ผู้สูงอายุยุคใหม่’ยืนด้วยตนเอง’

ภาพประกอบ

ได้ฟังเรื่องราวจากคุณปู่ “สงัด สิทธิรุ่ง” อายุ 81 ปี ชาว จ.สมุทรสงคราม แล้วก็อดสะอื้นในใจไม่ได้ เพราะแม้มีลูกถึง 6 คน ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันชีวิตบั้นปลายว่าจะอยู่สบาย!

ปู่สงัดเล่าว่า ตนมีลูกถึง 6 คน ตอนแรกคิดว่าลูกจะเลี้ยงตนในยามแก่ชราได้บ้าง แต่ก็ไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจ เพราะลูกต่างทยอยเสียชีวิตไปถึง 4 คน ส่วน 2 คนที่มีชีวิต คนหนึ่งติดคุกอยู่ อีกคนกระดูกทับเส้นประสาทส่งผลให้เดินไม่ได้ ทำให้ปัจจุบันยังต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ด้วยการเผาถ่านเผาฟืนเลี้ยงดู 4 ชีวิตในบ้าน ได้แก่ แม่ ภรรยา ลูกที่เดินไม่ได้ และหลานๆ

“ทุกวันนี้ลำบากมาก ต้องทำงานทุกวัน วันไหนไม่ทำก็ไม่มีรายได้ ไม่มีอะไรกิน ก็ไม่รู้ว่าถ้าผมล้มอีกคน ครอบครัวจะอยู่อย่างไร” ปู่สงัดเล่าน้ำเสียงเศร้า

นี่เป็นอุทาหรณ์คนมีลูกว่าอย่านิ่งนอนใจปล่อยตัวปล่อยใจรอพึ่งลูกหลาน แต่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมยืนหยัดด้วยตนเอง เพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย

Advertisement

ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะปี 2559 เรามียอดผู้สูงอายุไทย 9.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 จากประชากรทั้งหมด 65.3 ล้านคน ขณะที่ปี 2569 จะมียอดผู้สูงอายุไทย 15 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 23 จากประชากรทั้งหมด 66.3 ล้านคน กระทั่งปี 2574 ที่คาดการณ์ว่าจะมียอดผู้สูงอายุไทย 20 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 31 จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน กล่าวคือในอนาคตลูกหลาน 1 คนนอกจากต้องเลี้ยงดูตนเองให้อยู่รอดแล้ว ยังต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ปู่ย่าตายายอีกด้วย

รศ.สุชีลา ตันชัยนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันปัญญาสิกขา กล่าวว่า สังคมเปลี่ยนไปแล้ว ลูกหลานมีภาระและข้อจำกัดมากขึ้น อาจไม่ได้เลี้ยงดูพ่อแม่เต็มที่อย่างสังคมในอดีต ฉะนั้นพ่อแม่ที่เป็นผู้สูงอายุต้องตระหนักว่า ทำอย่างไรจะพึ่งพาตนเองได้มากที่สุดอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและคุณภาพ

“ตรงนี้ต้องเริ่มตั้งแต่การปฏิรูปแนวคิดที่ผู้สูงอายุเองต้องเห็นคุณค่าในตัวเอง จากนั้นเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ที่จะมาสร้างหลักประกันทางรายได้ เช่น การทำงานต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงหลักประกันทางอาหาร ที่ผู้สูงอายุสามารถบริโภคพืชผักสวนครัวที่ปลูกเองได้ จากการสนับสนุนองค์ความรู้จากชุมชน และการมีสภาพจิตใจที่สงบสุขด้วยหลักธรรมคำสอน จากการสร้างเครือข่ายทางศาสนา”

Advertisement

กระนั้นพระพุทธศาสนาก็สอนให้คนรู้จักกตัญญูรู้คุณ หากลูกคนใดเลี้ยงดูพ่อแม่นอกจากผลบุญยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรได้รับการยกย่องจากสังคมอีกด้วย แต่สังคมสูงวัยที่ทำให้ลูกหลานเลี้ยงดูพ่อแม่น้อยลง จะเป็นบาปหรือไม่นั้น รศ.สุชีลามองว่า ก็พูดยาก แต่พุทธศาสนาก็สอนให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ฉะนั้นพ่อแม่จะต้องเข้าใจการเลี้ยงดูของลูกที่เปลี่ยนไป เช่น กลับมาเยี่ยม ซื้อของมาให้ ส่งเงินมาให้ เจ็บป่วยยังกลับมาดูแล ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนความหมายการกตัญญูให้สอดคล้องกับสภาวะสังคมที่เปลี่ยนไป ที่การกตัญญูอาจไม่ใช่การต้องเลี้ยงดูเสมอไป

ฟากภาครัฐพร้อมส่งเสริมผู้สูงอายุให้พึ่งพาตนเอง นายอนุสันต์ เทียนทอง อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า มองว่ารายได้จะเป็นหลักประกันให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีกองทุนการออมแห่งชาติ สามารถออมเงินได้ตั้งแต่วัยทำงานจนถึงสูงอายุ โดยรัฐจะสมทบเงินออม เพื่อมีเงินบำนาญไว้ใช้ในยามเกษียณ ขณะเดียวกันหากผู้สูงอายุต้องการทุนเพื่อประกอบกิจการอาชีพ ผส.มีกองทุนผู้สูงอายุ ปล่อยกู้ไม่คิดดอกเบี้ย ให้ผู้สูงอายุรายละ 3 หมื่นบาท

“เงินออมคือสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้สูงอายุจะพึ่งตัวเองได้ ถัดมาเป็นเรื่องสุขภาพ ตลอดจนการจัดสภาพแวดล้อมที่รองรับ เหล่านี้ต้องทำตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างผมที่จะเกษียณอายุราชการในปีนี้ ตอนนี้พยายามจัดแจงปรับปรุงบ้าน ให้มีทางลาด ราวจับ พื้นไม่ลื่น แสงสว่างเพียงพอ” นายอนุสันต์กล่าวทิ้งท้าย

 

lad01230659p2

สงัด-รศ.สุชีลา-อนุสันต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image