พบ 3 วิธี ฉก’โดรน’จากกลางอากาศ

(ภาพ-Stephanie Law)

ทีมนักศึกษาระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ในสหรัฐอเมริกาภายใต้การกำกับของเลเนียร์ วัตกินส์ นักวิจัยอาวุโสด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของมหาวิทยาลัย พบช่องโหว่ของโดรนหรืออากาศยานบังคับจากระยะไกล ที่กำลังเป็นที่นิยมสูงมากในเวลานี้ และสามารถใช้ช่องโหว่ดังกล่าวเจาะเข้าไปในระบบของโดรนจนทำให้ต้องลงจอดหรือไม่ก็ดิ่งพื้นได้สำเร็จ

“โดรน” ที่เพิ่งแพร่หลายมาเมื่อปีที่ผ่านมาถูกนำไปใช้งานหลากหลายมากตั้งแต่การบินเล่นเพื่อความสนุกสนาน, เพื่อถ่ายภาพ-วิดีโอจากทางอากาศ, เพื่อใช้ตรวจสอบพืชไร่ เรื่อยไปจนถึงการใช้โดรนเพื่อส่งสินค้าหรือสัมภาระ องค์การการบินพลเรือนสหรัฐประเมินว่ายอดขายโดรนในสหรัฐปีนี้จะสูงถึง 2.5 ล้านดอลลาร์ และจะเพิ่มมูลค่าเป็น 7 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020

วัตกินส์เชื่อว่าการขยายตัวเร็วมากดังกล่าวส่งผลให้ผู้ผลิตไม่คำนึงถึงการรักษาความปลอดภัย และทดสอบให้เห็นจริงด้วยการให้ทีมนักศึกษา 5 คนหาวิธีการเจาะระบบของโดรน “แพร์ร็อท บีบ็อป 1” ที่เป็นที่นิยมกันในเวลานี้ขณะกำลังบินอยู่บนอากาศ ในที่สุดทีมนักศึกษาดังกล่าวก็พบอย่างน้อย 3 วิธีในการใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กส่งสัญญาณไปจัดการกับโดรนเหล่านั้นได้สำเร็จ

ไมเคิล ฮูเปอร์ หนึ่งในทีมนักศึกษาดังกล่าวระบุว่า วิธีแรกก็คือการส่งคำสั่งขอเชื่อมต่อไปยังระบบขับเคลื่อนของโดรนเป็นพันๆ ครั้ง ทำให้ระบบประมวลผลของโดรนไม่สามารถรับมือกับคำสั่งดังกล่าวพร้อมกับทำการบินต่อไปได้ บังคับให้โดรนต้องลงจอดในที่สุด วิธีที่ 2 คล้ายคลึงกับวิธีแรก แต่เป็นการส่งข้อมูล (ไม่ใช่คำสั่ง) เป็นจำนวนมหาศาลเข้าไปยังระบบของโดรนจนเกินขีดที่ระบบขับเคลื่อนจะรองรับได้ วิธีนี้จะทำให้โดรนดิ่งพื้นเหมือนเครื่องบินตก

Advertisement

วิธีสุดท้ายเป็นวิธีที่ก้าวหน้าที่สุด นั่นคือการส่งข้อมูลปลอมไปยังตัวโดรน จำแลงให้เหมือนกับข้อมูลซึ่งส่งจากอุปกรณ์ควบคุมจากระยะไกลของระบบควบคุมโดรนจริงๆ เมื่อระบบควบคุมในโดรนยอมรับข้อมูลดังกล่าว ผู้แฮกก็จะเข้าควบคุมและบังคับโดรนให้ลงจอดฉุกเฉินได้ในที่สุด

ทีมวิจัยของจอห์นส์ ฮอปกินส์ พบว่าจุดอ่อนที่สุดของโดรนในขณะนี้ก็คือ ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์บนโดรนกลางอากาศได้โดยไม่ต้องมีพาสเวิร์ดใดๆ นั่นเอง

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image