เปิดพิกัด ‘แม่วัยรุ่นอยู่ที่ไหน’ เจาะข้อมูล ช่วยแก้ปัญหา ‘ท้องไม่พร้อม’

เปิดพิกัด ‘แม่วัยรุ่นอยู่ที่ไหน’ เจาะข้อมูล ช่วยแก้ปัญหา ‘ท้องไม่พร้อม’

แม่วัยรุ่น“ท้องไม่พร้อม” นับเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับแค่ “แม่ตั้งครรภ์” แต่ยังรวมไปถึงครอบครัว และการพัฒนาประเทศในอนาคต

เพราะแม่วัยรุ่นคนหนึ่ง ที่ตั้งครรภ์โดยที่ตัวเองอาจไม่พร้อม ขาดทั้งประสบการณ์ อาจมีความเปราะบางทางอารมณ์ที่ยากจะจัดการ บางครั้งนำไปสู่การตัดสินใจที่พลาดพลั้งไปได้

ในประเทศไทย แม้ว่าแม่วัยรุ่นจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย สถานการณ์แม่วัยรุ่นในไทยนั้น เพิ่มขึ้นในปี 2543 จาก 31.1 ต่อ 1,000 คน ขึ้นไปสูงถึง 53.4 ต่อ 1,000 คน ในปี 2554-2555 ก่อนจะค่อยๆ ลดลงมาเป็น 35.0 ต่อ 1,000 คน ในปี 2561 ซึ่งภาครัฐตั้งเป้าหมายไว้ที่ 25 ต่อ 1,000 คน ใน ช่วงอายุ 15-19 ปี ในปี 2569 อย่างไรก็ตาม ในช่วงอายุ 10-14 ปี สถิติปี 2561 อยู่ที่ 1.2 ต่อ 1,000 คน ไม่แตกต่างจากสถิติสูงสุดในปี 2555 ที่ 1.8 ต่อ 1,000 คนมากนัก ซึ่งเป้าหมายคือ 0.5 ต่อ 1,000 คน ในปี 2569

หากคิดเป็นจำนวนรายคนแล้ว พบว่าไทยมีแม่วัยรุ่นช่วงอายุ 10-14 ปี ที่ 2,385 คน ขณะที่แม่วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีอยู่ 70,181 คน เทียบแล้ว มีจำนวนแม่วัยรุ่นเกิดขึ้นในแต่ละวัน 199 คน ลดลงจากเดิมที่เคยมี 362 คนต่อวัน ในปี 2554

Advertisement

แต่การจะเข้าไปแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี ย่อมต้องรู้ว่า “แม่วัยรุ่น” เหล่านั้นอยู่ที่ไหน และต้นตอของปัญหาคืออะไร เป็นที่มาให้หน่วยงานภาครัฐ นำโดยกรมอนามัย และสำนักงานกองทุนประชากรสหประชาชาติประจำประเทศไทย จึงได้บูรณาการข้อมูลแม่วัยรุ่นเพื่อวางแผนและดำเนินงานลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยได้จัดงานแถลงข่าว เปิดตัวรายงาน “แม่วัยรุ่นอยู่ที่ไหน” ที่ห้องแคทลียา 2 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า ที่ผ่านมาข้อมูลแม่วัยรุ่นของไทยในฐานจากทะเบียนเกิดของกระทรวงมหาดไทยตามใบแจ้งเกิด โดยมีจังหวัดที่มีจำนวนมากที่สุดอย่าง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ นครนายก แต่เมื่อเชื่อข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ใหม่ เราพบว่าข้อมูลของแม่วัยรุ่นเปลี่ยนไปจากเดิม หลายจังหวัดลดลง เช่น ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต สมุทรสาคร สถานการณ์ในจังหวัดที่มีแม่วัยรุ่นมาก จะเกิดขึ้นในกลุ่ม อำเภอขนาดใหญ่ หรือจังหวัดที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน บางแห่งมีกลุ่มชนเผ่าอาศัยอยู่มาก แต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ โดยอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น หญิงวัยรุ่นไปคลอดในจังหวัดที่ตนเองไม่ได้อาศัยอยู่ เพื่อเก็บรักษาความลับ หรือต้องการไปคลอดในจังหวัดที่มีบริการสาธารณสุข

Advertisement

“จากการเชื่อมต่อข้อมูลแบบใหม่นี้ นอกจากจะมีความชุกของแม่วัยรุ่นที่เปลี่ยนไป เรายังเจาะลึกไปได้ระดับอำเภอ ซึ่งทำให้กลุ่มคนทำงานสามารถวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ได้ชัดเจนที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ทันกับสภาพแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ของเด็กที่เปลี่ยนไป” พญ.พรรณพิมลเผย

พญ.พรรณพิมล (ซ้าย)

ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล เผยว่า รายงานแม่วัยรุ่นนี้ ทำให้เรารู้ถึงข้อมูลสถานการณ์เด็ก แต่ไม่รู้ปัจจัยรอบข้างของเด็กๆ ที่แท้จริงได้ แต่จากการวิเคราะห์เราพบปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยพบว่าหากเด็กได้อยู่ในระบบการศึกษา จะช่วยลดโอกาสแม่วัยรุ่นได้ เด็กหลายคนต้องออกจากโรงเรียนเพราะยากจน และไปมีแฟน แต่ในอีกกรณีหนึ่งเด็กหญิงหลายคนก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะว่าตั้งครรภ์ ซึ่งการได้เรียนเพศศึกษาจะช่วยลดความเสี่ยงได้ นอกจากนี้ เรายังพบปัจจัยเสี่ยงอื่นเช่น การอยู่ในครอบครัวที่มีสัดส่วนเด็กและผู้สูงอายุในบ้านสูง พ่อแม่จึงไม่มีเวลาให้กับเด็ก หรืออาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีรายได้ต่ำ หรือการว่างงานสูง

จากสถิติที่ลดลง ทำให้เห็นนิมิตหมายที่ดี โดย พญ.พรรณพิมลได้ถอดบทเรียนว่า จากสถานการณ์ที่สูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกหน่วยงานต้องทำงานร่วมกันจนมีทิศทางที่ดีขึ้น มีวิวัฒนาเรื่องเพศศึกษาที่ดีขึ้น จากแต่ก่อนไม่สามารถพูดคำว่าเพศได้เลย รวมถึงครูก็พัฒนาตัวเอง เป็นที่ปรึกษาได้ เช่นเดียวกับหน่วยงานต่างๆ ที่จัดบริการเชิงรุก เป็นมิตรกับวัยรุ่น มีคลินิกในสถานที่ที่เข้าถึงง่าย เช่น ร้านกาแฟ ที่สำคัญคือ หลักประกันสุขภาพที่ให้ฝังยาคุมกำเนิดได้ฟรี จากนี้ก็ต้องปรับตัว สอนอะไรที่เด็กอยากรู้และนำไปใช้ได้จริง พ่อแม่ก็ต้องคุยกับลูกก่อนเห็นความเสี่ยง ซึ่งเป็นทิศทางที่สำคัญในการเข้าถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้เพราะแม้ตัวเลขจะลดลงแต่ก็ต้องทำงานอย่างหนัก

ขณะที่ ดร.วาสนา อิ่มเอม รักษาการหัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เผยว่า จากความพยายามของหน่วยงานต่างๆ ทำให้ตัวเลขลดลง เช่น เสนอเนื้อหาในมุมของเยาวชน การเข้าถึงถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิดกึ่งถาวร แต่ก็ยังต้องทำงานต่อไป ในประเทศอังกฤษที่ประสบความสำเร็จกับการแก้ปัญหานี้ ลดแม่วัยรุ่นลงได้ครึ่งหนึ่ง เพราะมองว่านี่เป็นปัญหาของส่วนรวม ไม่ใช่ของเด็กคนเดียว ปัญหาท้องไม่พร้อมเกิดขึ้นจากการไม่เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วม เขาใช้ข้อมูลนำ ว่าพื้นที่ไหนมีปัญหาก็จะส่งทีมอิสระเข้าไปทำงานทันที

เมื่อรู้ว่าแม่วัยรุ่นอยู่ไหนแล้ว เราสามารถวิเคราะห์ลักษณะพื้นที่ ปัจจัยต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล และยากจน โดยต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 อย่างแท้จริง ทั้งให้วัยรุ่นได้เรียนเพศศึกษารอบด้าน ให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์มีโอกาสทางการศึกษา รักษาความลับของวัยรุ่นอย่างไม่เลือกปฏิบัติ และเปิดรับต่อเสียงสะท้อนจากวัยรุ่นและกลุ่มด้อยโอกาส

อีกขั้นความพยายาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image