ผลวิจัยใหม่ชี้ ช่องโหว่ชั้นโอโซนที่ขั้วโลกใต้เริ่มหดเล็กลง

(ภาพ-SPL)

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาตินำโดย ศาสตราจารย์ ซูซาน โซโลมอน นักวิจัยชาวอเมริกัน ผู้ค้นพบสาเหตุที่ชั้นโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์กติก ในขั้วโลกใต้ถูกทำลายบางลงเป็นรูโหว่ขนาดใหญ่ในปี 1986 เผยแพร่รายงานการศึกษาครั้งใหม่ระหว่างช่วงปี 2000 จนถึงปี 2015 พบว่าช่องโหว่ของชั้นโอโซนดังกล่าวเริ่มหดเล็กลง ถือเป็นหลักฐานชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า ชั้นโอโซนเหนือแอนตาร์กติกกำลังปรับตัวดีขึ้น หลังจากพบว่าขนาดของช่องโหว่ดังกล่าวในปี 2015 หดเล็กลงกว่าขนาดในปี 2000 ราว 4 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณเท่ากับประเทศอินเดียทั้งประเทศ

การตรวจสอบพบการเยียวยาตัวเองดีขึ้นของชั้นโอโซนดังกล่าวนี้ ทีมวิจัยระบุว่า เป็นผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเจนจากการห้ามใช้สารเคมีคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน หรือสารซีเอฟซี

ในพิธีสารมอนเทรอัล ปี 1987 หลังจากศาสตราจารย์โซโลมอนเผยแพร่ผลศึกษาวิจัยระบุว่า ซีเอฟซีก่อให้เกิดโมเลกุลของคลอรีนและโบรมีนที่เป็นตัวการในการทำลายชั้นโอโซนให้บางลง ก่อนหน้านั้นซีเอฟซีมีการนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางในผลิตภัณฑ์อย่างสเปรย์แต่งผม, ตู้เย็น เรื่อยไปจนถึงเครื่องปรับอากาศ

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของซีเอฟซีต่อชั้นบรรยากาศนั้นลดลง แต่งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า กลไกตามธรรมชาติได้เริ่มช่วยให้ชั้นโอโซนขยายตัวกลับคืนมาอีกครั้ง เมื่อไม่มีตัวการทำลายที่สำคัญในชั้นบรรยากาศ

Advertisement

ในการศึกษาวิจัยครั้งใหม่นี้ ศาสตราจารย์โซโลมอน พร้อมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีดส์ ในประเทศอังกฤษ อาศัยข้อมูลจากหลายแหล่งมาประมวลกันเพื่อให้ได้ภาพรวมของชั้นโอโซนในครั้งนี้ รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากบัลลูนตรวจอากาศและดาวเทียม จากนั้นนำไปป้อนเข้าสู่โปรแกรมสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งผลที่ได้แสดงให้เห็นถึงรูโหว่ของชั้นโอโซนที่เล็กลงดังกล่าว

ศาสตราจารย์โซโลมอนตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากพิธีสารมอนเทรอัลในปี 1987 โลกพากันลดการใช้สารซีเอฟซีเป็นขั้นตอนจนกระทั่งทุกประเทศยุติการใช้ซีเอฟซีโดยสิ้นเชิงในปี 2000 แต่ก็ยังมีการตรวจพบคลอรีนเป็นจำนวนมากในชั้นบรรยากาศ สาเหตุหนึ่งนั้นเป็นเพราะคลอรีนมีช่วงอายุระหว่าง 50-100 ปี ดังนั้น คลอรีนในชั้นบรรยากาศจึงเริ่มต้นสลายตัวอย่างช้าๆ ทำให้ชั้นโอโซนฟื้นตัวขึ้นช้าตามไปด้วย

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ากว่าชั้นโอโซนในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์จะกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิมน่าจะอยู่ในช่วงระหว่างปี 2050 หรือไม่ก็ในปี 2060 การเริ่มเห็นการฟื้นตัวของชั้นโอโซนอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่ผ่านมา จึงนับว่าเป็นข่าวที่น่ายินดี

Advertisement

อนึ่ง ธรรมชาติสร้างชั้นโอโซนขึ้นมาในชั้นบรรยากาศเพื่อให้ทำหน้าที่ปกป้องโลกด้วยการสกัดรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ซึ่งไม่เพียงก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง, ต้อกระจก ในคนเราแล้ว ยังสามารถส่งผลเสียต่อสัตว์และพืชโดยรวมอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image