ลุ่มๆ ดอนๆ ความจริงใจนายจ้าง จ้างงานคนพิการ

ลุ่มๆ ดอนๆ ความจริงใจนายจ้าง จ้างงานคนพิการ

แม้ว่า “คนพิการ” ในยุคนี้จะได้รับสิทธิต่างๆ มากขึ้น ทั้งได้เรียนหนังสือ แม้จะต้องใช้ความอดทนอยู่มาก แต่หลายคนก็ฝ่าฟันจนจบปริญญาตรี ในด้านการทำงาน ได้รับจัดสรรโควต้าเข้าทำงานไม่น้อย ผ่านการมีกฎหมายบังคับ มาตรการจูงใจ ทำให้ภาพรวม “จ้างงานคนพิการ” ในเชิงปริมาณพบความก้าวหน้า

แต่ในเชิงคุณภาพ ยังมีหลากประเด็นน่าขบคิด หยิบยกมาพูดคุยในงานเสวนาเรื่อง “จ้างงานคนพิการอย่างไร? ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย” จัดโดย คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ณ ห้องประชุมชั้น 25 อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น กรุงเทพฯ

นายมณเฑียร บุญตัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ กล่าวเปิดการเสวนาว่า การจ้างงานคนพิการลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด แม้รัฐจะมีมาตรการส่งเสริมใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ใน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 33 กำหนดให้สถานประกอบการและหน่วยงานรัฐรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนที่เหมาะสม ตรงนี้มีกฎกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุต้องจ้างงานในอัตราส่วนคนพิการ 1 คนต่อแรงงานทั่วไป 100 คน ซึ่งหากเทียบกับหลายประเทศในทวีปเอเชียด้วยกันเองถือว่าเรามีสัดส่วนที่ต่ำมาก

นายมณเฑียรกล่าวอีกว่า หรือหากปฏิบัติตามมาตรา 35 ไม่ได้ หรือทำได้ไม่ครบจำนวนก็ยังมีทางให้เลือกคือ มาตรา 34 ที่ให้สถานประกอบการ ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแทน หรือมาตรา 35 ที่ให้สถานประกอบการและหน่วยงานรัฐจัดสัมปทานใดใน 7 เรื่อง อาทิ จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ, จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีพิเศษ, จัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก, ให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้ เป็นต้น

Advertisement

“วันนี้การจ้างงานคนพิการยังคงมีปัญหา อย่างปัญหาการร้องเรียนทุจริต ที่เอาเงินให้คนพิการ 1-2 พันบาท บอกให้อยู่กับบ้าน ไม่ต้องมาทำงาน แล้วเอาโควต้าของเขาไปกินส่วนต่าง ขณะเดียวกันยังมีคนพิการอีกหลายคนที่ได้ทำงาน แต่ได้รับค่าตอบแทนตายตัวตลอดชีวิต หลายคนไม่มีสิทธิและสวัสดิการเหมือนแรงงานทั่วไป ฉะนั้น ต้องช่วยกันหาทางให้คนพิการได้ทำงานเพิ่มขึ้น เป็นงานที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ตลอดจนสามารถก้าวสู่เจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัพได้ต่อไป” นายมณเฑียรกล่าว

เมื่อดู สถิติการจ้างงานคนพิการ ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ณ เดือนธันวาคม 2562 พบว่า ปัจจุบันคนพิการได้รับการจ้างงานแล้ว 7 หมื่นกว่าคน จากยอดผู้ขึ้นทะเบียนคนพิการ 2 ล้านคน แยกเป็นภาคเอกชนจ้างงานแล้ว 67,404 คน คิดเป็นร้อยละ 96.14 จากจำนวนที่ต้องจ้าง ส่วนใหญ่เป็นการจ้างตามมาตรา 33 ขณะที่ภาครัฐจ้างงานแล้ว 6,256 คน คิดเป็นร้อยละ 43.97 จากจำนวนที่ต้องจ้าง ส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานตามมาตรา 33 เช่นกัน

นายมณเฑียร บุญตัน

ขณะที่ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า หากดูสถิติการจ้างงานตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา จะพบว่าความก้าวหน้าที่หลายภาคส่วนพยายามปฏิบัติตามกฎหมาย แต่หากดูในเนื้อในสถิติจริงๆ จะพบข้อเท็จจริงบางอย่าง เช่น การจ้างงานตามมาตรา 33 และ 35 เอาจริงๆ สามารถจ้างงานคนพิการได้เพียง 65,000 ตำแหน่งต่อปีโดยประมาณ ทั้งที่ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการวัยทำงาน อายุ 15-59 ปี จำนวน 8.5 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นคนพิการที่สามารถทำงานได้ แต่ไม่ได้ประกอบอาชีพถึง 2 แสนคน หรือทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นการจ้างงานที่น้อยกว่าสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาก

Advertisement

ทีดีอาร์ไอชวนจับตาว่า มีสถานประกอบการถึง 3,300 กว่าแห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของสถานประกอบการทั่วประเทศ ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวเลย เช่นเดียวกันภาครัฐ ที่บางหน่วยงานต้องจ้างคนพิการเพิ่มอีกจำนวนมาก อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ ต้องจ้างเพิ่มอีก 2,116 คน เหล่านี้เกิดขึ้นได้ยังไง เพราะอะไร ซึ่งควรมีการศึกษาก่อนมีมาตรการ หรือปรับปรุงกฎหมายต่อไป

ภายในงานเสวนามีการเสนอความคิดเห็นน่าสนใจ อย่างการเสนอจัดระบบขึ้นบัญชีผู้ให้บริการคนพิการ พร้อมระบบติดตามตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตใช้โควต้าคนพิการ พร้อมให้มีมาตรการส่งเสริมผู้พิการเป็นสตาร์ตอัพธุรกิจด้วย ควบคู่ไปกับจ้างงานเป็นลูกจ้าง

นอกจากนี้ เสนอเพิ่มสัดส่วนจ้างงานแรงงานพิการในภาครัฐเป็น 2 ต่อ 100 คน ควบคู่ไปกับการเปิดเผยรายชื่อหน่วยงานและองค์กรที่มีการจ้างงานคนพิการต่อสาธารณชน เหล่านี้จะผลักยอดการจ้างงานคนพิการให้กระเตื้องได้จริงๆ

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร

ปิดท้ายด้วย นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสะท้อนในมุมมองผู้ประกอบการว่า ผู้ประกอบการต่างพบอุปสรรคในการจ้างงานคนพิการ ตั้งแต่เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในที่ทำงานเพื่อเอื้อให้คนพิการสามารทำงานได้ แต่ก็พบปัญหาอีกว่าคนพิการส่วนใหญ่อยู่ตามภูมิภาค เช่น ภาคอีสาน โอกาสจะมาทำงานในสถานประกอบการจึงน้อยมาก ซึ่งจากตัวเลขจ้างงานคนพิการที่อยู่ประมาณ 70,000 ตำแหน่งเกือบทุกปี สะท้อนว่าเรื่องนี้ทำยากมาก แต่พอไม่จ้างคนพิการแล้วต้องส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 ก็กังวลว่าเงินจะไม่ถึงมือคนพิการ ฉะนั้น จึงเสนอให้ยกเลิกบังคับภาคเอกชนส่งเงินเข้ากองทุน เพื่อจะนำมาส่งเสริมการจัดสัมปทานให้คนพิการอย่างมีศักยภาพมากขึ้นต่อไป

สุชาติ จันทรานาคราช

อีกพลังขับเคลื่อนประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image