ร่องขุ่นโมเดล โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

“ร่องขุ่นโมเดล” ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ถือเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงที่สามารถรับมือนักท่องเที่ยวจีนที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมยิ่ง

อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี พ.ศ.2554 ผู้สร้างวัดร่องขุ่นที่ อ.เมือง จ.เชียงราย ด้วยการเนรมิตผืนดินอันแล้งแห้งให้เป็นวัด

สีขาววิจิตรงดงาม จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศไทย ถึงกับเครียดหนักเมื่อถูกสั่นคลอนด้วยพฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนาต่างๆ ของนักท่องเที่ยวจีน จนเกือบจะยกธงขาวถึงขั้นปิดวัดหนี

แต่ด้วยหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ โดยการคิด วิเคราะห์ แยกแยะเหตุผล ซึ่งนำไปสู่การลุกขึ้นแก้ไขปัญหา ด้วยการทุ่มเงินและทุ่มกำลังคน รวมทั้งการพยายามเข้าใจและยอมรับนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองของตัวเองเสียใหม่ ภายใต้วลีเด็ดที่ว่า “นักท่องเที่ยวจีนไม่ผิด มึงต่างหากที่ไม่พร้อม” (จากบทความของคุณอินทรชัย พาณิชยกุล)

Advertisement

ว่าไปแล้ว คนจีนเขาอุตส่าห์เสียเงินมาชื่นชมงานศิลปะของวัดร่องขุ่น คนจีนไม่ใช่ว่าไม่ดีทั้งหมด แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เราจึงไม่ควรจะบ่นว่าคนจีนทุกคนแบบเหมาเข่ง อาจารย์ก็เลยคิดได้ว่า “เออว่ะ เราด่ามัน ยังไงมันก็มากันอยู่ดี แทนที่จะด่ามันไปเรื่อยๆ ทำไมเราไม่ย้อนกลับมาดูความผิดของตัวเองว่า เราพร้อมรับนักท่องเที่ยวจีนหรือเปล่า ไอ้ที่เราให้มันเข้ามาเที่ยว เราเตรียมพร้อมรับมือกับมันดีพอรึยัง

“บุคลากรเราล่ะพร้อมไหมในการที่จะคอยบอกให้พวกเขาเข้าคิว หรือคนจีนสูบบุหรี่ เรามีบุคลากรเดินเข้าไปเตือนไหมว่าที่นี่สูบบุหรี่ไม่ได้ หรือคนจีนชอบนุ่งสั้นเข้าไปในโบสถ์ ถึงจะมีผ้านุ่งให้ยืม แต่พอเข้าไปแล้วอาจแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ถามว่าเรามีบุคลากรคอยดูแลสิ่งเหล่านี้ไหม” สุดท้ายอาจารย์จึงตัดสินใจได้ว่า “กูเองที่ไม่พร้อม กูต้องแก้ปัญหา ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในบริเวณวัดกูให้ได้”

อาจารย์เฉลิมชัยได้สรุปทิ้งท้ายว่า ผมไม่สนว่าจะเสียเงินเท่าไหร่ สนแค่ว่าทำยังไงให้วัดร่องขุ่นกับคนจีนไม่มีปัญหากัน การท่องเที่ยวถึงอยู่ได้ และที่สำคัญคือ ไกด์ทัวร์จีนทุกคนถ้าเข้ามาในวัดร่องขุ่นแล้วลูกทัวร์ทำผิด ไกด์จะต้องรับผิดชอบ

ข้อคิดต่างๆ ของอาจารย์เฉลิมชัยจึงมีความสำคัญยิ่งต่อ “มุมมองในการแก้ปัญหา” โดยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อบริหารจัดการกับ “การเปลี่ยนแปลง” ไปสู่สภาพที่ดีขึ้น

Advertisement

เพราะเมื่อเราเชื้อเชิญให้ผู้คน (ไม่ว่าชาติใดๆ) มาท่องเที่ยวและมาใช้จ่ายในบ้านเรา ซึ่งทำให้พวกเรามีรายได้เพิ่มมากขึ้น เราก็ควรจะพร้อมในคุณภาพของสินค้าและการบริการของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ห้องน้ำ ที่นั่งพักและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ คือ ควรจัดให้มันเหมาะสมกับราคาค่างวดที่ลูกค้าจ่ายและต้องมีความพร้อมในการให้บริการด้วย (ไม่ใช่มีนักท่องเที่ยวมาเป็นพัน แต่มีห้องน้ำเพียง 4-5 ห้องเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้ต้องแย่งกันใช้ในเวลาจำกัด เสมือนกับเราเอาเปรียบลูกค้าหรือเอาแต่ได้)

การเรียนรู้จาก “ร่องขุ่นโมเดล” ของท่านอาจารย์เฉลิมชัยที่ย้อนกลับมาทบทวนถึง “ความพร้อมของตนเอง” แล้วทำการปรับปรุงแก้ไขแทนที่จะโทษคนอื่นร่ำไปนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งของ “การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง” ที่จะทำให้ “คุณภาพชีวิต” ของเราทุกคนดีขึ้น ครับผม!

หน้า 16

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image