ของขวัญจากพ่อ วงการแพทย์ไทยก้าวไกล ผลิต ‘ยาชีววัตถุ’ ใช้เอง

ของขวัญจากพ่อ วงการแพทย์ไทยก้าวไกล ผลิต ‘ยาชีววัตถุ’ ใช้เอง

ยาชีววัตถุ – ในยุคที่เทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้น ทำให้เกิดการศึกษา วิจัย และพัฒนาวิธีการรักษาแนวใหม่ขึ้นมากมาย โดยมุ่งที่จะให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด ดังเช่น “ยาชีววัตถุ” (Biopharmaceuticals) ยาแห่งอนาคตที่มีประสิทธิภาพและกำลังได้รับความสนใจจากวงการแพทย์ทั่วโลกอยู่ในขนาดนี้ ด้วยเป็นยาที่ผลิตจากแบคทีเรีย หรือเซลล์โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การหมักแบคทีเรีย (Bacteria Fermentation) หรือการเลี้ยงเซลล์ (Cell Culture)

และก็เป็น “ข่าวดี” ของประเทศไทย เมื่อโรงงานที่สามารถผลิต “ยาชีววัตถุ” ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ภายใต้ชื่อของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ด้วยมีความมุ่งมั่นที่จะลดการพึ่งพาวัตถุดิบยาจากภายนอกประเทศ ทำให้คนไทยเข้าถึงยารักษาโรคได้มากขึ้น ด้วยราคาที่ลดลงถึงร้อยละ 30-40 เลยทีเดียว

ที่สำคัญคือเป็นบริษัทผู้ผลิตยาที่ทำงานโดยคนไทยในทุกขั้นตอน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของบุคลากรทางด้านงานวิทยาศาสตร์การแพทย์รวมไปถึงนักวิจัยของไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก เพราะโรงงานผลิตยาชีววัตถุแห่งนี้นอกจากจะผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานโรงงานระดับโลก PIC/s GMP, ISO 9001 และ ISO 17025 แล้ว ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตยาและชุดตรวจโรค ให้แก่ องค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศด้วย

Advertisement

และความสำเร็จคงเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการเริ่มต้น

มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ สยามไบโอไซเอนซ์ เล่าว่า สยามไบโอไซเอนซ์ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2552 โดยน้อมนำพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย ด้วยทรงเห็นว่า “คน” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาประเทศ จึงทรงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อการพัฒนาประโยชน์สุขให้เกิดแก่ส่วนรวมและประเทศชาติ

Advertisement

จึงเป็นดั่ง “ของขวัญจากพ่อ” ที่ไม่ได้มอบแค่เพียงคนไทย แต่เพื่อคนทั้งโลก “เพราะการวิจัยทางการแพทย์ ต้องทำเพื่อมวลมนุษยชาติ” ดังส่วนหนึ่งของพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์และสาธารณสุข ความว่า

“ความสำเร็จที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่การได้มาซึ่งความรู้เท่านั้น แต่อยู่ที่การประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ” (True Success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind.)

สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทแรกของคนไทยที่ลงทุนพัฒนาและผลิตยาชีววัตถุ โดยยาตัวแรกที่ออกสู่ตลาดแล้วคือ “ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง” สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไตวาย ตัวที่สอง คือ “ยาเพิ่มเม็ดเลือดขาว” ใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีผลข้างเคียงต่ำ ทั้งสองชนิดผลิตด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์สมัยใหม่ โดยส่งนักวิทยาศาสตร์และทีมวิจัยไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ กระทั่งได้ทำความร่วมมือกับบริษัทยาในประเทศคิวบา ที่มีเทคโนโลยีผลิตยาชีววัตถุที่แข็งแกร่ง สามารถผลิตยาใช้ได้เองภายในประเทศ

“จริงๆ ยาชีววัตถุ มีราคาค่อนข้างแพงและมีการนำเข้ามาจากเมืองนอก การที่คนไทยสามารถผลิตยาชีววัตถุเองได้ ส่งผลให้บริษัทยาจากเมืองนอกต้องลดราคาลงมา ซึ่งลดลงจากราคาเดิมถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์”

ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ด้วยรอยยิ้มและทิ้งท้ายว่า นี่คือภาคภูมิใจของคนไทย คือความมั่นคงและยั่งยืนทางการสาธารณสุขของประเทศ ที่จะลดการพึ่งพายาจากภายนอก อีกประการคือความมุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยและทั่วโลกเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น โดยเฉพาะในโลกทุกวันนี้ที่มีโรคภัยใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่เพียงแค่ผู้สูงอายุ แต่มีคนวัยหนุ่มสาวและเด็กจำนวนมากในโลกที่ต้องต่อสู้กับภาวะเจ็บป่วยโดยไม่มีโอกาสเข้าถึงยาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

รวมทั้ง “การมีสุขภาพที่ดี” คือความมั่นคงขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพราะเมื่อคนมีความพร้อมทางร่างกายก็จะมีกำลังขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศชาติ ให้ก้าวนำไปข้างหน้าได้

ด้าน “ความสำคัญ” และการทำงานของ “ยาชีววัตถุ”

ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการสยามไบโอไซเอนซ์ อธิบายว่า ร่างกายของเราแบ่งส่วนประกอบหลักๆ คือ น้ำ 70% และโปรตีน 30% ซึ่ง “ยาชีววัตถุ” คือโปรตีนที่เลียนแบบการทำงานของร่างกาย ดังเช่น โปรตีนตัวหนึ่งในร่างกายที่ผลิตจากไต มีหน้าที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง แต่เมื่อไตวายก็ไม่สามารถผลิตได้ จึงต้องผลิตจากข้างนอกแล้วเติมเข้าไป

“ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง” ที่บริษัทผลิตขึ้น ก็คือโปรตีนชนิดหนึ่งที่เมื่อฉีดเข้าไปจะทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งให้ผลข้างเคียงน้อย นอกจากนี้ยาชีววัตถุยังสามารถดัดแปลงโครงสร้างโปรตีนดังกล่าว และโปรแกรมให้เข้าไปทำหน้าที่ให้เหมาะสมกับขั้นตอนการรักษา เช่น “ยาเพิ่มเม็ดเลือดขาว” ใช้สำหรับการรักษามะเร็ง โดยโปรแกรมตัวโปรตีนให้ไปรักษาเซลล์มะเร็ง หรือที่เรียกว่า “การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง” (Targeted Therapy) ต่างจากการรักษาด้วยการทำเคมีบำบัดซึ่งเปรียบเหมือน “ระเบิดปูพรม” คือทำลายทุกเซลล์ทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ที่ดี ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ แต่ยาชีววัตถุจะทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งเท่านั้น จึงมีผลข้างเคียงน้อย และผู้ป่วยสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ไวขึ้น จึงเป็นการลดภาระของครอบครัวในอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ยาชีววัตถุ เป็นยาที่ต้องให้บุคลากรทางแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น หลายคนจึงอาจจะไม่คุ้นชื่อ

นายธวัชชัย พิเศษกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด ซึ่งดูแลในเรื่องกิจกรรมทางการตลาดทั้งในประเทศและส่งออก กล่าวว่า ยาชีววัตถุทั้งสองชนิดต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาทางบริษัทได้บริจาคให้กับผู้ป่วยผู้ยากไร้ที่เข้าไม่ถึงสิทธิการรักษา ผ่านหน่วยแพทย์ โรงพยาบาลตามขอบชายแดน และอื่นๆ ตลอดจนส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา เมียนมา และศรีลังกาแล้ว ส่วนในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงอยู่ในระยะดำเนินการยื่นขอสิทธิการรับรองของแต่ละประเทศ เพื่อขยายพื้นที่การส่งออกต่อไป กระนั้นการส่งออกยาชีววัตถุไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ เพราะกำลังการผลิตยาชีววัตถุนั้นสามารถผลิตได้มากกว่าความต้องการภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยาในเครือสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับการบรรจุเข้าบัญชียาของหน่วยงานด้านสุขภาพ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคมแล้ว และสยามไบโอไซเอนซ์ยังวางแผนการวิจัย พัฒนาและผลิตยาบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โรคไต โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคสะเก็ดเงิน และอื่นๆ ต่อไป ด้วยมีผู้ป่วยคนไทยจำนวนมากที่เป็นโรคดังกล่าว

สำหรับ โรงงานผลิตยาสยามไบโอไซเอนซ์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ บนเนื้อที่กว่า 37 ไร่ ประกอบด้วย 3 โรงงานหลัก คือ 1.โรงงานหมักแบคทีเรีย (Bacteria Fermentation Production) มีหน้าที่ผลิตตัวยาชีววัตถุจากเชื้อแบคทีเรีย ที่นักวิจัยและเจ้าหน้าที่ร่วมกันศึกษาค้นคว้า กระทั่ง “สามารถพัฒนาสายพันธุ์แบคทีเรีย” ที่ใช้เป็นหัวเชื้อในการผลิตยาชีววัตถุได้อย่างยั่งยืน โดยนำแบคทีเรียที่เป็นหัวเชื้อมาเพิ่มจำนวน และเลี้ยงในสภาวะที่เหมาะสมเพื่อให้ผลิตโปรตีน ซึ่งเป็นยาชีววัตถุได้ปริมาณมากอย่างมีคุณภาพ จากนั้นจึงนำไปสกัดแยกยาและทำให้บริสุทธิ์

2.โรงงานบรรจุ (Fill finished Operation Zone) มีหน้าที่บรรจุยาปราศจากเชื้อลงในขวดแก้ว, หลอดแก้ว หรือเข็มฉีดยาพร้อมใช้ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการ 5 ขั้นได้แก่ กระบวนการปรุงสูตรยาเพื่อให้ยามีความคงตัว เหมาะสมกับการใช้กับผู้ป่วย, กระบวนการกรองเพื่อให้ไม่มีเชื้อปะปน, กระบวนการบรรจุ (เติม), กระบวนการตรวจสอบ และกระบวนการบรรจุ (แพคกิ้ง)

3.โรงงานเลี้ยงเซลล์ (Cell Culture Production) มีหน้าที่ผลิตตัวยาชีววัตถุจากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammalian Cell) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ต่อยอดจากการใช้แบคทีเรีย เนื่องจากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีลักษณะพันธุกรรมใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่าแบคทีเรีย จึงได้โปรตีนซึ่งเป็นตัวยาชีววัตถุที่มีความคล้ายกับมนุษย์ยิ่งขึ้น โดยเจ้าหน้าที่จะนำเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาปรับปรุงและเพิ่มพันธุกรรมเพื่อให้สามารถผลิตโปรตีนซึ่งเป็นยาชีววัตถุ โดยนำเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาละลายออกจากไนโตรเจนเหลวที่ใช้เก็บรักษาเซลล์ไว้ และนำมาเลี้ยงเพื่อให้ผลิตโปรตีนต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนความรู้จากประเทศคิวบาเกี่ยวกับวิธีการเพาะเลี้ยงเซลล์ให้มีอายุเซลล์ยาวนานขึ้น ส่งผลให้การวิจัยมีความต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นด้วย

 

ดร.ทรงพล ดีจงกิจ – อภิพร ภาษวัฒน์ – นวลพรรณ ล่ำซำ – ธวัชชัย พิเศษกุล

บันทึกหน้าใหม่ของวงการยาประเทศไทย


ในวันที่มีทั้งฝุ่นและไวรัส
คุยเรื่องสุขภาพกับมาดามแป้ง

เป็นผู้หญิงมากความสามารถระดับแนวหน้าของเมืองไทย สำหรับ มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ ที่รันทุกวงการทั้งวงการกีฬา ธุรกิจส่วนตัว รวมไปถึงบทบาทล่าสุดกับการเป็น “ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์” ให้กับสยามไบโอไซเอนซ์ บริษัทผลิตยาชีววัตถุแห่งเดียวในไทย ที่แม้ว่างานจะรัดตัวจนทำให้พลาดมื้ออาหาร หรือนอนไม่พอบ้าง แต่มาดามแป้งก็แง้มเคล็ดลับการดูแลสุขภาพว่า ไม่ดื่มแอลกอฮอล์และไม่สูบบุหรี่ ประกอบกับดื่มน้ำให้มากๆ ประมาณ 18 แก้วเป็นอย่างต่ำ ควรพกน้ำดื่มไว้ใกล้มือเสมอ เป็นเทคนิคที่ใครๆก็ทำตามได้ ส่วนการรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นและไวรัสโควิด-19 ก็ต้องกินร้อนช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ จะช่วยป้องกันได้

อย่างไรก็ตาม มาดามแป้งยังเน้นว่า เรื่องสุขภาพและยารักษาโรคเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เปรียบได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 เพราะทันทีที่หนึ่งคนเจ็บป่วยจะเกิดเป็นภาระของคนรอบข้าง เกิดเป็นความห่วงใยของครอบครัว ทั้งยังกระทบถึงงาน นอกจากนี้ในสังคมโลกปัจจุบัน สิ่งที่ทุกคนเป็นห่วงมากที่สุดคือเรื่อง สวัสดิการสุขภาพ แม้แต่ในยุโรปเอง หลายประเทศก็เกิดปัญหาเรื่องบำนาญที่หลายคนกังวลว่าจะตอบโจทย์และเพียงพอต่อการใช้ดูแลตัวเองหรือไม่ เพราะทุกคนมองว่าการดูแลสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วยเป็นเรื่องสำคัญ

ฉะนั้นถ้าสุขภาพดีก็ลดปัญหาของคนในครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม และนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image