เรื่องที่อาจลืมคิด…’นาทีชีวิต’ ในลิฟต์คอนโด!

วันนี้ขออนุญาตชวนคุยเรื่องการใช้ลิฟต์ในคอนโดมิเนียมกันนะคะ

ในช่วง 1 ปีเศษมานี้ มีเหตุแห่งการปลงอนิจจังที่เรียกว่ามรณานุสติเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ทุกเรื่องมีจุดไคลแมกซ์เหมือนกันหมดคือ ไม่น่าเชื่อว่า …เรื่องแค่นี้… จะทำให้ถึงกับเสียชีวิตได้

เรื่องแรก มีข้าราชการอัยการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง แช่บ่อน้ำพุร้อนนานเกินไปจนหมดสติ กว่าจะถึงมือหมอได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะเลือดข้นเพราะถูกอุณหภูมิร้อนเป็นเวลานานเกินไป ถ้าอธิบายให้เข้าใจเป็นภาษาพูดก็คือภาวะเลือดสุก

เรื่องที่สอง กรณีของคุณปอ-ทฤษฎี สหวงษ์ นักแสดงชาย ที่มีเหตุเสียชีวิตจากการเป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2

Advertisement

เรื่องที่สาม คุณแม่ของเพื่อนที่ทำงาน พักอาศัยในคอนโดฯ ชั้น 8 มีอุบัติเหตุล้มในห้องชุด มีการเรียกรถพยาบาลพร้อมทีมนางพยาบาลและบุรุษพยาบาลฉุกเฉิน

ประเด็นเกิดตรงที่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย อุบัติเหตุวันนั้นเดินเองไม่ได้ ต้องใส่เปลหาม ทุกอย่างเกือบจะเป็นปกติ เพียงแต่มาเจออุปสรรคเปลหามเข้าลิฟต์ไม่ได้ ทั้งลิฟต์ส่วนกลางและลิฟต์ขนของ

จริงๆ แล้ว ยังมีบันไดหนีไฟที่สามารถหามเปลคนไข้เดินลงได้ แต่นาทีฉุกเฉินตอนนั้นทีมฉุกเฉินโรงพยาบาลไม่ได้พิจารณาทางเลือกนี้ และตัดสินใจลงทางลิฟต์ ทำให้เปลหามถูกวางท่าทางใหม่ ทำมุม 45 องศา มีสภาพกึ่งยืนกึ่งนอน ผลคือผู้ป่วยสูงวัยร้องปวดหลังจนถึงชั้นล่าง บทสรุปอย่างย่นย่อคือในภายหลังมีการวินิจฉัยว่ากระดูกหลังยุบ และจากไปอย่างสงบ

ในส่วนของตัวอาคาร เรื่องนี้นำไปสู่คำถามถึงมาตรฐานอีกตัวหนึ่ง นั่นคือ “มาตรฐานการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่พักอาศัยในตึกสูง” เรื่องเก่าหรือใหม่ก็ไม่รู้ล่ะ แต่ไม่เคยได้ยินว่ากฎหมายจะบังคับให้ติดตั้งลิฟต์ยาวในคอนโดฯ คำว่าลิฟต์ยาวตัวลิฟต์จะเป็นแบบที่เห็นชินตาในโรงพยาบาล รูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า บางแห่งเตียงเข็นคนไข้จุได้ตั้ง 2 เตียงก็มี

เมื่อตามไปดูกฎหมาย สิ่งที่พบคือ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ตรวจสอบจากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522 ข้อ 43 ระบุสาระสำคัญกำหนดเรื่องค่าความปลอดภัยของน้ำหนักลิฟต์ กับโครงสร้างรองรับ เช่น ผนังจะต้องมีวัสดุทนไฟ การรับน้ำหนักต้องคำนวณ 4 เท่า ปุ่มกดต้องให้คนพิการ (อาจจะนั่งวีลแชร์) ก็ดี คนตาบอด (ใช้อักษรเบรล) ก็ดี สามารถใช้งานลิฟต์ได้อย่างคนปกติ

ในขณะที่สเปคหรือคุณสมบัติของลิฟต์ในปัจจุบัน มีตั้งแต่ราคาตัวละ 1 ล้านกว่าๆ ไปจนถึงตัวละ 20 ล้านบาท อยากจะให้วิ่งเร็วไฮสปีดก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายแพงหน่อย

สอบถามข้อมูลนักพัฒนาที่ดิน ได้รับคำอธิบายว่า ปกติคอนโดฯสูง 8 ชั้น ราคาตัวลิฟต์จะตก 1.3-1.4 ล้านบาท แต่ต้องรวมคอลิฟต์ (โครงสร้างรองรับ) เบ็ดเสร็จจุดติดตั้งลิฟต์ใช้เงินลงทุน 3-4 ล้านบาท ถ้าตึกสูง 15-20-30 ชั้นขึ้นไป ลิฟต์แต่ละตัวลงทุนหลัก 10 ล้านบาท เป็นต้น

ในทางปฏิบัติ คอนโดฯสามารถติดตั้งลิฟต์ยาวได้ แต่ต้องดูว่าวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์สอดคล้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะต้นทุนทุกอย่างจะถูกบวกไปในราคาห้องชุด(อยู่แล้ว)

สำหรับลิฟต์ในคอนโดฯจะเป็นแบบขนผู้โดยสาร (Passenger Lift) ล่าสุด เทรนด์ผู้สูงวัยทำให้บางโครงการติดตั้งลิฟต์บริการ (Service Lift) คอนเซ็ปต์ยูนิเวอร์แซลดีไซน์หรือการออกแบบใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย เช่น ประตูกว้าง 90 ซม. ลึก 2 เมตร สำหรับวีลแชร์เข้าได้ เป็นต้น

ในกรณีต้องการลิฟต์ยาว ถ้าหากติดตั้งอยู่ในคอนโดฯ อย่าลืมว่าการบำรุงรักษา ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายต่างๆ จะถูกรวมเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลาง คนทั้งตึกต้องร่วมรับผิดชอบเพราะเป็นลิฟต์ส่วนกลาง

ในขณะที่คอนโดฯเป็นอาคารประเภทที่อยู่อาศัย การออกแบบสำหรับรองรับผู้สูงวัย

เขาบอกว่า จะออกแบบเน้นป้องกันผู้สูงวัยจากความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ต้นทาง เช่น ทำราวจับ ทำทางลาดไม่ให้มีทางต่างระดับเพราะอาจจะหกล้มได้ เป็นต้น

ในทางเทคนิคการติดตั้งลิฟต์ยาวในคอนโดฯทำได้หมด ผู้บริโภคจะรับได้ไหมกับราคาห้องชุดที่แพงขึ้น การเคลื่อนตัวของลิฟต์จะช้าลงเพราะมีขนาดใหญ่ ใช้พลังงานมากขึ้น

ฝั่งผู้ประกอบการจะรับได้หรือเปล่าถ้ากระแสเรียกร้องให้ติดตั้งลิฟต์ยาวดังขึ้นเรื่อยๆ คำถามยังมีอีกจิปาถะบันเทิง

ปัญหานี้อาจจะเป็นปัญหาเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกจริงจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image