“ซอลลี่” เหยื่อไซเบอร์ บูลลี่อิ้ง การระรานทางไซเบอร์

AFP

“ซอลลี่” เหยื่อไซเบอร์ บูลลี่อิ้ง การระรานทางไซเบอร์

 

คอลัมน์ ไซเบอร์ทีน

โดย พี่ศรีหุน่ย

ไซเบอร์ บูลลี่อิ้ง (Cyberbullying)หรือ การระรานทางไซเบอร์ ตามคำนิยามล่าสุดของราชบัณฑิตสภา ศัพท์คำนี้จริงๆ ก็มีมานานแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งจะกลายเป็นข่าวดังขึ้นมาอีกครั้ง หลังเกิดเหตุกาณ์ที่ “ซอลลี่” ไอดอลสาวชาวเกาหลีใต้ ตัดสินใจฆ่าตัวตายลง ด้วยวัยเพียง 25 ปี ทั้งๆ ที่ชีวิตของเธอออกจะดูสดใส และมีความสุข

Advertisement

แต่นั่นเป็นเพียงแค่สิ่งที่เราๆ คิดไปเอง เบื้องหลังการฆ่าตัวตายของคนคนหนึ่ง คงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อย่างแน่นอน

อินสตาแกรมของซอลลี่ มีผู้ติดตามอยู่มากกว่า 5 ล้านคน และซอลลี่เอง ก็ถูกระรานทางไซเบอร์อย่างมาก ผ่านทางการแสดงความเห็นบนโลกโซเชียล ที่มีผู้คนเข้าไปแสดงความเห็นในด้านลบๆ บ้าง เรื่องไม่จริงบ้าง ที่เรียกง่ายๆ ว่า เป็นการระรานซอลลี่จำนวนมาก และอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญของการทำให้ไอดอลสาวคิดสั้น

ให้น้องๆ ลองคิดง่ายๆ ว่า เพียงแค่เราอยู่กับเพื่อน หรือเรียนหนังสือที่โรงเรียน แล้วเจอเพื่อนล้อเรื่องโน้นเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ได้เป็นความจริง เรายังรู้สึก “ไม่โอเค” ในบางครั้งเลย นับประสาอะไร กับการที่คนคนหนึ่ง ต้องถูกระรานจากคนบนโลกไซเบอร์ในสารพัดเรื่อง

Advertisement

แค่คิดก็ปวดหัวแล้ว ไม่ว่าการแสดงความเห็นดังกล่าวจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม

เพราะฉะนั้น หลายองค์กร จึงได้มีการหยิบยกเรื่องของการระรานทางไซเบอร์ ขึ้นมาเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องช่วยกันรณรงค์ ให้สังคมรับรู้ และหยุดการกระทำเหล่านี้เสีย รวมไปถึงช่วยกันยับยั้งไม่ให้เกิดการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นด้วย

เพราะผลลัพธ์ของการระรานทางไซเบอร์ บางครั้งก็รุนแรงเกินความคาดหมาย เช่น การฆ่าตัวตายของซอลลี่ ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

หลังการเสียชีวิตของซอลลี่ ได้มีข้อเขียนของหมอมินบานเย็น พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่บอกไว้ว่า จากการสำรวจเด็กในกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่ามีเด็กราว 48 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในวงจรการระรานทางไซเบอร์ โดยอาจจะเป็นทั้งผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ หรือเป็นผู้พบเห็น

สิ่งที่น่าตกใจกว่านั้นคือ คุณหมอมินบานเย็นบอกว่า ผลลัพธ์ของการถูกระรานทางไซเบอร์ ส่งผลต่อทั้งทางจิตใจ ต่อร่างกาย อารมณ์ และอาจทำให้เกิดการทำร้ายตัวเอง อีกทั้งยังเคยพบว่า มีเด็กและวัยรุ่นจำนวนมากที่ฆ่าตัวตาย โดยมีประวัติว่าถูกระรานทางไซเบอร์มาแล้ว

เป็นเรื่องที่น่าตกใจมากสำหรับคุณพี่ ที่เริ่มมองเห็นว่า การระรานทางไซเบอร์ดูเป็นเรื่องอันตรายมาก และดูเหมือนว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

หลังเกิดเหตุกับซอลลี่ ทางสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเกาหลี ได้มีการเสนอร่างกฎหมายใหม่ เพื่อจัดการกับปัญหาการระรานทางไซเบอร์ ที่จะเรียกกันว่าเป็นกฎหมายซอลลี่ เพื่อทำหน้าที่ในการเข้มงวดกับการแสดงความเห็นที่เป็นอันตรายจากคนบนโลกโซเชียล ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินอยู่

นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า เรื่องของการระรานทางไซเบอร์ เป็นปัญหาระดับชาติจริงๆ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ตัวเองอยู่ในวังวนของการระรานทางไซเบอร์

หากเครียด หรือรู้สึกถึงความกังวลต่อการแสดงความเห็นของคนรอบข้างบนโลกไซเบอร์ (หรือแม้แต่โลกจริงๆ) ก็อย่าลืมหันมองหาความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

รีบขอความช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้ทุกอย่างสายเกินไป… ด้วยรักและเป็นห่วงน้องๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image