รู้จัก 2 ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว บอลประเพณี 74 นักกิจกรรมไม่สมัครเล่น

รู้จัก 2 ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว บอลประเพณี 74 นักกิจกรรมไม่สมัครเล่น

ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว – “งานฟุตบอลประเพณี” ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับได้ว่าเป็นงานใหญ่ ที่ไม่เพียงนิสิตและนักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัย จะรอคอยที่จะจัดงานสร้างความสามัคคี ผ่านกิจกรรมกระชับมิตรต่างๆ ที่จัดขึ้นพร้อมๆกับการแข่งขันฟุตบอลเท่านั้น

แต่ยังได้รับความสนใจจากสังคม ที่จะได้เห็นการแสดงออกของคนรุ่นใหม่อีกด้วย

นี่จึงเป็นเวทีที่เหล่านิสิตนักศึกษา ได้ถ่ายทอด แสดงตัวตนหลายรูปแบบ ได้รับความสนใจทั้งขบวนล้อการเมือง เสียดสีสังคม การแปรอักษร ยังรวมไปถึงผู้นำเชียร์ คฑากร และ “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 นับได้ว่าเป็นหน้าที่สำคัญของชาวจุฬาฯ ที่กว่าจะได้ตัวแทนนิสิตที่เหมาะสมจากฝั่งชายและหญิง จะต้องคัดเลือกอย่างเข้มข้น ทั้งทัศนคติ การตอบคำถามต่างๆ ที่ปีนี้มีผู้ส่งใบสมัครมากกว่า 450 คน

Advertisement
เบส-ภาคินี สิริวรวิทย์ และ เพียว-ศุภกิจ อรุณภัทรสกุล ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว

ก่อนจะได้ เบส-ภาคินี สิริวรวิทย์ และ เพียว-ศุภกิจ อรุณภัทรสกุล เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ในครั้งนี้ ตัวแทนเฟรชชี่ และซีเนียร์ ที่แม้จะแตกต่างกันทั้งคณะและชั้นปี แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ความสดใสโดยเฉพาะเวลาพูด

มีไม่มากครั้งนัก ที่จะได้เห็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นนิสิตเฟรชชี่ ชั้นปีที่ 1 แต่แม้จะเพิ่งเข้ามาศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ ได้เพียงไม่นาน แต่ประสบการณ์ของ เบส – ภาคินี สิริวรวิทย์ ก็ไม่ได้น้อยเลยทีเดียว

หากจะพูดถึงความเป็นนักกิจกรรมของเธอ เบส บอกว่าต้องเล่าย้อนไปถึงช่วงเรียนอนุบาล ที่เริ่มเป็นเชียร์ลีดเดอร์ตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งขึ้น ป.3 ก็ได้เล่นละครเวที รับบทนางเอกอย่าง “สโนว์ไวท์” นอกจากนี้ ยังรำไทย เล่นโขน และเต้น อยู่ตลอด ในช่วงมัธยมปลายที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สมุทรปรากร เบส เป็นสภานักเรียน ทำกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน รวมถึงได้เดินทางไปเรียนแลกเปลี่ยน ที่เพนซินวาเนีย สหรัฐอเมริกา เธอยังได้ร่วมทำฉาก และเปลี่ยนฉากในการแสดงละครเวที ก่อนกลับมาเป็นทูตนักเรียนแลกเปลี่ยนของโรงเรียน รวมทั้งเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งขัน “โมเดล ออฟ ยูไนเต็ด เนชั่น” หรือ MUN ในระดับมัธยมศึกษา เวทีที่ให้นักเรียน นักศึกษา ได้ศึกษาเรื่องนโยบาย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ สหประชาชาติ ทำให้เธอได้พูด ได้โต้วาที และใช้ภาษาอังกฤษที่เธอรัก

Advertisement

เรียกว่าได้ประสบการณ์ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง จุดประกายให้เธอ เลือกที่จะเดินทางสาย “นิเทศศาสตร์” ที่เธอชอบและคิดว่าคงจะเหมาะ

ปีแรกในรั้วมหาวิทยาลัย เธอก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ของคณะนิเทศศาสตร์ และได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย ในฐานะ “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว”

“เบสเป็นคนชอบทำกิจกรรมตั้งแต่เด็ก เพราะรู้สึกชอบที่ได้เจออะไรใหม่ๆ เจอคนเยอะๆ กิจกรรมก็เหมือนได้พัฒนาตัวเองไปในตัว เรียนไปด้วย ทำกิจกรรมไปด้วยก็สนุกดี ตอนที่ได้เป็นลีดนิเทศฯ ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นคณะหนึ่งที่ซ้อมหนัก ตอนนั้นเราก็รู้สึกดี เหมือนได้ผ่านคอมฟอร์ทโซนของเราที่พอมองย้อนกลับไปก็ภูมิใจ ที่ครั้งหนึ่งเราได้ทำหน้าที่นี้ หลังจากนั้น เบสก็คิดว่าอยากจะทำกิจกรรมอย่างอื่น เราก็ชอบในการทำจิตอาสาต่างๆ บวกกับเราอยากรู้จักกับพี่ๆ เพื่อนๆ จากคณะอื่นๆ บ้าง ก็เลยมาสมัครเป็นกลุ่มผู้อัญเชิญพระเกี้ยวแห่งมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ที่น่าจะเหมาะกับเรา”

“เป็นตอนปีหนึ่งนี่หละ ไฟกำลังแรงอยู่”

และเบส ก็ได้รับคัดเลือก เป็น 1 ใน 14 กลุ่มผู้อัญเชิญพระเกี้ยวฯ จากการแข่งขันที่เรียกว่ายาก สำหรับเธอไม่น้อย ต้องผ่านทั้งการสัมภาษณ์ และบุคลิกภาพอย่างเข้มข้น

“กลุ่มผู้อัญเชิญพระเกี้ยวแต่ละคน จะมีหน้าที่แตกต่างกันไป มีทั้งอัญเชิญถ้วยพระราชทาน ป้ายนามมหาวิทยาลัย พานพุ่ม และเรา ที่เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว คอยอารักขาตั้งแต่ก่อนเข้าสนามฟุตบอล จนกระทั่งจบ นอกจากนี้ เรายังทำหน้าที่บำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย อย่างกิจกรรมเลือดไม่แบ่งสี ที่ทำร่วมกับทูตกิจกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมบริจาคเลือด อวัยวะต่างๆ และเป็นปีแรกที่ชวนบริจาคสเต็มเซลล์ นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้รับหน้าที่นี้”

แน่นอนว่า ตำแหน่งนี้ มีรุ่นพี่หลายคนได้ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงมาก่อน แต่เบสบอกว่า ไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น แต่หากมีโอกาสได้ทำ ก็อยากจะทำทุกๆ อย่างให้เต็มที่

“การทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับเบสคือ การได้พัฒนาตัวเอง บางคนอาจมองว่าการทำกิจกรรม ทำให้เสียเวลา ไปเรียนดีกว่า แต่จริงๆ มันพัฒนาศักยภาพตัวเองอย่างไม่รู้ตัว เช่นการมาร่วมคัดเลือกในแต่ละรอบ เราก็ได้เห็นว่าข้อด้อยเราคืออะไร กลับไปพัฒาตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร เมื่อได้มาทำตรงนี้ ก็รู้จักแบ่งเวลา เรียนเป็นเรียน เลิกเรียนก็ทำกิจกรรมเต็มที่ ได้ฝึกซ้อม พัฒนาความเป็นผู้นำ ได้ปรับตัวเข้ากับคนหลายๆ แบบ รู้จักคนที่ไม่ใช่แค่คณะเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในอนาคตเมื่อเราโตขึ้นไป”

และการมาอยู่จุดนี้ เบส ก็อยากจะ ขยับ ปรับสังคมให้เดินหน้า ตามธีมของการจัดงานในปีนี้ โดยเฉพาะกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเรื่องใกล้ตัว

ภาคินี เผยว่า เบสมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาไปทั่วโลก อย่างเช่นไฟป่าที่ออสเตรเลีย ปัญหานี้เราเห็นมานานแต่ยังไม่ได้คิดจะปรับกัน ที่จริงแล้วเราทำได้ง่ายกว่าที่เราคิด แค่ปรับพฤติกรรม อย่างการใช้หลอดกระดาษแทนพลาสติก แค่ทุกคนช่วยกันก็ลดได้ 77 ล้านหลอดแล้ว พยายามลดใช้ซิงเกิลยูส พลาสติก ที่ถ้าทุกคนทำสิ่งเล็กๆ นี้ได้ ก็จะเปลี่ยนโลกได้มาก

 

รู้จักกับตัวแทนฝ่ายหญิงไปแล้ว ก็ถึงเวลารู้จักกับ เพียว – ศุภกิจ อรุณภัทรสกุล ชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวฝ่ายชาย ที่เขาบอกอย่างติดตลกว่า ชีวิตของเขาเรียกว่าแทบจะตรงข้ามกับน้องเบสทีเดียว

ศุภกิจเล่าว่า ตอนที่เรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมต่างๆ มากนัก มาเริ่มทำจริงๆ ตอนเรียนม.5-6 ที่อาจารย์มอบหมายให้ลองรับผิดชอบต่างๆ พอมองย้อนกลับไปก็รู้สึกเสียดายว่าน่าจะทำอะไรๆ เยอะกว่านี้ พอขึ้นมหาวิทยาลัยจึงตั้งใจว่าจะทำกิจกรรมให้เยอะขึ้น เพื่อที่จะได้แก้ไขสิ่งที่อยากทำในตอนนั้น

พอได้เข้ามาเรียนปี 1 เพียวก็ได้รับหน้าที่เป็นเชียร์ลีดเดอร์ของคณะ ด้วยอยากเป็นส่วนหนึ่งของกีฬา เฟรชชี่เกมส์ แต่ไม่ถนัดทางพละศึกษา จึงได้ลองทำอะไรที่แตกต่างไป ก่อนที่ชีวิตและความคิดจะเปลี่ยนแปลงจริงๆ ตอนที่ได้ไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศโปแลนด์

เพียว เผยว่า ตอนปิดเทอมปี 2 ขึ้นปี 3 ก็มีช่วงเวลาที่ว่างอยู่ ตอนนั้นคิดว่าอยากจะลองทำอะไรสักอย่างที่ออกไปนอกคอมฟอร์ทโซนของเรา จึงไปเป็นทำจิตอาสาที่โปแลนด์ เป็นครูสอนเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ ของไทย นำประเทศไปให้เขารู้จัก จากที่เราเป็นคนขี้อาย การพูดในที่สาธารณะก็ไม่ได้ดีมากนัก ก็คิดว่าการเอาตัวเองออกไปจากสังคมที่คุ้นเคย ลองไปทำอะไรแตกต่าง น่าจะพัฒนาเราได้ ฝึกตัวเองมากขึ้น

“ตอนไปตอนแรกก็กลัวมาก เพราะเป็นการไปคนเดียวครั้งแรก แต่พอได้ไปทำจริงๆ พอกลับมามันได้อะไรมากกว่านั้น เราได้เห็นสิ่งแตกต่างของโลกนี้ จากที่คิดว่าคนก็มีประมาณนี้หละ จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย แต่มีความหลากหลายมาก เด็กที่นั่นเขาอาจจะรู้จักประเทศไทยว่า เป็นประเทศหนึ่งในเอเชีย อยู่ตรงนี้ แต่ไม่รู้จักเรามากกว่านั้น เราก็ไปสื่อสารว่าเราเป็นอย่างไร และแม้จะแตกต่างแต่อยู่ด้วยกันได้นะ”

“นอกจากเรื่องคนแล้ว การได้เรียนรู้ตัวเอง นับเป็นเรื่องสำคัญ เมื่ออยู่คนเดียวก็ได้เรียนรู้จากตัวเองว่า หากมีปัญหาแบบนี้ จะแก้ไขอย่างไร และจริงๆ เราเป็นคนแบบไหนจึงแก้ปัญหาแบบนี้ เช่นเดียวกับเรื่องภาษาอังกฤษ ที่ได้ฝึกความกล้าที่จะใช้ เพราะเขาไม่ได้ตัดสินอะไรเราเลย แม้จะพูดผิด สำเนียงอาจไม่เหมือนในทีวี แต่ก็พร้อมจะรับฟังเรา ทำให้ผมกล้าที่จะพูดมากขึ้น”

เข้าสู่ปีสุดท้ายของการศึกษา เพียว เลือกท้าทายตัวเองอีกครั้ง ด้วยการส่งใบสมัครคัดเลือกเป็น “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” ด้วยเป้าหมายที่อยากทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานบอลประเพณี งานที่รู้จักมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความคิดว่า แม้จะไม่ได้รับคัดเลือกก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ไม่เสียดายที่มองย้อนกลับมาว่าได้ทำแล้ว ซึ่งต้องขับเคี่ยวในด่านต่างๆ โดยเฉพาะกับการตอบคำถาม

ศุภกิจ บอกว่า สำหรับผมการตอบคำถามนั้น อาจมีคำพูดว่า รู้เรา รู้เขา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง แต่คราวนี้ผมมองว่าเป็นการรู้เรามากกว่า เพราะเขาเปิดกว้างให้คน 14 คน ได้เป็นตัวเอง ได้แสดงออกตราบที่ไม่ทำร้ายใคร ได้เห็นมุมมองต่างๆ ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม สังคม ที่ผมเชื่อว่าผมซื่อสัตย์กับตัวเองในการแสดงออก ได้ทำความเข้าใจตัวเอง รวมถึงพัฒนาในส่วนที่ขาด มีโอกาสก็พร้อมจะปรับตัวไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ก็ภูมิใจและตื่นเต้นเมื่อใกล้วันงานเข้าไปเรื่อยๆ

แม้จะทำกิจกรรมต่างๆ อย่างจริงจัง แต่ ศุภกิจก็ไม่ทิ้งการเรียน เพียว เรียนได้เกรดเฉลี่ย 3.85 ว่าที่เกียรตินิยมอันดับ 1 ซึ่งเขามองว่า การเรียนนับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการเป็นนิสิต หน้าที่ก็คือมาเรียน เนื้อหาที่เรียนก็เป็นสิ่งที่ต่อยอดไปเป็นอาชีพในอนาคต การได้ทำกิจกรรมก็เป็นการทำงานกับคนภายนอก ได้เรียนรู้และปรับตัว สิ่งสำคัญคือการจัดการเวลา ที่ต้องตั้งใจเรียนภายในห้องให้ดี ทบทวนเมื่อมีเวลา ก็จะช่วยเราได้ ไม่มีอะไรเกินความสามารถที่จะทำได้

เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่หลายคน ศุภกิจ มองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ทุกคนช่วยกันขยับเดินหน้าได้ ไม่ใช่แค่การลดถุงพลาสติก แต่มีวิธีอื่นๆ ที่หลากหลาย อย่างการซื้อของในชีวิตประจำวัน ที่สร้างพลาสติกจำนวนมาก วิธีที่ง่ายที่สุดอาจเป็นการแยกขยะ และรีไซเคิล ที่หากทุกคนตระหนักถึง ก็จะช่วยโลกได้มาก

2 ตัวแทนรั้วจามจุรี


 

นับถอยหลัง งานบอลประเพณี

งานบอลประเพณี – ก่อนที่ “งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74” จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ ที่สนามกีฬาแห่งชาติ

นับเป็นธรรมเนียมที่องค์กรต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเปิดตัวประกาศความพร้อมจัดงาน เพื่อเป็นการนับถอยหลังอย่างเป็นทางการ โดยปีนี้สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “บาก้า บีกินส์” (BAKA Begins) เปิดเทศกาลงานฟุตบอลประเพณี ภายใต้แนวคิด “เมก อะ เชนจ์ เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” สะท้อนให้เห็นถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคมปัจจุบัน ณ ลานทางเชื่อมระหว่างบีทีเอส และสยามสแควร์วัน

ภายในงาน ได้มีการแสดงโชว์ขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานฟุตบอลประเพณีของทั้งสองมหาวิทยาลัย ทั้งการแสดงจากกลุ่มผู้อัญเชิญพระเกี้ยวแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การแสดงกลุ่มผู้นำเชียร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและจุฬาฯ คฑากร ทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เชียร์ลีดเดอร์และดรัมเมเยอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมเปิดตัวแม่ทัพเชียร์ของทั้งสองฝั่ง สร้างสีสันด้วยแฟชั่นโชว์สะท้อนประเด็นสิ่งแวดล้อม และการแลกเสื้อเชียร์ของสองสถาบัน

ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งานวันนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการเปิดตัวองค์กรต่างๆ ที่จะมีส่วนสำคัญในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ -ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 นี้ ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี งานฟุตบอลประเพณีนี้ มีวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างความสามัคคี โดยมีทั้งการแสดงออกด้านต่างๆ รวมถึงเรื่องวิชาการ ให้สมกับเป็น 2 มหาวิทยาลัย ในวันงานจะมีทั้ง ขบวนเสียดสีสังคม และล้อการเมืองของ 2 มหาวิทยาลัย ที่มีเรื่องน่าสนุกให้ติดตามอย่างแน่นอน

ทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ธรรมศาสตร์

อดใจรอ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image