ผู้ชายช่วยทำงานบ้าน ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

ผู้ชายช่วยทำงานบ้าน ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

ที่ผ่านมามักมีความคิดว่า การทำงานบ้าน เลี้ยงลูก เป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น แม้ว่าผู้หญิงจะมีภาระหน้าที่หรือต้องออกไปทำงานนอกบ้านเช่นเดียวกับผู้ชาย

ซึ่งความคิดเหล่านี้ สะท้อนสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงต่อสตรีที่เกิดจากกรอบคิดและวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ทำให้ผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิง ส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ ทำให้สถานภาพของผู้หญิงในสังคมไทยตกอยู่ในฐานะ “เหยื่อของความไม่เท่าเทียม” มาโดยตลอด

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จับมือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีภายใต้แนวคิด “งานบ้านเป็นหน้าที่ของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” เชิญชวนผู้ชายช่วยทำงานบ้านไม่โยนภาระให้ฝ่ายหญิง หวังลดช่องว่างสร้างความเข้าใจที่ดีในชีวิตคู่ ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

Advertisement

ผู้ชาย-ความเชื่อ-งานบ้าน

จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยผลสำรวจความคิดเห็นต่อการทำงานบ้านของกลุ่มผู้ชาย อายุ 18-50 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,995 ตัวอย่าง ว่า ร้อยละ 54.9 มองว่าผู้ชายช่วยงานบ้านเป็นเรื่องที่ควรภาคภูมิใจ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ขณะที่ร้อยละ 16.9 ไม่เห็นด้วยต่อเรื่องนี้ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง ร้อยละ 53.5 มองว่าผู้หญิงที่ดีต้องทำงานบ้าน เป็นแม่ศรีเรือน อย่าให้บกพร่อง ซึ่งร้อยละ 47 มองว่าผู้ชายมีหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ที่น่าห่วงคือ 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 37.5 มองว่า แม้ผู้หญิงจะทำงานนอกบ้าน แต่งานบ้านก็ยังเป็นของผู้หญิงอยู่ดี อีกทั้งร้อยละ 33.2 ระบุว่า งานบ้านไม่ใช่หน้าที่ของผู้ชาย แต่เป็นหน้าที่ของผู้หญิง

“จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ชายบางส่วนยังมีความเชื่อที่ว่างานบ้านเป็นหน้าที่ผู้หญิง ซึ่งสาเหตุมาจากความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ถูกบอกถูกสอนว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ส่วนผู้หญิงต้องทำงานบ้าน เลี้ยงลูก หากปล่อยให้ผู้ชายทำจะเสียศักดิ์ศรี ความคิดความเชื่อนี้ ยังแข็งแรงมาก ในผู้ชายวัย 45 ปีขึ้นไป” จรีย์เผย

จรีย์ (ขวา)
ซินดี้ – ไบรอน – จะเด็จ

ผู้ชายเปลี่ยนได้

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ความเห็นว่า สังคมไทยปลูกฝังทัศนคติชายเป็นใหญ่ผ่านครอบครัว ครอบครัวเป็นหน่วยความเชื่อเรื่องแรก ในทุกๆ บ้าน โดยรุ่นอายุ 45 ปีขึ้นไป จะเห็นชัด เพราะเห็นแม่ทำงานบ้านตั้งแต่ยังเด็ก เห็นพี่สาว-น้องสาวทำงานบ้าน ส่วนตัวเขาเองไม่ต้องทำอะไร พอไปเรียนหนังสือ ก็เจออย่างนี้อีก พอดูสื่อดูละคร มันก็เห็นแต่ภาพผู้หญิงทำงานบ้าน ผู้ชายก็เลยเชื่อว่างานนี้เป็นงานของผู้หญิง รวมถึงยังมีผู้ชายกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อว่าเขามีของมีอะไร แล้วไปซักผ้าถุง ซักชุดชั้นใน หรือลอดราวผ้า มันจะทำให้ของขลังในตัวเขาเสื่อม

Advertisement

“แน่นอน ตรงนี้เราจะไปโทษผู้ชายไม่ได้ เพราะเขาถูกปลูกฝังอย่างนี้มาตลอด ดังนั้น เราก็ต้องเปลี่ยนมัน เพราะเรามีความเชื่อว่าคนเรามันเปลี่ยนได้ งานบ้านไม่ใช่เรื่องเสียฟอร์ม เรื่องเสียศักดิ์ศรี ไม่ใช่เรื่องกลัวเมีย หรืออะไร สามารถที่จะเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกันได้ งานบ้านเป็นอันหนึ่งที่จะทำให้สัมพันธภาพระหว่างชายและหญิงเกิดขึ้นในครอบครัวได้ ดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่จริงๆ เป็นปัญหาใหญ่”

“เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เพราะสังคมไทย ความคิดชายเป็นใหญ่ค่อนข้างเข้มข้นมาก การช่วยทำงานบ้าน ความขัดแย้งลดลงแน่นอน หรือภรรยาคลอดลูก ถ้าผู้ชายไม่ช่วยทำงานบ้าน หรือช่วยเลี้ยงลูก ผู้หญิงจะรู้สึกโดดเดี่ยว เราเคยได้ยินว่าผู้หญิงทำร้ายลูก ซึ่งนี่เกิดจากความเครียด เป็นปัญหา แต่ถ้าผู้ชายช่วยเลี้ยงลูก ผู้ชายจะได้เรียนรู้ และมีความสุขด้วย”

งานบ้านลดช่องว่างในครอบครัว

การช่วยกันทำงานบ้าน เลี้ยงลูก จะทำให้คู่สามีภรรยารับรู้และเข้าใจถึงความเหนื่อยยากของอีกฝ่าย เป็นการแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน ทำให้มีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น ลดช่องว่างระหว่างกันและเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีของคนในครอบครัว รวมถึงชีวิตคู่ในแบบอื่นๆ ด้วย

ครอบครัวนักแสดงชื่อดัง ซินดี้ สิรินยา-ไบรอน บิชอฟ เผยถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว เมื่อสามีช่วยภรรยาทำงานบ้านและเลี้ยงลูกว่า ไบรอนเกิดมาในครอบครัวที่แม่ปลูกฝังให้ช่วยทำงานบ้าน เพราะบ้านเป็นของเราทุกคน ไม่ใช่สิ่งที่ต้องลดตัวลงไปทำ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำร่วมกัน

“แม้ครอบครัวเราจะมีแม่บ้านช่วยทำงานบ้าน แต่เรื่องการเลี้ยงลูก ไบรอนช่วยเลี้ยงลูกทุกขั้นตอน ซึ่งความสัมพันธ์ของเราหนักแน่นขึ้น เมื่อเรามีลูก เมื่อเรามาแบ่งภาระกัน” ซินดี้เผย

ด้าน ไบรอนบอกเพิ่มเติม “สามีมักมีความคิดว่าต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งอันนี้เข้าใจ แต่อย่ามองข้ามความสำคัญของการอยู่บ้านเลี้ยงลูก และทำงานบ้าน ที่เผลอๆ อาจหนักกว่างานที่ผู้ชายทำเสียอีก เพราะไม่มีวันหยุดวันลา เป็นงานที่ยากที่สุด เหนื่อยที่สุด และไม่ได้ผลตอบแทนเลย”

ขณะที่ ซินดี้เสริมว่า ในสายตาของผู้หญิง ถ้าคุณเป็นแมนจริง และการที่ช่วยภรรยาทำงานบ้านเลี้ยงลูก เป็นอะไรที่ “ที่สุด” แล้ว

“มันดูหล่อ ดูเท่ อย่าไปมองว่าผู้ชายต้องแมน ด้วยการกระทำความรุนแรง ความแมนจริงๆ อยู่ที่ความรักที่เรามี การให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว” ซินดี้ทิ้งท้าย

ความสุขเกิดขึ้นเพราะช่วยทำงานบ้าน

นายรัชเวทย์ คำเสมอคชสีห์ อายุ 54 ปี ประธานชุมชนซอยสินทรัพย์ เขตดุสิต กทม. กล่าวว่า จากเดิมที่เคยคิดว่าผู้ชายต้องเป็นใหญ่ในบ้าน ไม่เคยทำงานบ้าน ภรรยาก็ต้องเป็นคนทำทุกอย่าง บวกกับเป็นคนสำมะเลเทเมา เล่นการพนัน ว่าเมีย ด่าลูก ทำอย่างนี้มาเป็น 10 ปี ชีวิตตอนนั้นเหมือนกับครอบครัวเราไม่เป็นครอบครัว กระทั่งได้ร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ทำให้เราดื่มน้ำลง และมีสติมากขึ้น อีกทั้งยังได้เห็นเคสหนักๆ ทำร้ายลูกเมีย จึงทำให้กลับใจ ไม่อยากทำร้ายลูกเมีย

“แต่ที่มาเปลี่ยนจริงๆ ตอนที่มีหลาน เราไม่อยากให้บ้านสกปรก จึงเริ่มกวาดบ้าน ถูบ้าน พอได้เริ่มทำก็ทำให้รู้ว่า งานบ้านคือการออกกำลังกาย ได้เหงื่อ สดชื่น”

ไม่เพียงได้สุขภาพที่ดี สัมพันธภาพในครอบครัวก็ดีขึ้นทันตาเห็น

“เมื่อผมเปลี่ยน ลูกจะมาพูดกับผมมากขึ้น ภรรยาก็เอ่ยปากชม ว่ากวาดบ้านสะอาดดีนะ ก็ทำให้ผมมีกำลังใจ ชีวิตมีความสุขขึ้น ครอบครัวเราได้ทำกิจกรรมร่วมกัน สนิทกัน และไปเที่ยวด้วยกันมากขึ้น”

มาถึงตรงนี้ รัชเวทย์ยืนยันหนักแน่นว่า การช่วยกันทำงานบ้านช่วยลดความรุนแรงในครอบครัวได้จริง และทำให้ครอบครัวรักกันมากขึ้นด้วย

“เพราะเราช่วยเขา เขาช่วยเรา ทำให้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น”

สุดท้าย พ่อบ้านคนนี้ แนะนำผู้ชายที่ยังมีทัศนคติเก่าๆ ต่อการทำงานบ้านว่า อยากให้ผู้ชายมาคิดใหม่ มาช่วยครอบครัวทำงานบ้าน ความสุขที่แท้จริงก็จะมาหาเราเอง ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น

“เรื่องทำงานบ้าน คนคิดว่าอายเพื่อน เพื่อนแซว เสียฟอร์ม แต่พอเราทำบ่อยๆ เพื่อนก็จะมองเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องเสียฟอร์ม และทำให้เรากลายเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย” รัชเวทย์บอกพร้อมรอยยิ้ม

การช่วยกันทำงานบ้านจึงเป็นการทลายความคิด ความเชื่อในอดีตลง เมื่อผู้ชายสามารถทำงานได้ เลี้ยงลูกได้ ย่อมนำไปสู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างเป็นรูปธรรม

รัชเวทย์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image