‘หลุมดำมวลยวดยิ่ง’ ยักษ์หลับใจกลางกาแล็กซี

ภาพ-AFP

เอริน คารา นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ในเมืองคอลเลจปาร์ค รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่ากำลังดำเนินการศึกษาวิจัยการตรวจสอบพบปรากฏการณ์สำคัญทางด้านดาราศาสตร์ นั่นคือปรากฏการณ์หลุมดำขนาดยักษ์ใจกลางกาแล็กซีแห่งหนึ่งตื่นขึ้นจากสภาพหลับไหลกลืนกินดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่พลัดหลงเข้าไปในพื้นที่อิทธิพลแรงดึงดูดของมัน

โดยทั่วไปแล้วในแทบจะทุกกาแล็กซีจะมีหลุมดำขนาดยักษ์ที่มีชื่อทางวิชาการด้านดาราศาสตร์ว่า “หลุมดำมวลยวดยิ่ง” หรือ “ซุปเปอร์แมสซีฟแบล็กโฮล” ซึ่งเป็นชนิดของหลุมดำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจักรวาล หลุมดำชนิดนี้มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ศูนย์กลางของสุริยะจักรวาลมากถึงหลายล้านเท่าไปจนถึงหลายพันล้านเท่า ทำให้นักดาราศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่า พลังงานมหาศาลที่กระจายออกมาจากหลุมดำมวลยวดยิ่งนี้ สามารถส่งอิทธิพลสูงต่อวิวัฒนาการของกาแล็กซีแต่ละแห่งที่มันตั้งอยู่

แม้ว่าตามทฤษฎีแล้ว ไม่มีสรรพสิ่ง แม้แต่แสง สามารถเล็ดลอดออกมาเมื่อตกลงไปในใจกลางของหลุมดำได้ แต่มีความเป็นไปได้ที่วัตถุต่างๆ ซึ่งหมุนวนอยู่โดยรอบหลุมดำสามารถปลดปล่อยแสงออกมาโดยการแผ่รังสีทำให้นักดาราศาสตร์สามารถพบเห็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีความเคลื่อนไหวรุนแรงในบริเวณปากหลุมดำที่มวลก๊าซและฝุ่นหมุนวนแผ่ออกเป็นลักษณะจานกลมเรียกกันว่า “แอคครีชั่นดิสก์” หรือ “จานสะสมมวล” นั้นสามารถก่อให้เกิดแสงสว่างเจิดจ้า หรือไม่ก็มีลำของมวลก๊าซและฝุ่นถูกเหวี่ยงหลุดออกมาด้วยความเร็วสูงเกือบเท่าความเร็วแสงให้สังเกตเห็นได้

ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงสามารถใช้เหตุการณ์การกลืนกินหรือการสะสมมวลดังกล่าวนี้เพื่อศึกษาพฤติกรรมและวิวัฒนาการของหลุมดำได้ อย่างไรก็ตามหลุมดำมวลยวดยิ่ง ที่เคลื่อนไหวหรือมีกิจกรรมเหล่านี้คิดเป็นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์หรือน้อยกว่านั้น ในขณะที่อีก 90 เปอร์เซ็นต์ของหลุมดำมวลยวดยิ่ง จะอยู่ในสภาพสงบนิ่ง ไม่แสดงพฤติกรรมการกลืนกินหรือการสะสมมวลใดๆ ทำให้ไม่ก่อให้เกิดเหตุที่จะทำให้ตรวจพบและศึกษาหลุมดำเหล่านั้นได้

Advertisement

แต่บางครั้งเมื่อดาวบางดวงเคลื่อนเข้าใกล้หลุมดำขนาดยักษ์นี้มากจนเกินไปจนเผชิญกับแรงดูดเข้าไปเพื่อทำลายก่อให้เกิดการปะทะกันกับมวลเดิมในจานสะสมมวลทำให้เกิดประกายเจิดจ้าแผ่รังสีออกมา กลายเป็นโอกาสที่ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับหลุมดำที่เป็นยักษ์หลับเหล่านี้ได้

เอริน คารา ชี้ว่า การศึกษาเหตุการณ์ดังกล่าวนี้อาจช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจหลุมดำทั้งหมดได้มากขึ้น และอาจช่วยไขความลับดำมืดที่ว่าหลุมดำในจักรวาลขยายตัวได้อย่างไรจนมีขนาดมหึมาดังกล่าวนี้ นอกจากนั้นยังต้องการทำความเข้าใจมากเป็นพิเศษว่า หลุมดำทั้งที่นิ่งสงบและกำลังตื่นอยู่นั้นมีอัตราการหมุนอย่างไร เพราะในขณะนี้มีแนวความคิดที่ขัดแย้งกัน 2 แนวทางที่ทำให้การคาดการณ์ถึงอัตราการหมุนแตกต่างกันออกไป

ทำให้เกิดความแตกต่างในเรื่องทฤษฎีการขยายตัวของขนาดของหลุมดำอีกด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image