้นทางไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนั้น มีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ ความ “ยุ่ง” คือคนไม่ต้องการทำอะไรที่สร้างความลำบากให้ตัวเอง และความ “ยาก” จากความซับซ้อนและเข้าใจยากของถังขยะที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงส่งผลให้คนไม่แยกขยะ

“การแก้ปัญหา “ยุ่ง” หรือความขี้เกียจในการแยกขยะนั้นสำคัญกว่าการแก้ปัญหา “ยาก” หรือความไม่เข้าใจ เราจึงควรกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของการแยกขยะมากขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนความขี้เกียจให้มาเป็นนิสัย โดยอาศัยกลไกทางสังคม ทำให้เห็นว่าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันแยกขยะโดยเฉพาะคนในชุมชนเดียวกัน อันจะเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยสร้างพฤติกรรมการแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

Advertisement
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์

การทดลองทฤษฎีการสะกิดครั้งนี้ดำเนินการครอบคลุมคอนโดมิเนียม 3 โครงการที่ T77 Community ได้แก่ THE BASE Park West, hasu HAUS และ mori HAUS รวม 246 ห้องชุด เป็นระยะเวลา 4 เดือน (พฤษภาคม-สิงหาคม 2562)

สำหรับข้อเสนอแนะต่อการแยกขยะที่ได้จากผลการทดลองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมนี้ ประกอบไปด้วย การจัดหาถังขยะให้สอดคล้องกับประเภทขยะ การออกแบบถังขยะให้สอดคล้องกับระบบความคิดของคน รวมถึงการสื่อสารโดยใช้รูปภาพอธิบายที่ไม่ซับซ้อน และมีข้อความสั้นๆ กำกับ ร่วมกับการแจกโบรชัวร์ให้ความรู้ในการแยกขยะด้วยการสอดไว้ตามห้อง หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ขยะ” โดยอาจใช้คำว่า เศษอาหาร หรือรีไซเคิลแทน เป็นต้น

นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ทิ้งท้ายว่า การทดลองนี้แม้จะเป็นเพียงการทดลองเล็กๆ เมื่อเทียบกับบริบทของประเทศไทย แต่ก็ช่วยแสดงให้เห็นว่ายังมีคนอีกไม่น้อยที่อยากและพร้อมจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาด้วยการแยกขยะที่ต้นทาง ถ้าเราวางระบบให้ยุ่งและยากน้อยลง

Advertisement

“เราหวังว่าผลการทดลองนี้จะทำให้ทุกคนเห็นว่าเราสามารถสร้างพฤติกรรมการแยกขยะได้ โดยไม่ต้องรอให้เป็นหน้าที่ของเด็กรุ่นใหม่ และช่วยสะกิดให้คนไทยหันมาแยกขยะก่อนทิ้งกันให้มากขึ้น” นายนันทิวัตกล่าวปิดท้าย

นายนันทิวัต ธรรมหทัย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image