ร่อนตามลม…พ่อแม่ควรคิดให้เยอะ ก่อนจะติว่า ลูกอ้วน!!! เพราะมีผลกระทบต่อชีวิตลูกมากกว่า คิด!!!

(ภาพจาก www.pittsburghsportsreport.com)

หัว-ร่อนตามลม

 

 

 

Advertisement

 

 

อยากให้ลูกกินดี อยู่ดี แต่พอเห็น “ลูกอ้วน” คนเป็นพ่อแม่ก็อดรู้สึกเป็นห่วงไม่ได้ว่าความอ้วนจะเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ลูกมีสุขภาพไม่แข็งแรง เสี่ยงต่อการเป็นโรคนั่น โรคนี่ พ่อแม่หลายคนจึงชอบปรามลูก วิพากษ์ วิจารณ์น้ำหนักตัวของลูกด้วยความเป็นห่วง ซึ่งล่าสุดมีผลการศึกษาเตือนพ่อแม่ว่าไม่ควรจะคอมเมนต์ หรือวิพากษ์ วิจารณ์เรื่องน้ำหนักตัวของลูก ถึงแม้ว่าจะพูดด้วยความหวังดีก็ตาม เนื่องจากคำวิพากษ์ วิจารณ์เหล่านั้นสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตลูกไปยาวนาน หรืออาจตลอดชีวิต

Advertisement

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารเกี่ยวกับความผิดปกติในการรับประทานอาหารและน้ำหนักตัวที่ผิดปกติ ระบุว่า แม้แต่คำพูด คำติ ที่พ่อแม่พูดถึงความอ้วน หรือเรื่องน้ำหนักตัวของลูกด้วยความหวังดี แต่นั่นก็สามารถจะฝังลึกในความรู้สึกของเด็ก และอาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติในการรับประทานอาหารเมื่อโตขึ้น หรือตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ ถึงแม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะเติบโตมีรูปร่าง และน้ำหนักที่ได้สมดุลก็ตาม

“พ่อแม่ที่มีลูกอ้วนอาจจะวิตกกังวล แต่การที่พ่อแม่นำความวิตกกังวลเหล่านั้นมาพูดสามารถก่อให้เกิดอันตราย และจากผลการศึกษาที่มีการติดตามศึกษาเป็นเวลายาวนานหลายปี ก็พบว่าสามารถมีผลกระทบยาวนานไปตลอดชีวิต” รีเบคก้า พอห์ล รองผู้อำนวยการศูนย์รัดด์ สำหรับนโยบายอาหารและโรคอ้วนแห่งมหาวิทยาลัยคอนเนคติคัต บอกกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส

ในการศึกษาดังกล่าว ได้ทำการศึกษาในผู้หญิง 500 คน อายุราว 20 ปีเศษ และช่วง 30 ปีต้นๆ โดยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึกที่พวกเธอมีต่อรูปร่างของตัวเอง และคำวิพากษ์ วิจารณ์จากพ่อแม่ที่เคยพูดถึงน้ำหนักตัวของพวกเธอ ไม่ว่าจะพูดอย่างไรก็ได้ ซึ่งผลที่ได้ก็คือ ประเด็นเรื่องความอ้วนหรือน้ำหนักตัวไม่ได้มีความสำคัญใดๆ เลย แต่ผู้หญิงที่เคยถูกพ่อแม่ติ หรือวิพากษ์ วิจารณ์เกี่ยวกับน้ำหนักตัวของพวกเธอบ่อยๆ มีแนวโน้มที่จะมีภาพลบเกี่ยวกับรูปร่างของตัวเอง และคิดว่าพวกเธอจำเป็นต้องลดน้ำหนัก

รีเบคก้ากล่าวว่า ผู้หญิงและเด็กหญิง เป็นกลุ่มที่อ่อนไหว ที่จะได้รับผลกระทบนี้เพราะว่า “เด็กหญิง เด็กสาวมักจะได้รับข้อมูล ข่าวสารมากมายที่เกี่ยวกับเรื่องความผอม และน้ำหนักตัว และมักจะประเมินคุณค่าตัวเองจากรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งถ้าหากพ่อแม่ไม่มีการคัดค้าน หรือโต้แย้งกับความคิดเหล่านี้ ก็อาจจะฝังลึกอยู่ในความรู้สึกของเด็ก”

ทั้งนี้ รีเบคก้ายังเตือนด้วยว่า จากผลการศึกษาของ ดอกเตอร์ไบรอัน วานซิงค์ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ยังระบุว่า แม้แต่การติติง วิพากษ์ วิจารณ์เป็นครั้งคราว ก็สามารถสร้าง “รอยแผลเป็น” ในความรู้สึกของเด็กได้

“เราขอให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ได้ลองนึกถึงว่าถูกพ่อแม่ติติง บ่นถึงเรื่องน้ำหนักตัวของพวกเธอบ่อยแค่ไหน แต่คำตอบที่ได้ก็คือ พวกเธอรู้สึกว่าพอนึกถึงทีไรมันก็เหมือนคำพูดนั้นมันกำลังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งที่มันส่งผลเสียต่อพวกเธอคือ พวกเธอรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นตลอดเวลา”

ดอกเตอร์ไบรอันจึงสรุปว่า “แม้แต่คำวิจารณ์แค่เล็กน้อย ก็สามารถส่งผลเสีย เหมือนกับว่าเป็นคำวิจารณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา กระทั่งกลายเป็นสิ่งฝังใจ”

อย่างไรก็ตาม ดอกเตอร์ไดแอน นูมาร์กสเตนเนอร์ แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา มีคำแนะนำถึงสิ่งที่พ่อแม่ควรทำก็คือ ไม่ติ ไม่วิจารณ์ แต่ลงมือทำให้ลูกๆ เห็นเป็นตัวอย่าง “ฉันพยายามสนับสนุนไอเดียที่ว่า พูดให้น้อย แต่ทำให้เยอะ โดยพยายามทำให้บ้านของคุณเป็นที่ที่ง่ายต่อการสร้างนิสัยการกินอย่างมีสุขภาพ และมีทางเลือกในการทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่พูดวิพากษ์ วิจารณ์ถึงเรื่องน้ำหนักตัวให้น้อย”

 

อ้วน 1

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image