‘เลือกหมอน’ นอนอย่างไร ‘ไม่เจ็บป่วย’

การนอนที่ถูกต้องอยู่ที่ 10-15 องศา

‘เลือกหมอน’ นอนอย่างไร ‘ไม่เจ็บป่วย’

หมอน – เคยเป็นไหม ที่หลงเชื่อการโฆษณาถึงสรรพคุณ “หมอนสุขภาพ” เสียเงินไม่ใช่น้อยแล้วกลับมานั่งเสียใจภายหลัง กับอาการปวดต่างๆ ที่ตามมา

อาจเป็นเพราะหมอนใบนั้น ไม่เหมาะกับสรีระ และวิถีชีวิตของเรา

เป็นที่มาให้ เซ้ง-ชวกิจ เก้าเอี้ยน นักกายภาพบำบัด นำประสบการณ์การเป็นนักกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลชั้นนำ มาออกแบบเป็นหมอนและที่นอนแบรนด์ มิสเตอร์ บิ๊ก ภายใต้คอนเซ็ปต์ มาย เบสต์ ฟิต สลีป ฟิตปุ๊บหลับปั๊บ ที่ใช้แล้วรู้สึกสบายเหมาะกับสรีระของผู้ใช้งาน โดยได้เหล่าคนดังมาร่วมบอกเล่าปัญหาการนอน ในงานแถลงข่าว ณ ชั้น 4 ศูนย์การค้า สยาม ดิสคัฟเวอรี

ภายในงาน ชวกิจยังได้แนะวิธีเลือกหมอนและการนอนที่ถูกต้องว่า การนอนถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเราใช้ชีวิต 1 ใน 3 ไปกับการนอน แต่คนไทยยังมีความเชื่อผิดๆ เรื่องการเลือกซื้อหมอน หรือที่นอนทำให้มีปัญหาตามมา

Advertisement

ปัญหาหลักที่เราพบ 100% คือ ปวดหลังและปวดคอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากสรีระ การทำงานหน้าคอมที่ต้องก้มนานๆ หรือนอนหมอนที่สูงเกินไป หนุนหมอนผิดวิธี บางคนเชื่อว่าการนอนหมอนเพื่อสุขภาพจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่จริงๆ แล้ว หมอนที่ดี คือหมอนที่เหมาะกับสรีระและลักษณะการนอนต่างหาก ที่สำคัญคือต้องถูกสุขลักษณะ อนามัย ทำความสะอาดได้ง่าย

สาธิตวิธีการนอนที่ถูกต้อง

การจะออกแบบหมอนแต่ละใบ จึงต้องดูทั้งความกว้าง ความหนา นุ่ม และองศาการนอน ตามแต่น้ำหนักของศีรษะ และท่าทางการนอน คนนอนหงายอาจเลือกหมอที่แบน หากชอบนอนตะแคงก็อาจเหลือหมอที่หนาขึ้นกว่าเดิม

Advertisement

ชวกิจเผยว่า คนไทยจะมีความเชื่อว่า การนอนที่นอนแข็งนั้นดี แต่นั่นไม่จริง ที่นอนที่ดีควรจะต้องแน่นแต่ไม่แข็ง ผิวหน้าเรียบ ไม่เป็นตะปุ่มตะป่ำ เพื่อไม่ให้สรีระเราไปโดนแล้วรู้สึกไม่สบายตัว ส่วนการนอนที่ดี หลังต้องราบไปกับเตียง เพื่อไม่ให้ปวดหลัง โดยท่าเริ่มต้นถือเป็นท่าที่สำคัญ หากเป็นคนนอนหงายต้องนอนราบ องศาของศีรษะต้องประมาณ 10-15 องศาไม่เกิน อาจดึงหมอนมาไว้ที่ไหล่เล็กน้อย เผื่อชอบเปลี่ยนท่า หากพลิกตัวตะแคงจะได้ไม่เกิดปัญหา สำหรับคนหลังแอ่นให้นำหมอนมาหนุนที่ช่วงเข่า จะเป็นการปรับท่านอนให้หลังราบไปกับที่นอนได้ ส่วนคนที่ชอบนอนตะแคงนั้น ให้ยกแขนด้านล่างขึ้นมาเล็กน้อย ป้องกันการเหน็บชา ส่วนขาที่ตะแคง ด้านล่างต้องเหยียดเล็กน้อย อีกข้าง สะโพกต้องไม่บิดจนเกินไป ไม่เช่นนั้นจะทำให้กล้ามเนื้อเจ็บ ซึ่งการเลือกหมอนข้างก็อาจเลือกให้ช่วงปลายเท้าแน่นเพื่อรองรับน้ำหนัก และช่วงบนนุ่มเพื่อใช้ก่ายได้

สำหรับ คนที่มีปัญหานอนกรน นั้น ชวกิจบอกว่า หลายคนเกิดจากสรีระร่างกาย เช่นเป็นคนคอสั้น คางสั้น จะมีโอกาส ท่านอนอาจช่วยปรับได้บ้างแต่ไม่ทั้งหมด ต้องใช้วิธีการนอนแบบตะแคงกึ่งคว่ำ โดยโน้มตัวลงไปให้คางตกไปด้านหน้า จะช่วยลดโอกาสกรนให้น้อยลงได้ ที่สำคัญคือเรื่องของความสะอาด ควรนำหมอนและที่นอนไปทำความสะอาดบ่อยๆ ด้วยน้ำร้อน เพื่อป้องกันมูลไรฝุ่น

ทั้งนี้ ชวกิจยังทิ้งท้ายว่า แม้จะเลือกที่นอนและหมอนให้ดีแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการใช้ชีวิตระหว่างวัน ที่ต้องไม่ทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ เมื่อนั่งหรือยืนนานๆ ก็หมั่นลุกขึ้นคลายกล้ามเนื้อ และอยู่ในท่าที่ถูกต้อง หากยืน ต้องเป็นเส้นตรง ระหว่างหู ไหล่ สะโพก ไปจนถึงตาตุ่ม ไม่แอ่นไปข้างหน้า ขณะที่นั่งหู ไหล่ สะโพกก็ต้องตรงกัน ไม่ห่อไหล่ ซึ่งการปรับท่านั้นจะมีผลสำคัญอย่างยิ่ง

ชวกิจ

เพื่อไม่ให้การนอนเหนื่อยกว่าไม่ได้นอน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image