สิทธิความเท่าเทียมของ ‘เด็กผู้หญิง’

สิทธิความเท่าเทียมของ ‘เด็กผู้หญิง’

เท่าเทียม – เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของการมอบสิทธิและความเท่าเทียมแก่เด็กและเยาวชนหญิง เพื่อสามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเท่าเทียม องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันเด็กผู้หญิงสากล ประจำปี 2562 ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารวิจัยและการศึกษาต่อเนื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

ภายในงานจัดเสวนา “สิทธิเด็กผู้หญิงและผู้หญิง เสียงสะท้อนปัญหา และแนวทางการแก้ไข” เวทีแสดงความคิดเห็นโดยกลุ่มตัวแทนเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ กลุ่มไร้รัฐไร้สัญชาติ และกลุ่มเคลื่อนย้าย

เริ่มด้วย นางสาวนลินี เยาวชนจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่เติบโตมาในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ และมักได้ยินคำพูดจากผู้นำหมู่บ้านว่า “ทำไมมีแต่ผู้หญิงมาประชุม ผู้หญิงจะทำอะไรได้ นอกจากทำกับข้าว” ขณะที่นางสาวคำอิ่ง เยาวชนหญิงจากกลุ่มไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่บอกเล่าปัญหาของการเป็นเด็กติด G ซึ่งทำให้พวกเขาถูกจำกัดสิทธิในการใช้ชีวิตหลายอย่าง เช่น การห้ามออกนอกพื้นที่ ไม่มีสิทธิในการศึกษาหรือร่วมกิจกรรมที่สามารถช่วยพัฒนาตนเอง

นอกจากนี้ยังมี เสวนาหัวข้อ “คนรุ่นใหม่กับความเสมอภาคระหว่างเพศ” โดยมี นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ ThisAble.me ที่มาเล่าถึงประเด็นความพิการที่ทับซ้อนกับความเป็นเพศ ซึ่งเธอมองว่าเกิดจากวัฒนธรรมของสังคมที่ชอบกำหนดบทบาทให้คนอื่นโดยใช้เพศเป็นตัวตัดสิน

Advertisement

ด้าน ณกฤตนัน ดิษฐบรรจง ผู้จัดตั้งเครือข่ายเยาวชนผู้ติดเชื้อเอชไอวี (ประเทศไทย) เล่าถึงปัญหาที่ผู้ติดเชื้อต้องเผชิญในสังคม เนื่องจากสังคมมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ป่วยเอชไอวี เพราะการสร้างภาพจำแบบผิดๆ ทั้งที่จริงแล้วหากผู้ป่วยกินยาและเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เชื้อในร่างกายลดลงจนตรวจไม่พบ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าผู้ติดเชื้อไม่สามารถส่งต่อเชื้อได้ รวมถึงการคุกคามทางเพศที่ปัจจุบันไม่เกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กหรือผู้หญิงเพียงอย่างเดียว

ฐานิตา วงศ์ประเสริฐ นักเคลื่อนไหวเยาวชนด้านความหลากหลายทางเพศ ที่ต้องการแก้ไขกฎหมายให้คนทุกคน สามารถแต่งงานกันได้ ไม่ว่าจะมีเพศใดก็ตาม ซึ่งความสำคัญของการสมรสก็เพื่อทำให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิต่างๆ ในชีวิตเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิงทั่วไป

Advertisement

สุดท้าย ธารารัตน์ ปัญญา เล่าถึงปัญหาการคุกคามทางเพศและความสำคัญของการเยียวยาผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายที่ไม่เอาจริงเอาจัง หรือการเยียวยาผู้เสียหายทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงปัญหาวัฒนธรรมที่กดทับ ซึ่งทำให้หลายครั้งผู้เสียหายถูกมองว่าเป็นฝ่ายผิด หรือหลายคนไม่กล้าเอาผิดจากผู้กระทำ

แม้สังคมไทยในปัจจุบันจะเปิดกว้างกับความหลากหลายและความเท่าเทียมมากกว่าในอดีต แต่ต้องยอมรับว่ายังคงมีคนบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจและรับรู้ถึงปัญหา ว่าในสังคมรอบตัว ไปจนถึงชุมชนเล็กๆ ในหลายพื้นที่ ยังคงมีคนบางกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิและความเท่าเทียมในการใช้ชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image