“คลิป” สุดซาบซึ้ง! ชวนคนไทยร่วมกันสร้าง “คลังสมบัติดิจิตอล” บันทึก “ความภูมิใจ” ให้เต็มชาติ


นับเป็น “ครั้งแรกในประวัติศาสตร์” ที่ “คนไทยทั้งประเทศ” จะได้มีส่วนร่วมในการบันทึกเรื่องราวอันดีงามและล้ำค่าบนผืนแผ่นดินไทยไว้ใน “คลังสมบัติดิจิตอล” เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังต่อไป กับโครงการ “ภาคภูมิแผ่นดินไทย” เติมความภูมิใจให้เต็มชาติ ซึ่งประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยเป็นโครงการที่ผนึกความร่วมมือ สานพลังประชารัฐ จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และประธานโครงการภาคภูมิแผ่นดินไทย กล่าวว่า โครงการภาคภูมิแผ่นดินไทยมีวัตถุประสงค์เชิญชวนให้คนไทยทุกคนช่วยกันบันทึกเรื่องราวที่ดีงาม สิ่งที่เป็นสุดยอด ตลอดจนสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยจากทุกชุมชนทั่วประเทศ เพื่อจารึกไว้เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติ ส่งต่อเรื่องราวอันเป็นความภาคภูมิใจของแผ่นดินไทยสู่ลูกหลาน และให้คงอยู่ตลอดไป

ดร.สุวิทย์ ยอดมณี รองประธานกรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และมีความสำคัญกับเราทุกคน เรามีสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ นอกจากนี้ คนไทยเรายังเป็นคนที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาสูง แม้เราจะเป็นประเทศที่ไม่ร่ำรวย แต่เราก็ร่ำรวยน้ำใจ อีกทั้งเรายังมีศิลปวัฒนธรรมที่ดีงาม มีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย

“เรามีอะไรที่มีคุณค่ามากมาย สิ่งเหล่านี้เราต้องรักษาความดีและความภาคภูมิใจไว้” ดร.สุวิทย์กล่าว

Advertisement
1_
ชฎาทิพ จูตระกูล -ดร.สุวิทย์ ยอดมณี -ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล-กลินท์ สารสิน

กลินท์ สารสิน ผู้แทนคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเต็มไปด้วยเรื่องราวและสิ่งดีๆ มากมายมหาศาล ทำให้ประเทศไทยมีความพิเศษโดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่เรื่องราวต่างๆ อาจสูญหายหรือลืมเลือนไป หากไม่มีการเก็บรวบรวมและจารึกอย่างจริงจัง

“โครงการนี้จะจัดเก็บความเป็นไทยที่งดงาม โดยจัดทำให้รูปแบบคลังข้อมูลดิจิตอลขนาดใหญ่ เสมือนหลักศิลาจารึกของยุคสมัยปัจจุบัน ที่จะบันทึกเรื่องราวและสิ่งล้ำค่าของคนไทย เพื่อให้คนรุ่นหลังมองย้อนกลับมาแล้วภาคภูมิใจในความเป็นไทย และยังเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยโดยตรง นำมาสู่การเพิ่มและกระจายรายให้กับชุมชนท้องถิ่น เป็นการยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้เกิดรายได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน” นายกลินท์กล่าว

ชฎาทิพ จูตระกูล รองประธานโครงการ “ภาคภูมิแผ่นดินไทย” และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้ริเริ่มโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้จะสำเร็จอย่างแท้จริงได้ต้องสร้างการมีส่วนร่วมโดยประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เราตั้งเป้าที่จะรวบรวมเรื่องราวที่ให้ได้จำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ต้องเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มทั้งคนรุ่นใหม่โดยใช้ช่องทางออนไลน์ เซเลบ ดาราที่มีชื่อเสียงตลอดจนผู้นำความคิดช่วยจุดกระแสประชาสัมพันธ์ รวมทั้งทำงานร่วมกับภาคีที่เข้มแข็งในภูมิภาคเพื่อให้เข้าถึงประชาชนที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม และสร้างคลังสมบัติดิจิตอล ที่เก็บรูปภาพ วิดีโอ และเรื่องราว ที่ส่งมาจากคนไทยทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนผืนแผ่นดินไทยก็ตามให้คงอยู่สืบไป โดย 1 แสนคนแรกที่ส่งรูปภาพและวิดีโอเข้าร่วมโครงการจะได้รับเข็มกลัดสัญลักษณ์ของโครงการไปเป็นที่ระลึก

“คลังประวัติศาสตร์ของชาติจะเก็บรวบรวมเรื่องราวนับล้านๆ เรื่องราว และสามารถต่อเติมได้ไม่มีสิ้นสุด เป็นสัญลักษณ์ความรักและความภาคภูมิใจ และจะคงอยู่ตราบนานเท่านานไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด” ชฎาทิพกล่าว

ทั้งนี้ คนไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ โดยการส่งรูปภาพหรือวิดีโอพร้อมคำบรรยาย บอกเล่าเรื่องราวอันดีงามและล้ำค่าบนแผ่นดินไทยที่เป็นความภาคภูมิใจของชาติซึ่งมีอยู่ทั่วแผ่นดินไทย อาทิ เรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คนไทยรักและเทิดทูน คนดีที่น่าชื่นชม วัฒนธรรมประเพณีไทย อารยธรรมไทย ความศิวิไลซ์ที่แฝงในวิถีชีวิตไทย ความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะและงานฝีมือพื้นบ้าน อาหารไทย สิ่งประดิษฐ์ ภูมิปัญญา และความเป็นชาติที่พิเศษไม่เหมือนที่ใดในโลก

เชิญชวนชาวไทยทั้งประเทศส่งรูปภาพหรือวิดีโอพร้อมคำบรรยายเข้ามาที่โครงการผ่านหลายช่องทาง ดังนี้ www.theprideofthailand.com, ตู้ ปณ.1 ปณส. คลองจั่น บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240, “ภาคภูมิแผ่นดินไทย” LINE Official Account ของโครงการ, ส่งกับทีมงานหรือเครือข่ายในการลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ หรือส่งเรื่องราวเข้ามาที่จุดรับเรื่องที่กำหนด ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน-30 กันยายนนี้

รักประเทศต้องไม่เก็บไว้ในใจ แสดงออกด้วยการเขียนเล่าเรื่องราวและภาพถ่ายเก็บไว้ให้คนไทยรุ่นหลังต่อไป

2_
AW Master Ad-01

**การเก็บรวบรวมข้อมูลในคลังสมบัติดิจิตอลแบ่งหมวดหมู่เป็น 9 หมวด ประกอบด้วย

1. สถาบันพระมหากษัตริย์

นิยาม: พระราชกรณียกิจและศูนย์การเรียนรู้ตามแนวทางพระราชดำริทั้งในประวัติศาสตร์และในปัจจุบัน ผลงานและโครงการต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อความผาสุกของประชาชน และความเจริญของประเทศชาติ อันเกิดจากแนวทางพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์

2. หมวดบุคคล

นิยาม: บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ต่อชุมชน ท้องถิ่น และประเทศชาติในด้านต่างๆ ทุกสาขาอาชีพ ได้สร้างสรรค์งานอันมีคุณค่า เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการนั้นๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ  อีกทั้งเป็นผู้ที่มีคุณธรรมและจริยธรรมอันดี

3. หมวดอาหารไทย

นิยาม: อาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวันของคนไทย เป็นอาหารไทยซึ่งอาจมีที่มาหรือได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของชาติอื่น แต่ได้ผสมกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยอย่างแยกไม่ออก สะท้อนถึงภูมิปัญญา โดยมิได้ปรากฏอยู่เพียงบางช่วงเวลา

4. หมวดสถานที่ และสถาปัตยกรรม

นิยาม: สถานที่ที่มีความสำคัญด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆ ด้าน เช่น คุณค่าทางศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ คุณค่าทางจิตใจ เป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้   จะเป็นสถานที่เก่าหรือสถานที่ร่วมสมัยก็ได้  ได้แก่ อาคาร เคหสถาน ปูชนียสถาน วัดวาอาราม ศาสนสถานของศาสนาต่างๆ ชุมชนที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ตลาด และพื้นที่เรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ

5. หมวดศิลปะและดนตรี

นิยาม: ศิลปะที่เป็นภูมิปัญญาของไทย ภูมิปัญญาพื้นบ้าน หรือได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอื่น แต่ผสมกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของไทยอย่างแนบแน่นและรวมไปถึงศิลปะร่วมสมัย ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ภาพยนตร์ ภาพถ่าย ศิลปะการแสดง ศิลปะการต่อสู้ การละเล่นพื้นบ้าน ดนตรี เป็นต้น

6. หมวดงานฝีมือและหัตถกรรม

นิยาม: เครื่องมือเครื่องใช้ที่สร้างขึ้นด้วยมือเป็นหลัก  ใช้เป็นสิ่งของสนองความเชื่อถือทางด้านประเพณี ศาสนา เช่น เป็นเครื่องบูชา ใช้เพื่อความสวยงามสนองความสุขทางจิตใจ และเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ  โดยนำวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน รวมถึงงานที่มีการพัฒนาต่อยอดโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ งานหัตถกรรมจะมีการพัฒนารูปแบบไปตามการพัฒนาฝีมือของช่าง ที่สั่งสมประสบการณ์ และสืบทอดความรู้ ความชำนาญ จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและทักษะ ส่งผลให้งานหัตถกรรมมีความงามและมีคุณค่าทางศิลปะ ได้แก่ งานจักสาน สิ่งทอ โลหะ เครื่องปั้นดินเผา งานประดิษฐ์ เป็นต้น

7. หมวดประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต

นิยาม: การดำเนินชีวิตที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงาม ความมีศีลธรรม ความกลมเกลียว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน มีระเบียบและแบบแผนเนื่องมาจากการเรียนรู้ซึ่งกันและกันภายในหมู่คณะของตน และยึดถือปฏิบัติร่วมกันอย่างมีหลักการ โดยยึดหลักความเชื่อ ความคิดเป็นแนวทางในการปฏิบัติ มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มในสังคมนั้นๆ และสืบทอดกันมา ได้แก่ ประเพณีเกี่ยวกับศาสนา ความศรัทธา   ความเชื่อ พิธีกรรม และวิถีชีวิต

8. หมวดภูมิปัญญา การศึกษา นวัตกรรม

นิยาม: ความรู้และภูมิปัญญาไทยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในทุกสาขา ทั้งการแพทย์ เกษตรกรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

9. หมวดกีฬาและทั่วไป

นิยาม: กีฬาประเภทต่างๆ ของไทยและสิ่งที่มีคุณค่านอกเหนือจากหมวดดังกล่าวข้างต้นให้จัดอยู่ในหมวดนี้

**วิธีการและช่องทางการส่งเรื่องราวเข้าร่วมโครงการเพื่อสืบค้นเรื่องราวอันเป็นสุดยอดของไทย (ระยะเวลาเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 ก.ย.2559)

1. ส่งจดหมาย หรือไปรษณียบัตร คำบรรยายความยาวไม่เกิน 200 คำ พร้อมภาพถ่ายขนาด  ไม่ต่ำกว่า 5 x 7 นิ้ว จ่าหน้าซองถึง “โครงการภาคภูมิแผ่นดินไทย”  ตู้ ปณ.1 ปณส.คลองจั่น บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240

2. ทางเว็บไซต์โครงการที่ www.theprideofthailand.com โดยพิมพ์เรื่องราวความภาคภูมิใจลงในแบบฟอร์มออนไลน์ ความยาวไม่เกิน 200 คำ พร้อมอัพโหลดรูปภาพขนาดไม่เกิน 5 เมกาไบต์  หรือวิดีโอขนาดไม่เกิน 15 เมกาไบต์

3. ส่งเรื่องราวผ่าน “ภาคภูมิแผ่นดินไทย” LINE Official  Account ของโครงการ

4. ส่งเรื่องราวผ่านทีมงานที่ลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านลูกเสือชาวบ้าน

5. ส่งเรื่องราวเข้ามาที่จุดรับเรื่องที่ให้การสนับสนุนโครงการฯ ตามที่ระบุบนเว็บไซต์ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขาทั่วประเทศ และโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพลกซ์ ทุกสาขาทั่วประเทศ

**ข้อกำหนดการเข้าร่วมกิจกรรม

  • ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องให้ข้อมูลและรายละเอียดที่ถูกต้องกับโครงการฯ ความยาวของเรื่องต้องไม่เกิน 200 ตัวอักษร ไฟล์ภาพขนาดไม่เกิน 5 เมกาไบต์ สกุล JPEG (.JPG)
  • ภาพถ่าย หรือวิดีโอ และคำบรรยาย ที่ส่งเข้าร่วมกิจกรรมต้องไม่ผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชนหรือสังคม
  • ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยถูกต้องในรูปภาพ/ วิดีโอที่ส่งเข้าร่วมโครงการ และต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ และ/หรือกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาใดๆ
  • เรื่องราวของคุณจะถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ในทันที
  • หลังจากนั้น เรื่องราวของคุณจะถูกพิจารณาความเหมาะสม และจัดหมวดหมู่จากคณะกรรมการโครงการ
  • หากเรื่องราวที่ส่งเข้ามามีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ เชื้อพระวงศ์  บูรพมหากษัตริย์ไทย ผู้ดำเนินโครงการจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลที่ส่งเข้ามาก่อน หากเห็นว่ามีความถูกต้องเหมาะสม จึงจะแสดงขึ้นบนเว็บไซต์
  • ผู้เข้าร่วมกิจกรรมโปรดศึกษาข้อกำหนดการเข้าร่วมกิจกรรมส่วนที่เหลือโดยละเอียดที่ theprideofthailand.com/rules.php

**หลักเกณฑ์ในการคัดกรองข้อมูลทั่วไป

  • เรื่องราว “ความเป็นไทยที่ประชาชนภาคภูมิใจ” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีงาม มีคุณค่า อันเหมาะสมเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย
  • แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของไทย ความเจริญรุ่งเรืองทางอารยธรรม เศรษฐกิจ สังคม ภูมิปัญญา วิถีแบบไทยที่ทรงคุณค่าในแขนงต่างๆ
  • มีการเล่าเรื่อง หรือ ภาพประกอบ ที่ถ่ายทอดแง่มุมของเรื่องได้น่าสนใจ มีความโดดเด่นสร้างความประทับใจ และน่าชื่นชม
  • เป็นเรื่องจริงที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม ความมีจริยธรรมและศีลธรรมอันดีงาม สร้างค่านิยมร่วมในความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ
  • เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง สร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศไทย   มีคุณค่าต่อชุมชน ท้องถิ่น ประเทศ หรือนานาชาติ
  • หากเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ไม่เคยได้รับการเผยแพร่มาก่อน หรือ เป็นเรื่องหายากที่ใกล้จะสูญหายจะได้รับการพิจารณาในการเผยแพร่เป็นพิเศษ

3_

ขอบคุณคลิปวิดีโอจากเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/ThePrideofThailand/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image