5 อินฟลูเอนเซอร์อาหาร กับเรื่องราวที่มากกว่าเรื่องกิน

อินฟลูเอนเซอร์อาหาร

5 อินฟลูเอนเซอร์อาหาร กับเรื่องราวที่มากกว่าเรื่องกิน

“ร้านนี้อร่อย เพจนี้บอกมา”

ในยุคโซเชียลมีเดีย ที่ “บล็อกเกอร์” รวมถึง “อินฟลูเอนเซอร์” กลายเป็นอาชีพฮอตฮิต เพราะรายได้ดี มีคนซื้อโฆษณา จ้างทำรีวิวมากมาย

นี่จึงเป็น “อาชีพใหม่” ที่คนรุ่นใหม่อยากเป็น

แต่การจะขึ้นแท่น “อินฟลูเอนเซอร์” ก็ไม่ใช่ว่าเปิดเพจแล้ว “ปังทันที” ในงานเปิดแคมเปญ “เซ็นทรัล ไดนิ่ง เวิลด์ อวอร์ด” จัดโดยเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งรวบรวมบล็อกเกอร์สายอาหารชื่อดังมาถ่ายทอดเรื่องราวความอร่อยของร้านอาหารในเซ็นทรัลเวิลด์ในสไตล์ที่ชื่นชอบแบบฉบับของตัวเอง ก็ได้ 5 บล็อกเกอร์ชื่อดัง มาบอกเล่าความเป็นมาของเพจ และการทำเพจให้ “ปังเปรี้ยงปร้าง” มียอดผู้ติดตามหลักหมื่น หลักแสน ได้นั้น…

Advertisement

เขาทำกันอย่างไร?

 

“ถนัดชิม”

ถนัดชิม สายของหวานเพจดังที่มียอดผู้ติดตาม 4.3 แสนคน มีจุดเริ่มต้นจากการชอบนั่งทำงานในคาเฟ่ ชอบถ่ายรูป ของ 3 เพื่อนซี้ สุ-สุทิพยาพร ธนะโชติ, เฟรช-ธนพงศ์ อินทุวรรณรัตน์, ปุ้ย-ภูวดล ป่านสกุล สมัยเรียนปี 4 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้ง 3 คนเล่าด้วยกันว่า ช่วงเรียนปี 4 เรามีเวลาว่างเยอะ เพราะเรียนน้อยลง ก็ชวนกันไปนั่งคาเฟ่ หาอะไรกินใหม่ๆ ร้านใหม่ๆ ซึ่งเราชอบถ่ายรูป เมื่อถ่ายรูปเก็บไว้เยอะๆ จนวันหนึ่งก็มานั่งคุยกันว่า ลองเปิดเพจเล่นๆ ไหม ซึ่งช่วงแรกๆ ก็ไม่ได้ลงบ่อย นานๆ ลงที จนมีผู้ติดตามเยอะขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจทำจริงจัง

“เราเปิดเพจได้ 1-2 อาทิตย์ ก็เริ่มมีคนส่งของมาให้ถ่ายให้รีวิว ช่วงนั้นดีใจมาก เพราะเราไม่เคยรู้เลยว่า มันจะเป็นงานเป็นอาชีพได้ หลังจากนั้น จึงตัดสินใจทำอย่างจริงจัง แนะนำอาหารจริงจังมากขึ้น”

จากงาน “อดิเรก” ก็กลายมาเป็น “งาน”

“เราชอบเสพร้านใหม่ๆ จุดเด่นของเราคือ ถ่ายรูปสวย มีอาร์ตเวิร์ก อัพเดตร้านใหม่ๆ เราพยายามอัพเดตให้ลูกเพจของเราให้เร็วที่สุด ซึ่งเพจเราไม่ได้มีแค่เรื่องอาหาร แต่เป็นเชิงไลฟ์สไตล์ กินเที่ยว ซึ่งร้านอาหารไม่ใช่แค่เรื่องกินอย่างเดียว แต่มีเรื่องไลฟ์สไตล์ ศิลปะ รวมอยู่ด้วย”

ปัจจุบันเพจถนัดชิมเป็นได้ 2 ปีแล้ว ทั้ง 3 เผยว่า มีงานเข้ามาค่อนข้างเยอะ โดยมีเข้ามาทุกรูปแบบ ทั้งธนาคาร ร้านค้า สายการบิน โดยมีรายได้ประมาณ 6 หลักต่อเดือน

ปังเวอร์ขนาดนี้ เจ้าของเพจแง้มเคล็ดลับว่า 1.ต้องชอบอัพเดตอะไรใหม่ๆ ชอบติดตามโลก อัพเดตตัวเองเสมอ อันนี้สำคัญ 2.ถ้าอยากเปิดเพจ ความสม่ำเสมอ สำคัญ เห็นหลายคนอยากทำเพจ พอทำมาๆ แล้วเหนื่อย ก็เริ่มเบื่อ แต่ถ้าข้ามจุดที่ไม่เห็นอะไรเลยไปได้ ก็จะประสบความสำเร็จ

 

“พยูนบูด ตะลุยกิน”

พยูนบูด ตะลุยกิน รางวัลสายหม้อไฟ

ต่อด้วยเพจดังที่มียอดคนติดตาม 3.7 แสนคน เจ้าของเพจ “เร-ชนก ชาติสุทธิ” อายุ 33 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า เพจนี้เริ่มมาจากงานอดิเรกที่เป็นคนชอบกินอยู่แล้ว และเวลาไปกินก็จะถ่ายรูปเพื่อมาแบ่งปันข้อมูลให้กับเพื่อนๆ ก่อนเริ่มเปิดเพจอย่างจริงจังเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

“เรารู้สึกว่า การกินคือความสุขเบื้องต้นของมนุษย์ เราจึงกำหนดโจทย์เวลาไปกินว่า วันนี้เราจะไปกินอะไร และค่อยๆ หาร้านมาแบ่งปัน ส่วนตัวชอบร้านที่คนไม่ค่อยรู้จักมาก เพราะมีเสน่ห์ของสตรีทฟู้ด เสน่ห์ของร้านที่คนทำเป็นชาตินั้นๆ เราจะได้รสชาติ และเรื่องราวต่างๆ ผ่านทางอาหาร”

เมื่อทำเพจได้สักพักใหญ่ ก็เริ่มมีคนติดต่อเข้ามาให้ไปรีวิวอาหาร แต่ถึงกระนั้น สาวเรก็รีบบอกว่า “รายได้ไม่ได้มาก” เพราะไม่ใช่สายแมส เพราะแม้จะมีงานสปอร์นเซอร์เข้ามา แต่เธอก็ยังต้องการหาอินสไปเรชั่นที่จะหาร้านใหม่ๆ ด้วยตัวเอง

ซึ่งการรีวิวอาหาร เธอจะให้ความสำคัญกับคุณภาพอาหาร มาเป็นอันดับแรก เพราะเป็นเรื่องสากล เพราะจบการศึกษาคณะคหกรรมศาสตร์ ด้านอาหารและโภชนาการ มรภ.ราชมงคลโชติเวช ซึ่งถ้าร้านไหนไม่เข้ามาตรฐานนี้ เธอแคนเซิลงานทันที

“เมื่อก่อนเป็นโภชนากร เมื่อมาเป็นบล็อกเกอร์ เราก็นำความรู้ตรงนี้มาทำงาน ส่วนเรื่องรสชาตินั้น มองว่าเป็นอัตตาส่วนบุคคล บางครั้งอร่อยของเรา อาจจะไม่อร่อยของคนอื่น หรืออร่อยของคนต่างชาติ เราไปทานและรู้สึกไม่อร่อย เราจะไม่ตัดสินในสิ่งนั้น แต่จะตัดสินในเรื่องของความสะอาด ความสดใหม่ของอาหาร”

นอกจากมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่รัก ได้แบ่งปันของอร่อยแล้ว สิ่งที่ทำให้รู้สึกถึง “คุณค่า” ของการเป็นบล็อกเกอร์ คือ การทำให้ร้านดีๆ ขายอาหารราคาถูก มีลูกค่าเพิ่มขึ้น

“ร้านบางร้านเป็นร้านที่ดี และอาจจะไม่มีโอกาสให้คนรู้ การที่เราชี้เป้า หรือการทำให้ร้านเขามีลูกค้า เรามีความสุขที่จะทำให้เขามีอาชีพ และอยู่ต่อไปได้”

สำหรับใครที่อยากทำเพจแล้วให้มีคนติดตามเยอะ เจ้าของเพจ รีบบอกทันทีว่า ไม่เก่งทำเพจทำให้คนเยอะ แต่สิ่งที่รู้คือ ให้เรารักในสิ่งที่ทำ เราจะไม่เหนื่อย และเราจะมีความสุขที่ได้ไปชิมอาหารใหม่ๆ เราจะมีความสุขที่ไปรอคิว 6 ชั่วโมง เพื่อได้กินข้าวร้านหนึ่ง ถ้าเรามีความสุขในสิ่งนั้น มันจะสื่อลงในคำพูด สื่อลงไปในการเขียน สื่อลงไปในรีวิว แล้วเพจก็จะปังเอง

 

“Eatwithpete – กินกับพีท”

พีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนธ์ เพจกินกับพีท กับรางวัลสายอาหารญี่ปุ่น

เพจนี้ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเปิดมานานกว่า 9 ปี มียอดคนติดตาม 4.3 แสนคน

พีท-พีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนท์ อายุ 32 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเพจว่า เกิดจากเวลาไปโบสถ์กับที่บ้าน ครอบครัวชอบไปกินสุกี้ขาประจำ ซึ่งกินบ่อยจนเขาเบื่อ จึงเสนอให้ไปหาร้านใหม่ๆ กิน ที่บ้านจึงมอบหมายให้เขาเป็นคนเลือกร้าน และพอกินเสร็จก็จะถ่ายรูปและอัพลงเฟซบุ๊กเก็บไว้เผื่อครั้งหน้ากลับมากินอีก จะได้สั่งเมนูที่เคยกิน บวกกับเวลาไปกินอาหารกับเพื่อนๆ เขาก็จะเป็นคนเลือกร้าน จึงกลายเป็นที่มาของชื่อเพจ “กินกับพีท” ในที่สุด

“ผมรับประทานอาหารได้หมดตั้งแต่สตรีทฟู้ดยันโรงแรม แต่ที่ชอบเป็นพิเศษ ชอบอาหารไทย และญี่ปุ่น ไปเที่ยวที่ไหนมา ก็ต้องมาแก้ที่อาหารไทย ส่วนอาหารญี่ปุ่น ก็มีรสชาติหลากหลาย 2 ชาตินี้กินให้ตายก็กินได้ไม่เบื่อ”

เมื่อเปิดเพจได้ครึ่งปี ก็เริ่มมีงานติดต่อเข้ามา งานแรกๆ เขาได้งานเขียนบทความลงสเปเชียลก๊อบปี้แนะนำร้านอาหาร หลังจากนั้นก็งานเข้ามาเรื่อยๆ ปัจจุบันงานประจำ 70 เปอร์เซ็นต์เกี่ยวกับการรีวิวอาหาร อีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นไลฟ์สไตล์ โดยมีเรื่องธนาคาร รถยนต์ ไอที แอพพลิเคชั่นต่างๆ ของเล่น รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาร้านอาหารด้วย รายได้เฉลี่ย 3-4 แสนต่อเดือน “ถือเป็นอาชีพที่ดี” พีทเผย แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ “ความสุข” ที่สามารถสร้างกระแสการกินได้ แนะนำบอกต่อความอร่อย แล้วคนตามไปกินก็แฮปปี้ตาม

“งานนี้ สนุกตรงที่เราได้เจออะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ และวงการอาหาร มีของกินใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราสนุกกับการกินในทุกๆ วัน ทำให้ได้ความอร่อยที่หลากหลายมากขึ้น ยิ่งปัจจุบัน วงการอาหารมี ฟิวชั่น ฟู้ด จากชาติต่างๆ มากขึ้น เราก็เลยได้รับรสชาติจากชาติใหม่ๆ มากขึ้น จึงเป็นอะไรที่ ทำแล้วไม่เบื่อ สนุกไปทุกวัน”

จากประสบการณ์ 9 ปี พีทแชร์เคล็ดลับทำเพจให้ปังว่า เอาความชอบก่อน ชอบอะไร จะเป็นกิน เที่ยว ออกกำลังกาย ได้ทุกอย่าง ขอให้เราชอบ เราจะอยู่กับมันได้ และเมื่ออยู่กับมันปุ๊บ เราก็จะมีความสม่ำเสมอในการทำคอนเทนต์ ทำอย่างต่อเนื่อง เช่น 1 สัปดาห์ มี 3 คอนเทนต์ ถ้าขยันมากทุกวันต้องมี พอมีความต่อเนื่องก็จะเกิดการจดจำได้เร็วขึ้น

 

“เซมากูแดก”

เจษ เพจเซมากูแดก รางวัลสายเนื้อสัตว์เพจน้องใหม่ที่เปิดได้เพียง 2 ปี แต่มียอดผู้ติดตาม 7.2 หมื่นคน “เจษ” อายุ 36 ปี เจ้าของเพจที่ขอไม่เปิดหน้า เพราะเขาต้องการเน้นอาหารเป็นหลัก เล่าว่า จากที่มีโอกาสไปเรียนและทำงานที่ญี่ปุ่น 10 ปี และเป็นคนชอบเนื้อมาก จึงมีโอกาสได้ชิมเนื้อวากิลหลายประเภท เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงเปิดเพจรีวิวอาหาร ซึ่งจริงๆ โพสต์รีวิวอาหารหลายอย่าง แต่ไม่รู้เป็นไร พอโพสต์เนื้อลงไป คนดูโพสต์พุ่งเกินล้าน ทั้งที่เป็นเพจใหม่ จึงรู้สึกว่าเนื้อมีพลัง เพจจึงเน้นรีวิว “เนื้อ” เป็นหลัก

“พอทำสักพักเริ่มมีงานติดต่อเข้ามาให้ไปรีวิวค่อนข้างเยอะ ตอนนี้เข้าสู่ยุคของไมโครอินฟลูเอนเซอร์ นาโนอินฟลูเอนเซอร์ ไม่จำเป็นต้องมีคนตามเยอะ แต่พอตรงทาเก็ตปุ๊บมันจะดังออกไปเอง ยอดอ่านโพสต์ของผม เกินล้านมาหลายรอบแล้ว หลักการรีวิว เราถือว่าเราอยู่ญี่ปุ่นเกือบ 10 ปี เรากินเนื้อญี่ปุ่นมาเยอะมาก อาจไม่เท่ามืออาชีพด้านนี้ แต่เราก็มีความมั่นใจระดับหนึ่ง ถ้าเจอร้

านที่ไม่ใช่ ผมก็จะบอกตรงๆ ว่า มันไม่ใช่ ขอไม่ลง และก็คอมเมนต์ไปว่า เนื้อญี่ปุ่นเป็นแบบนี้ๆ เราพยายามแนะนำเท่าที่เรารู้ ก็ให้เขาไปทำการบ้านมา และถ้าอยากให้เรารีวิวใหม่ เรายินดี เราพยายามไม่ลงร้านที่รู้สึกว่าไม่อร่อย อยากให้ลูกเพจได้ทานของอร่อยจริงๆ”

เช่นนี้แล้ว เซมากูแดก จึงเป็นงานที่เจษทำเป็น “งานอดิเรก” เท่านั้น

“ผมไม่มีรายได้เท่าไหร่ เพราะมีช่วงที่เราเปิดรับเงิน แล้วพอมันไม่อร่อย คือ รับเงินมาแล้วก็ต้องเขียน ช่วงนี้ไม่ค่อยอยากรับเงินเท่าไหร่ แต่ถ้าร้านมีกิจกรรมทำกับลูกเพจ เช่น มีวอลเชอร์ อันนี้ได้”

ไม่ใช่จะกินแต่เนื้อญี่ปุ่น “เนื้อไทย” เจษก็ไปโดนมาเหมือนกัน ซึ่งเขาบอกเต็มปากเต็มคำว่า ช่วงนี้เนื้อไทยอร่อยมากขึ้น

“มีคนไทยเก่งๆ ที่มีวิธีการเตรียมการย่างเนื้อให้ออกมาอร่อย เนื้อไทยไม่ใช่เล่นๆ เลย”

ปิดท้ายด้วยเทคนิคการทำเพจ เจษ แนะนำว่า 1.ต้องหาจุดยืนให้เจอ เพราะในวงการมีรุ่นพี่ที่ทำมาก่อนเราเยอะ และมันเป็นสิ่งที่ใครก็เริ่มได้ง่ายๆ 2.หาจุดที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเรา อย่างผมไม่เปิดหน้า อยากจะให้คนโฟกัสอาหาร

 

“Foodyoucaneat เรากินได้ คุณก็กินได้”

สายไก่ทอด นำเสนอโดย Food You Can Eat

ปิดท้ายด้วยเพจที่เปิดมา 4 ปี มียอดผู้ติดตาม 3.4 แสนคน สาวสวยหน้าใส “บลิ๊ง-พัณณิตา จันทรคุปต์” วัย 24 ปี ที่มีจุดเริ่มต้นไม่ต่างจากเพจอื่นๆ เป็นคนชอบกินมากๆ ตั้งแต่สมัยเรียน เวลาไปกินร้านไหนก็จะถ่ายรูปเก็บไว้ แต่พอถ่ายมากๆ เข้า เมโมรีเต็ม จะลบก็เสียดาย จึงเปิดอินสตาแกรมไว้สำหรับลงรูปอาหารโดยเฉพาะ

“ตอนนั้น ไม่รู้ว่าเพจอาหารคืออะไร บล็อกเกอร์คืออะไร และไม่เคยล็อกไอจี อยู่ๆ วันหนึ่งก็มีคนมากดไลค์รูปอาหารเราเยอะมาก พอมีคนมาไลค์ ก็เลยลองใส่แคปชั่น ชื่อเมนู กับราคา ไม่ได้เขียนว่าอร่อยยังไง จากนั้น คนก็มาตามขึ้นเรื่อยๆ จากพัน เป็นหมื่น หลังจากนั้นก็เริ่มใส่ว่า รู้สึกกับอาหารเมนูนี้ยังไง จนกระทั่งไปๆ มาๆ ก็มีคนติดต่อมาให้ช่วยมารีวิวอาหาร แล้วสมัยนั้นเป็นนักศึกษา แค่คนชวนไปกิน ก็ดีใจมากๆ ก็ชวนเพื่อนไปกินหลังเลิกเรียน ทำสักพักก็เริ่มมาเป็นอาชีพ ซึ่งตอนั้นไม่กล้าคิดเงิน เด็กมหาลัยได้กินของใหม่ๆ ก็ดีใจแล้ว เริ่มจาก 500 บาท แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ”

ทั้งที่กำลังไปได้ดีกับเพจอาหาร มียอดผู้ติดตาม 4 แสนคน ก็มาเจอเหตุการณ์ “โดนแฮกไอจีเรียกค่าไถ่”

“ตอนนั้นเรียนปี 4 แล้ว แล้วมีงานที่ดิวไว้ 4 งาน งานก็แคนเซิลหมดเลย เป็นวิกฤตชีวิตที่ทำให้ถอดใจเกือบจะเลิกทำ แต่เพราะได้กำลังใจจากเพื่อน จึงหันมาเปิดเพจเฟซบุ๊กแทน”

ซึ่งจริงๆ สาวบลิ๊งอยู่ในวงการนี้ มา 5-6 ปีแล้ว ซึ่งเธอให้ความสำคัญกับอาหารไทย เพราะเป็นเพจที่มีเด็กตามเยอะ อยากให้เด็กรักความเป็นไทย อาหารไทยมีเสน่ห์

อีกหนึ่งจุดยืนที่เธอทำมาตลอด คือ จะไม่รองาน แต่จะออกไปเก็บคอนเทนต์เทน ร้านไหนได้ยินว่าอร่อย ก็จะไปลองกิน

“เราไม่ได้วัดว่าร้านแพงต้องอร่อย ร้านถูกต้องไม่อร่อย บางร้านที่เราไปรีวิวให้เค้าเอง จากร้านรถเข็น กลายมาเป็นที่รู้จัก คนมาต่อแถว เขาก็มาขอบคุณ ซึ่งนี่คือเสน่ห์ที่ทำให้บลิ๊งขอบงานที่เราไปทำให้เองมากกว่าคนมาจ้างเรา”

แม้เพจจะสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ แต่เธอก็ว่ายังคงเป็นงานอดิเรก เพราะตัวเองก็มีงานประจำทำ แต่ที่ทำเพจไปด้วย เพราะเพจกลายเป็นสิ่งที่ทำในชีวิตจนชินแล้ว

ยืนยันว่าเป็นงานทำยามว่าง แต่ด้วยประสบการณ์มากกว่า 5 ปี เธอแนะนำคนที่อยากเปิดเพจอย่างเธอว่า ขอให้มีใจรัก และไม่ทิ้งมันก็พอ รู้สึกยังไงให้เขียนไป ถ่ายรูปไม่จำเป็นต้องสวย เน้นความเป็นเรา เป็นตัวของตัวเองดีที่สุด

“จรรยาบรรณก็ควรมี ไม่ควรอวยเกินเหตุ เพราะถ้าไม่จริง คนที่เสียคือเราเอง เขาจะมองว่าเราไม่จริง และจะไม่อยากติดตามเรา เพราะเพจนี้อะไรก็อวยไปหมด ควรจะเขียนตามจริง แต่เราจะไม่เขียนเชิงทำลายร้านอาหาร เช่น เมนูนี้ไม่อร่อย อย่าสั่ง ไม่มี เขียนแค่แนะนำเมนูพอ เช่น ร้านนี้อร่อยจริงๆ ก็จะเขียนว่า แนะนำเมนูนี้”

อาชีพในฝันใครหลายคน ที่จริงๆ แล้วเบื้องหลังนั้นก็ต้องมีใจรักและความพยามยาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image