ทีมวิจัยจากสหรัฐ พบวิธีใช้ ‘ลมหายใจ’ ตรวจหามะเร็งปอด

ภาพ-nih.gov

ทีมวิจัยนำโดย นพ.วิคเตอร์ ฟาน เบิร์คเคล ศัลยแพทย์อุรเวชกรรม ของสำนักการแพทย์แห่งหลุยส์วิลล์ ในเมืองหลุยส์วิลล์ รัฐเคนตักกี สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบทางเคมีของลมหายใจของผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดที่ได้รับการผ่าตัดมะเร็งออกไปแล้วจะแตกต่างออกไปจากลมหายใจของผู้ที่ยังป่วยเป็นมะเร็งปอดอยู่ เปิดทางนำไปสู่การใช้ลมหายใจเพื่อตรวจสอบโรคมะเร็งแทนที่การตรวจแบบเดิม

ทีมวิจัยพบว่า สารเคมี 3 ตัว ซึ่งรู้จักกันในชื่อสารประกอบคาร์โบนิล (คาร์โนบิล คอมปาวด์) ซึ่งเป็นส่วนประกอบในลมหายใจที่ออกมาจากปอดของผู้ป่วยมะเร็งปอดซึ่งผ่านการผ่าตัดเอามะเร็งออกไปแล้วจะลดปริมาณลง เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของสารประกอบดังกล่าวในลมหายใจของผู้ป่วยรายเดียวกันก่อนการผ่าตัด

ในการศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้ทีมวิจัยขอให้ผู้ป่วยมะเร็งปอด 31 รายเข้ารับการตรวจสอบมะเร็งด้วยลมหายใจ หรือ “เบรธเทสต์” ทั้งก่อนหน้าและหลังจากเข้ารับการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกแล้ว

“เบรธเทสต์” เป็นวิธีการตรวจสอบหามะเร็งปอดแบบใหม่ที่ นพ.ฟาน เบิร์คเคล มีส่วนร่วมในการคิดค้นขึ้นแทนที่การใช้การตรวจด้วยกระบวนการคอมพิวต์ โทโมกราฟี หรือซีทีสแกน ซึ่งนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายสูงแล้วยังจำเป็นต้องตรวจซ้ำด้วยกระบวนการไบออพซี คือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจสอบว่า ก้อนหรือชิ้นเนื้อที่ซีทีสแกนพบนั้นเป็นเนื้อร้ายหรือไม่

Advertisement

พญ.อิงกา เลนเนส ผู้อำนวยการคลินิกชิ้นเนื้อในปอดประจำศูนย์มะเร็งแห่งโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ ในเมืองบอสตัน สหรัฐ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยครั้งนี้ระบุว่า ซีทีสแกนมักตรวจพบชิ้นเนื้อในปอดมากถึง 30% ของผู้ที่เข้ารับการสแกน แต่มีสัดส่วนของผู้ป่วยเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ชิ้นเนื้อดังกล่าวเป็นก้อนมะเร็ง

กระบวนการตรวจมะเร็งด้วยลมหายใจหรือเบรธเทสต์นั้น กำหนดให้ผู้ป่วยเป่าลมหายใจเข้าไปในอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นเหมือนลูกโป่ง เพื่อจัดเก็บตัวอย่างลมหายใจให้ได้ปริมาตร 1 ลิตร ตัวอย่างลมหายใจดังกล่าวจะถูกปั๊มผ่านชุดชิปคอมพิวเตอร์ในระบบที่จะทำหน้าที่ดักจับองค์ประกอบทางเคมีของลมหายใจที่มีอยู่ทั้งหมด จากนั้นชุดชิปคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจะถูกถอดออกนำส่งไปยังห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์ทั้งชนิดและปริมาณขององค์ประกอบทางเคมีของลมหายใจทั้งหมด โดยจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายตลอดกระบวนการเพียง 20-30 ดอลลาร์/ครั้งเท่านั้น

ในกรณีศึกษาของ นพ.ฟาน เบิร์คเคล ข้างต้นนั้น องค์ประกอบทางเคมีของลมหายใจผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ตรวจสอบจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีซึ่งยินยอมให้เก็บตัวอย่างลมหายใจอีก 187 คน

Advertisement

เมื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาเปรียบเทียบกัน พบว่าองค์ประกอบทางเคมีที่เป็นตัวบ่งชี้มะเร็ง 3 ใน 4 ชนิดในตัวผู้ป่วยมะเร็งปอดที่เข้ารับการผ่าตัดแล้ว ลดลงสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับระดับเฉลี่ยที่วิเคราะห์ได้จากผู้ที่มีสุขภาพดี

ฟาน เบิร์คเคล ชี้ว่าผลการศึกษาดังกล่าวนี้จะเป็นพื้นฐานสำหรับการนำเอาระบบการตรวจหามะเร็งปอดด้วยลมหายใจมาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการตรวจลงและช่วยให้พบเนื้อร้ายได้ตั้งแต่ต้นซึ่งจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image