วิ่งแล้วรอด (ตาย) สู่หลักคิด “สร้างดีกว่าซ่อม” “ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม”

“คิดว่าตัวเองเป็นซูเปอร์แมน ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย กินอาหารไม่เป็นเวลา ดื่มหนัก” คือชีวิตติดประมาทที่เกือบทำให้ไม่มี “ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม” ในวันนี้ 

  • ถ้าไม่วิ่งวันนั้นผมคงตายไปแล้ว
    เวลานั้นในวัย 40 กว่า ๆ จากที่ผมเคยเชื่อว่าตัวเองแข็งแรง ก็ต้องคิดใหม่ เมื่อร่างกายเริ่มส่งสัญญาณอันตรายหลายครั้งที่เกิดวูบ หน้ามืด แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ถึงขั้นหมดสติไปแบบไม่รู้ตัว เมื่อตรวจจึงได้รู้ว่า นี่คืออาการของหัวใจเต้นผิดปกติ จากเส้นเลือดหัวใจตีบ จะเรียกเป็นความบังเอิญก็ได้ ในขณะที่พยายามหาตัวช่วยกู้วิกฤตสุขภาพให้กับตัวเองจนได้มาพบกับหนังสือ “เอเชีย รันเนอร์” ก็ได้รู้ว่าการวิ่งนี่แหละจะทำให้ผมมีชีวิตรอด “ร่างกาย สร้างมาเพื่อเคลื่อนไหว แต่ทุกวันนี้คนเราใช้ชีวิตติดอยู่กับที่ มีชีวิตที่เฉื่อยชา เนือยนิ่ง สุขภาพก็จะแย่ลง วิ่งจึงเป็นพื้นฐานการออกกำลังกาย ที่ทำได้ง่าย ทำที่ไหนก็ได้”  

  • “วิ่งสู่ชีวิตใหม่” ดึงคนหน้าใหม่ใส่ใจสุขภาพ
    ผลของการเอาจริงเอาจังกับการวิ่ง คือ ร่างกายไม่แสดงอาการเหมือนที่เคยเป็นมาอีกเลย ผมเลยตั้งใจที่จะทำให้คนไทยใส่ใจกับการออกกำลังกายด้วยการวิ่งให้มากขึ้น เลยถือโอกาสเดินสายบรรยายเรื่องวิ่งทั่วประเทศ และสามารถรวมตัวกันเป็น “สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย” จนเกิดประวัติศาสตร์งานวิ่งครั้งสำคัญของไทยอย่าง “วิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ” ในปี 2530 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมนับแสนคนเลยทีเดียว  ต่อมา สสส. ก็จัดงานวิ่งที่ใช้ชื่อ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่” หรือ ThaiHealth Day Run เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ยิ่งช่วยปลุกกระแส ดึงนักวิ่งหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเท่ากับเป็นการตอกย้ำในเป้าหมายที่ทำให้คนไทยใส่ใจสุขภาพ

  • “สร้างดีกว่าซ่อม” กับจุดเปลี่ยนเพื่อสุขภาพคนไทย
    เป็นเวลา 18 ปี ที่ผมได้ทำหน้าที่ผลักดันประเด็นสุขภาพร่วมกับ สสส. จนมีส่วนทำให้หลายเรื่องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเฉพาะการรณรงค์ลดอบายมุขทั้ง เหล้า บุหรี่ การพนัน ยาเสพติด การลดอุบัติเหตุ การกินอาหารถูกสุขลักษณะ อีกด้านที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน คือความพยายามกระตุ้นให้สังคมหันมาใส่ใจกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง สิ่งนี้ยังเป็นรูปแบบที่ทั่วโลกตื่นตัวอย่างมาก เพราะเป็นวิธีการง่าย ๆ ที่ช่วยจัดการกับภัยคุกคามต่อสุขภาพประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกบทบาทที่ภาคภูมิใจ คือ การได้ทำหน้าที่ประธานกรรมการกำกับทิศสำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม หรือ Social Marketing เพื่อทำการตลาดส่งข้อมูลความจริงเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพแก่ประชาชน จนทำให้สังคมไทยรู้จักโฆษณา “จนเครียด กินเหล้า” “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” และสื่อรณรงค์กลับบ้านปลอดภัยช่วงเทศกาลสิ่งเหล่านี้คือความพยายามของ สสส. ที่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ในชั่วข้ามคืน

Advertisement
  • ขยับร่างกาย ก่อนสายเกินแก้
    “ชวนคนไปกินเหล้า ง่ายกว่าชวนให้เลิกกิน ดังนั้น สสส. ต้องทำงานสวนกระแสสังคม โดยเฉพาะต้องมารับมือกับกลุ่มทุนต่าง ๆ ที่ทุ่มโฆษณา ดึงดูดใจให้ประชาชนเข้าถึงอบายมุขด้วยวิธีใหม่ ที่เห็นชัด ๆ ก็บุหรี่ไฟฟ้า นี่จึงเป็นความยากที่ สสส. ต้องพยายามทำให้สังคมตระหนักในการลด ละ เลิก สิ่งเหล่านี้และทำให้ทุกคนเชื่อในแนวทางสร้างดีกว่าซ่อม คือ ทำให้สุขภาพแข็งแรงโดยไม่ต้องรอให้ป่วย” ถึงตรงนี้ผมจึงอยากชวนให้ทุกคนคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของร่างกาย ทุกคนมีหน้าที่ต้องดูแลสุขภาพ กายใจ ให้เข้มแข็ง ไม่ใช่ไปทำร้ายร่างกายด้วยอบายมุข และการใช้ชีวิตอยู่อย่างเนือยนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวออกกำลังกาย เพราะหากจะรอให้ป่วยแล้วไปรักษาก็คงสายเกินแก้แล้ว

“ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image