เจาะความคิด ‘คนดัง’ ชีวิตและความเท่าเทียม

เจาะความคิด ‘คนดัง’ ชีวิตและความเท่าเทียม

ชีวิตและความเท่าเทียม – แม้ว่าบทบาทของผู้หญิงในศตวรรษที่ 21 จะก้าวขึ้นมาทัดเทียมกับเพศชาย สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ นักการเมือง และซีอีโอ เช่นเดียวกับผู้ชาย แต่ในหลายพื้นที่ ผู้หญิงก็ยังถูกปิดกั้นสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามทำงานตอนกลางคืน หรือถูกลงโทษเมื่อมีเซ็กซ์ก่อนแต่งงาน

แพม-ประนัปดา พรประภา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการ “ดราก้อนฟลาย 360” ที่ได้ไอเดียจากการเดินทางไปร่วมสัมนนา วีแมน ซัมมิท ที่ต่างประเทศ จึงคิดจัดงานสุดยอดงานบรรยาย เพื่อรณรงค์และสร้างจุดเปลี่ยนทางความคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ ในสังคมไทยและเอเชีย

โดยได้คนดังระดับโลกมาร่วมขึ้นเวที “Dragonfly360 Wo=Men Summit” ไม่ว่าจะเป็น จามีลล่า จามีล นักแสดงชื่อดังชาวอังกฤษ หรือ ลีน่า คาลิเฟ ผู้ก่อตั้ง She fighter มาถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานของพวกเธอ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

นับเป็นครั้งแรกของเวทีสัมมนาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ที่ได้รับความสนใจจากคนไทย และต่างชาติ ที่ตบเท้าซื้อบัตรเข้ามาร่วมงาน แม้บัตรเข้างานจะราคาสูงถึง 8,000 บาท โดยราคาบัตรวีไอพี 15,000 บาท ครั้งนี้ยังขายหมด กับการบรรยายภาษาอังกฤษ ได้รับความสนใจจากคนดังหลายแวดวง ซึ่งนอกจากวงเสวนาจะคึกคักตลอดวัน ด้านนอกเวทียังมีกิจกรรมที่น่าสนใจตลอดวัน

Advertisement

บนเวที ยังได้คนดังชาวไทยหลายคน ขึ้นไปบอกเล่าทัศนคติและชีวิตของพวกเขา


วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา พิธีกรคนดังตัวแทน LGBT ขึ้นเวทีประกาศว่า “ผมเป็นเกย์” ก่อนจะเล่าเส้นทางชีวิต 30 กว่าปีที่ต้องโกหกตัวเองว่า ตั้งแต่อายุ 15 ผมต้องโกหกคนรอบข้างเสมอว่าผมเป็นเกย์ ญาติก็มาถามว่าจะแต่งงานเมื่อไหร่ ทุกครั้งที่ติดตามครอบครัวไปอยู่ประเทศต่างๆ ก็คิดว่าจะลองคบกับผู้หญิงดู แต่แล้วก็ทำไม่ได้ พอได้เป็นพิธีกร เราก็เหมือนปิดบังความจริงว่าเราเป็น LGBT ทั้งๆ ที่คนรอบข้างของเราก็รู้ เรากลับบ้านไปก็ร้องไห้อยู่ตลอด จนมาถึงวันหนึ่ง เราก็คิดว่าเราอยากเปิดเผยเรื่องเรากับแฟน และสังคมต้องมี role model ในเรื่องนี้ จึงได้กล้าที่จะออกมาพูด ทุกวันนี้เรามีความสุข นั่นทำให้เรารู้ว่า ที่สุดแล้ว

“ต้องซื่อตรงกับตัวเอง”

วุฒิธร มิลินทจินดา

ขณะที่หนึ่งสาวซุปเปอร์สตาร์ชาวไทย “ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต” ที่ออกตัวว่าขึ้นเวทีครั้งแรก บอกว่า ตอนเด็กๆเมื่อได้ดูรายการ ทไวไลท์ โชว์ ก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เสียงของฉันต้องมีคนได้ยิน ความคิดและเสียงของฉัน ต้องมีความหมาย จนมีโอกาสได้เข้าวงการบันเทิง คิดอยู่เสมอว่าฉันต้องเป็นตัวของตัวเอง อาจจะมาจากการเลี้ยงดูของแม่ที่ไม่ได้คาดหวังอะไรจากเรา หลายคนมองว่าเราเป็นไอดอลเรื่องการออกกำลังกาย มันเริ่มมาจาก 6-7 ปีที่แล้ว ที่พ่อเป็นมะเร็ง ทำให้หันมาเริ่มเล่นโยคะ และออกกำลังกาย สิ่งที่เราโพสต์ลงไปในไอจี มันกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของเรา เราไม่รู้หรอกว่าถูกหรือผิด แต่ทำให้เรารู้สึกว่าเราแข็งแรง และเราก็ภูมิใจที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น

ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต

ขณะที่ แพรรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์ อดีตบิวตี้บล็อกเกอร์สาว ที่ผันตัวมาสนใจเรื่องผ้าไทย เผยว่า แพรอยู่ในแวดวงเมกอัพ อาร์ติสต์ มา 9 ปี ก่อนที่วันหนึ่งจะตื่นมาแล้วรู้สึกว่าเป้าหมายในชีวิตเราคืออะไร ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเกิดมาทำไม ชื่อเสียง เงินทอง มันคือทุกอย่างในชีวิตหรือเปล่า ทุกวันนี้แพรอยากเป็นนักเรียนของโลก เดินทางไปค้นพบเรื่องราวต่างๆ ไปศึกษาวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานของชีวิต อย่างผ้าไทย ที่เรากำลังหลงใหลกับมัน กว่าจะได้ไหมมัดหมี่แต่ละผืน ใช้เวลา การได้ออกแบบชุดจากผ้าไหม นำเอาผ้าไทยมาประยุกต์กับแฟชั่น มาทำให้เราภูมิใจและมีความสุข

แพรรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์ (ขวา)

ปิดท้ายด้วย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาพูดเรื่องเพศ ในมุมมองของผู้ชาย จากหัวข้อ “ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ” หรือการที่ผู้ชายถูกกรอบความคิดว่าต้องทำเช่นนั้นเช่นนี้ ว่า ตอนที่ผมได้เรียนโรงเรียนชายล้วนที่อังกฤษ ทำให้รู้สึกถึงสภาพแวดล้อมที่มีแรงกดดัน และต้องแข่งขัน ก็จะได้เห็นความคิดแบบผู้ชายมากๆ ในที่นั่น ซึ่งเราไม่เคยเจอที่ไทย

จนมาเริ่มทำงานด้านการเมือง ต้องผลักดันประเด็นหลายอย่าง เราก็รู้ว่าเราต้องเปลี่ยนตัวเอง แต่บางครั้งเปลี่ยนตัวเองคนเดียวไม่พอ เราต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เงื่อนไข คุณค่าของสังคมใหม่ แรกๆ คนอาจจะไม่ยอมรับข้อเสนอใหม่ๆ เมื่อเปลี่ยนสิ่งหนึ่งคนที่เสียผลประโยชน์อาจมีแรงสะท้อนกลับ แต่คุณต้องมีภาวะผู้นำที่จะเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อีกเวทีสะท้อน “ความเท่าเทียม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image