ดาวเด่นบัวหลวง 62 เวทีแจ้งเกิด “ศิลปินมืออาชีพ”

ดาวเด่นบัวหลวง 62 เวทีแจ้งเกิด “ศิลปินมืออาชีพ”

กว่าศิลปินคนหนึ่ง จะสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคม ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

และกว่าเยาวชนคนหนึ่ง จะก้าวเดินในเส้นทางศิลปะ จนเป็นศิลปินมืออาชีพเต็มตัว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

มูลนิธิบัวหลวง จึงได้ร่วมกับ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดโครงการประกวดศิลปิน “ดาวเด่นบัวหลวง 101 ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562” ขึ้น ในหัวข้อ “ร่วมมือร่วมใจ พัฒนา ยั่งยืน” เพื่อเปิดโอกาสและเปิดโลกกว้างให้แก่นิสิต นักศึกษา ด้านศิลปะทุกคนได้เติบโต โดยได้จัดงานแถลงข่าวโครงการอย่างเป็นทางการ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เหล่าศิลปินแห่งชาติและศิลปินผู้มีชื่อเสียง มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องศิลปะ อาทิ ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง, ศ.เมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์,อาจารย์วีรเดช พนมวัน ณ อยุธยา และ อ.ปัญญา วิจินธนสาร ซึ่งเด็กๆ ได้ร่วมกันลดขยะกับตาวิเศษ เก็บขยะในคลองแสนแสบ เพื่อตระหนักรู้ถึงสิ่งแวดล้อมด้วย

Advertisement
วีรเดช , เฉลิมชัย , ปรีชา และ ปัญญา

คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช กรรมการมูลนิธิบัวหลวง และประธานโครงการ เผยว่า ดาวเด่นบัวหลวง 101 นับได้ว่าได้รับความสนใจจากศิลปินรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะส่งนิสิต นักศึกษาเหล่านี้เข้ามา ปีนี้มีนักเรียนกว่า 74 คน จาก 35 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะมาร่วมแข่งขันกันตลอด 10 วัน มีเหล่าศิลปินหมุนเวียนกันมาให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆ เพราะเราอยากจะส่งเสริมเยาวชนให้แสดงผลงานของเขา ที่เขาใฝ่ฝันเป็นศิลปินอาชีพ หลายรุ่นที่ได้เข้าร่วมโครงการแล้ว ก็มาขอจัดงานแสดงผลงานที่หอศิลป์ นอกจากความรู้ก็ยังได้มิตรภาพอีกด้วย

“การเรียนศิลปะ ใช่ว่าต้องเป็นศิลปินทุกคน แต่ว่าศิลปะอยู่ในทุกสิ่งรอบตัว เช่น รถยนต์ หรือโทรศัพท์มือถือ ก็ต้องสวยงามถึงจะโดนใจคน สิ่งสำคัญคือเขาต้องค้นพบตัวเอง อาจจะเลี้ยงตัวเองด้วยอาชีพการออกแบบเหล่านี้ และสร้างสรรค์งานศิลปะก็ได้” คุณหญิงชดช้อย เผย

คุณหญิงชดช้อย

ด้าน อ.ปัญญา เผยว่า ปัจจุบันมีการวิจัยออกมาแล้วว่า ศิลปะ เป็นธุรกิจที่น่าลงทุนที่สุด นี่เป็นสิ่งที่เอไอจะเข้ามาทดแทนได้ยาก ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกของศิลปะร่วมสมัย ซึ่งไม่ใช่สร้างงานเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วจบไป แต่ยังแสดงคุณค่า ความงาม ความดี ที่สำคัญคือเป็นประวัติศาสตร์ ของสิ่งที่เกิดขึ้น เรียนรู้ และให้เห็นคุณค่าของสิ่งนั้น เช่น ที่เด็กๆ ได้สร้างผลงานในเรื่องโลกร้อน คนก็ต้องตระหนักรู้ สร้างจิตสำนึกผ่านกระบวนการศิลปะเหล่านี้

Advertisement

ขณะที่ ปลื้ม-ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เยาวชนที่ได้ร่วมงาน ผลิตผลงานศิลปะร่วมกับเพื่อนๆ หลังลงชุมชน โดยเป็นภาพนาฬิกาทรายที่น้อยลงเรื่อยๆ จากปัญหาสภาพขยะ มลพิษที่เพิ่มขึ้น โดยมองว่า เวทีนี้แม้จะเป็นเรื่องของศิลปะสายหลัก ที่อาจจะไม่ได้คิดถึงมาก่อนหน้านี้ แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้รู้อะไรใหม่ๆ รู้จักเพื่อนและสังคมใหม่ๆ

และ เชน-วัชรวี คณาประดิษฐ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เผยว่า ดีใจที่ได้ร่วมโครงการนี้ เห็นรุ่นพี่หลายคนมีโอกาสได้มาร่วม เรียนทางด้านศิลปะ เราก็อยากทำงานด้านนี้ เป็นนายของตัวเอง แต่ด้วยต้นทุนเราไม่สูงมากนัก ก็อาจจะต้องไปทำงานต่างๆ อย่างเช่นกราฟิกที่ได้ใช้ความรู้ ครั้งนี้ได้สร้างผลงานร่วมกับเพื่อนๆ นำเอาขยะอย่างเศษกระดาษ ฝาขวด เศษผ้า มาทำเป็นรูปโครงข่าย เป็นชุมชน เปรียบเหมือนเราอยู่ร่วมกันได้กับธรรมชาติ โดยคาดหวังจะได้ความรู้ใหม่ๆ และ มิตรภาพที่ดี

ศุภวิชญ์-วัชรวี

เวทีแจ้งเกิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image