“เมโลดี้ส์ ออฟ เฟรนด์ชิพ” ดนตรีเชื่อมสายสัมพันธ์ 70 ปี ไทย-กัมพูชา

“เมโลดี้ส์ ออฟ เฟรนด์ชิพ” ดนตรีเชื่อมสายสัมพันธ์ 70 ปี ไทย-กัมพูชา

70 ปี ไทย-กัมพูชา – ย้อนกลับไปที่ปี 2493 ประเทศไทยและกัมพูชา ได้เริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการขึ้น

ในปีนี้นับเป็นโอกาสอันดี ที่จะฉลองความสัมพันธ์ยาวนาน 70 ปี โอกาสนี้ กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์กัมพูชา ได้จัด โครงการการแสดงดนตรีเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-กัมพูชา ณ หอประชุมจตุมุข นำวง มหิดล ยูนิเวอร์ซิตี้ แจ๊ซ ออเคสตรา ของ วงดุริยางค์ ฟีลฮาร์โมนิก แห่งประเทศไทย มาร่วมแสดง ในคอนเสิร์ต “เมโลดี้ส์ ออฟ เฟรนด์ชิพ”

การนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เสด็จฯมาทอดพระเนตรการแสดง

และยังได้เหล่าผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนจากสถานทูตประเทศต่างๆ ประจำกัมพูชา ผู้แทนจากภาครัฐของกัมพูชา รวมทั้งเหล่านักเรียนนักศึกษา เข้าร่วมงาน

Advertisement

คอนเสิร์ต “เมโลดี้ส์ ออฟ เฟรนด์ชิพ” ครั้งนี้ สร้างความอิ่มเอมให้กับผู้ชม ด้วยการอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อาทิ เพลง ชะตาชีวิต, อาทิตย์อับแสง, Oh I say และ เพลงยิ้มสู้ และเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ พระบรมรัตนโกศ อาทิ Le Soir Ou Je tai Rencotree, Monica. Rose de Phnom Penh และ Le foret Enchantee ฉายให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของกษัตริย์ทั้งสองแผ่นดิน ทั้งยังนำเพลงแจ๊ซชื่อดังและเพลงดังของไทยอย่าง “ออเจ้าเอย” เพลงประกอบละครบุพเพสันนิวาส ที่โด่งดังในประเทศกัมพูชา และเพลง รักข้ามขอบฟ้า มาขับร้องทั้งในภาษาไทยและภาษาเขมร โดยนักร้องชาวไทย จัสมิน-พัชราวลี ดำรงค์ธรรมประเสริฐ และ มา จันปัญญา นักร้องชาวกัมพูชา โดยการควบคุมวงของ อ.ทวีศักดิ์ บูรณพานิชพันธุ์

Advertisement

เรียกเสียงปรบมือก้องหอประชุมจตุมุข

 

ปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ เผยว่า เราเลือกการแสดงดนตรีแจ๊ซ ด้วยคิดว่ายังไม่แพร่หลายมากในกัมพูชา คนรุ่นใหม่ของกัมพูชาน่าจะได้รับฟัง โดยมีการแจกบัตรให้กับนักเรียนด้านดนตรี รวมถึงนักเรียนภาษาไทย ได้มาร่วมชมครั้งนี้ โดยการแสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์ของทั้ง 2 พระองค์ ผู้ทรงมีพระปรีชาด้านดนตรี เปรียบเหมือนดนตรีได้เชื่อมทั้งสองแผ่นดิน ทั้งยังได้นักร้องวัยรุ่นชื่อดังมาร่วมขับขาน นอกจากนี้ เรายังได้จัดประกวดภาพถ่าย 70 ปีความสัมพันธ์ในสายตาของข้าพเจ้าขึ้น ให้คนไทยและกัมพูชาได้ส่งภาพเข้ามาประกวดอีกด้วย

ภายหลังจบการแสดง พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี ได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ขอบคุณที่ได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระราชบิดา มาร่วมบรรเลงในครั้งนี้ และผู้ชมจากประเทศต่างๆ ก็ต่างชื่นชอบ โดยเฉพาะกับทูตสหรัฐ เพราะดนตรีแจ๊ซเกิดขึ้นที่สหรัฐ ท่านบอกว่า เป็นการแสดงที่เปลี่ยนบรรยากาศโดยรวมของกัมพูชาไป”

ปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ

ขณะที่ ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า เพลงต่างๆ ที่ได้เลือกมาใช้ในการแสดงนี้ เป็นเพลงที่ทางสำนักพระราชวังกัมพูชา ได้เลือกมาแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี ทรงโปรด และทรงอยากฟังเพลงอะไร โดยแม้จะซักซ้อมกันไม่กี่สัปดาห์ มีทั้งนักเรียนและอาจารย์ร่วมแสดง แต่มีการเตรียมความพร้อมมานานแล้ว ก่อนจะมาซ้อมในสถานที่จริงร่วมกับนักร้องชาวกัมพูชา โดยเครื่องเสียงต่างๆ นำมาจากไทย เพื่อให้มีความทันสมัย ปรับให้ใช้เครื่องเสียงให้น้อยที่สุด เพื่อให้ผู้ชมได้ฟังเสียงอะคูสติกจริงๆ ได้ฟังเสียงสดมากกว่าไมโครโฟน โดยคณะนักดนตรี ต่างรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนประเทศมาแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง ทุกคนฝึกซ้อมอย่างหนัก ถือเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างไทยกัมพูชา“การมาแสดงดนตรีครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าไทย-กัมพูชา แทบจะเป็นมากกว่าพี่น้อง เหมือนเป็นเครือญาติจริงๆ มีความเหมือนทางวัฒนธรรม เขามีลิเก เราก็มี เขามีโขน เราก็มี อย่างเพลง รักข้ามขอบฟ้า ก็แสดงให้เห็นความคล้ายของภาษา ที่บางคำแทบจะเป็นคำเดียวกัน ดนตรีไม่ว่าจะชนิดไหนก็ตาม หลายคนบอกว่าเป็นภาษาสากล แต่บางครั้งเราอาจฟังภาษาคนอื่นไม่ออก สิ่งที่ทำให้เข้าใจก็คือความรู้สึก คืออารมณ์ ที่ทุกคนรู้สึกไม่จำเป็นต้องเข้าใจก็สื่อกันได้”

ณรงค์ ปรางค์เจริญ

ปิดท้ายด้วย นางเภือง สกุณา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์กัมพูชา เผยว่า รู้สึกประทับใจในการแสดงครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ได้เห็นความสามารถของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ ที่แม้จะอายุน้อยแต่มืออาชีพ ทั้งยังได้รับฟังเพลงพระราชนิพนธ์ของกษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ ที่แม้พระองค์จะสวรรคตแล้ว แต่ได้ยินก็รู้สึกรำลึกถึงเหมือนกับพระองค์ยังทรงอยู่กับประชาชน ทั้งไทยและกัมพูชา รวมไปถึงเพลงรักข้ามขอบฟ้า ที่มีทั้งภาษาไทยและกัมพูชา เปรียบถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น และมีความหมาย อยากให้กลับมาแสดงอีกครั้ง

นางเภือง สกุณา
อดีตคณะทูต

ดนตรีเชื่อมสัมพันธ์

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 


70 ปี ไทย-กัมพูชา

ชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น นับได้ว่ามีความสำคัญมาก สองประเทศมีชายแดนต่อกันเกือบ 800 กิโลเมตร ก่อนที่ความสัมพันธ์ 70 ปีนี้จะเริ่มต้นขึ้น ไทยและกัมพูชา ก็นับได้ว่ารู้จักกันมาก่อนอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่ชายแดน ทั้งสุรินทร์ ศรีสะเกษ เราสองชาติเป็นพี่น้องกัน มีเชื้อสายเดียวกัน มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การค้า มาตลอดอยู่แล้ว เมื่อเปิดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ เป็นเรื่องธรรมดาที่ระยะเวลานานเช่นนี้ จะมีทั้งความร่วมมือและความขัดแย้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะคลี่คลายไปในทางที่ดี

ที่ปรึกษารัฐมนตรีเผยอีกว่า ไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์ในทุกมิติและทุกระดับ มีการประชุมร่วมกันทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี นักท่องเที่ยวไทยไปกัมพูชา และกัมพูชามาไทยจำนวนหลายแสนคน รวมถึงแรงงานชาวกัมพูชาที่อยู่ในไทยเกือบ 8 แสนคน ปริมาณการค้าระหว่างกันเพิ่มสูงขึ้นถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากคนไทยจะมาทำธุรกิจที่กัมพูชาจำนวนมากแล้ว รัฐไทยก็ยังดูแลเรื่องสวัสดิการ คุ้มครองแรงงานกัมพูชาที่อยู่ในประเทศไทยให้ดีด้วย

ชัยสิริ อนะมาน

ขณะที่ ปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ เผยว่า ก่อนจะมีเส้นเขตแดนขึ้นมานั้น ประชาชนทั้งสองฝั่งก็อยู่ด้วยกันดุจพี่น้อง เหมือนเป็นชาติเดียวกัน ตลอด 70 ปีของความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านนั้น แม้จะมีขึ้นและลง หน้าที่ของสถานทูตก็คือประคับประคอง รักษาความสัมพันธ์ให้ดีที่สุด และมีเพียง 2 ประเทศคือ ไทยและสหรัฐที่มีความสัมพันธ์ยาวนาน 70 ปี นอกจากสถานทูตไทยแล้ว ก็ยังมีหน่วยงานต่างๆ อีก 7 สำนักงาน ทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ป.ป.ส. สำนักงานพาณิชย์ และสำนักนายกรัฐมนตรี การมีสำนักงานมากเช่นนี้แสดงถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิด และการแลกเปลี่ยนระหว่างกันค่อนข้างมาก มีการเยือนกันในระดับต่างๆ ค่อนข้างถี่ นอกจากนี้ ครั้งใดหากกระทรวงต่างประเทศทำหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี เสด็จฯมางานต่างๆ พระองค์ก็จะเสด็จฯมาเสมอ ครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต พระองค์ก็เสด็จฯมาร่วมถวายความอาลัย นับเป็นเครื่องยืนยันว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญยิ่ง

มิตรภาพข้ามพรมแดน

นอกจากการแลกเปลี่ยนระหว่างพรมแดนของทั้งสองประเทศแล้วนั้น ไทยยังมีความช่วยเหลือด้านวิชาการให้กับกัมพูชา ปัญญรักษ์เผยว่า โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีโครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านการศึกษาให้กับกัมพูชา โดยพระราชทาน สถาบันเทคโนโลยีกำปงเฌอเตียล ใน จ.กำปงธม และ สถาบันเทคโนโลยีกำปงสะปือ ใน จ.กำปงสะปือ ทั้งยังพระราชทานทุนการศึกษาให้กับนักเรียนชาวกัมพูชา ได้ไปศึกษาในประเทศไทย ระหว่างปี 2548-2561 พระราชทานทุนไปแล้ว 1,951 ทุน และในปี 2562 พระราชทานเพิ่มอีก 60 ทุน ซึ่งทุนการศึกษานี้ได้รับความนิยม เข้ามาแข่งขันกันมาก เพราะมีความหลากหลายของสาขา และไม่มีข้อผูกมัดว่าจะกลับมารับราชการ หรือทำธุรกิจที่บ้าน หลายคนเรียนจบกลับมาทำอาชีพหลากหลาย บ้างก็เป็นครู จนสามารถเปิดสาขาภาษาไทย ที่ รอยัล ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ กัมพูชา ได้ ซึ่งนักเรียนเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดี เพราะเข้าใจในประเทศไทยอย่างดี

ปัญญรักษ์กล่าวต่อว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังพระราชทานความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่ชาวกัมพูชา ที่ จ.รัตนคีรี และมณฑลคีรี เป็นโครงการต่อต้านโรคมาลาเรีย เพราะพื้นที่ตรงนั้นยังมีผืนป่าเยอะ นอกจากนี้ ยังมีความช่วยเหลือของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่เตรียมจะมอบอาคาร 2 แห่ง คือ อาคารเรียนสำหรับศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ในกรุงพนมเปญ, อาคาร 4 หลัง ของศูนย์ฝึกวิชาชีพและบำบัดผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ ที่ จ.พระสีหนุ และอาคารเรียนไทยศึกษา ที่มหาวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเชิญผ้าพระกฐินไปพระราชทานทอดถวาย ณ วัดพระพุทธศาสนาในกัมพูชา รวมทั้งเทศกาลภาพยนตร์ไทยในกัมพูชาอีกด้วย

เรื่องไทย ในกัมพูชา

หากไม่ได้ไปกรุงพนมเปญสัก 2 ปี กลับไปอีกครั้งอาจจะจำไม่ได้ ปัจจุบันนี้พนมเปญรายล้อมไปด้วยอาคารสูงที่กำลังก่อสร้างมากมาย บนถนน 2 เลน มีรถหรู และสปอร์ตคาร์ วิ่งขวักไขว่ ในช่วงเวลาทำการอาจต้องเผื่อเวลาการเดินทางสักหน่อย เพราะการจราจรติดขัดไม่น้อย ขณะที่ค่าครองชีพในกัมพูชาก็สูงขึ้นไม่น้อย หากกินอาหารอย่างดี มื้อหนึ่งอาจจะอยู่ที่ 100 บาท

เช่นเดียวกับประเทศไทย ในโลกดิจิทัลทุกวันนี้ ชาวกัมพูชาและนักท่องเที่ยวต่างใช้ pass app และแกร็บ ในการเรียกรถสามล้อสไตล์น่ารัก มีหลังคาปิดเวลาฝนตก สะดวกรวดเร็วและได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น

เอ่ยถึงกัมพูชาทุกวันนี้ ทูตปัญญรักษ์เผยว่า ด้วยความที่ประชาชนส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 25 ปี จึงเป็นวัยแรงงาน หลายประเทศต่างเดินทางเข้ามาทำธุรกิจในกัมพูชา ซึ่งที่นี่สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ 100% โดยเฉพาะกับจีนที่เข้ามาซื้อที่ดินจำนวนมาก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงเติบโตมาก คนกัมพูชาขายที่ได้หลายสิบล้าน ก็อยากเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเขามองหาแฟรนไชส์จากประเทศไทย อย่างเช่น คาเฟ่ อะเมซอน หรือ ร้านกาแฟดอยช้าง ก็เป็นที่นิยมนำมาเปิดในกัมพูชา จนมีมากกว่า 100 สาขา

“ด้วยเป็นประเทศที่รายได้หลักอยู่ที่ภาคเกษตรกรรม จึงต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติจำนวนมาก ทั้งจากเกาหลี ญี่ปุ่น จีน และไทย ซึ่งภาคธุรกิจไทยมาลงทุนที่กัมพูชาเกือบทุกประเภท ทั้ง ธนาคารกรุงเทพ ไทยพาณิชย์ กสิกร เอสซีจี โรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ใช้ชื่อ รอยัลพนมเปญ และ รอยัลอังกอร์ ทั้งยังมีท่าเรือ และสถานีโทรทัศน์ของคนไทย ชาวกัมพูชาเลือกให้ไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในหลายๆ อย่าง สินค้าไทยมีจำนวนมาก และการมาเปิดธุรกิจต่างๆ นับได้ว่ามีส่วนในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิต หรือธุรกิจที่นี่เช่นกัน อย่างปั๊มน้ำมัน แต่ก่อนที่นี่จะโลคัลมากๆ ห้องน้ำไม่มี แต่ ปั๊ม ปตท.ของไทย สร้างมาตรฐานว่าห้องน้ำต้องสะอาด มีร้านสะดวกซื้อ มีร้านอาหาร ทำให้ทุกปั๊มต้องเร่งปรับปรุงตัว คนที่นี่มั่นใจในสิ่งที่ดีของไทย แต่หากจะเข้ามาลงทุน แนะนำให้ศึกษากฎหมายให้ดี เพราะค่อนข้างละเอียด และออกกฎหมายบ่อย ต้องทำอะไรเป็นลายลักษณ์อักษร”

“อย่างนโยบายท่องเที่ยว ไทย+1 ของเรา ที่ชวนนักท่องเที่ยวมาไทยและประเทศอื่นๆ รอบข้าง คนกัมพูชาก็ชอบ เพราะกัมพูชามีเพียงนครวัดเพียงที่เดียว อาจจะดึงดูดชาวต่างชาติไม่ได้ทั้งหมด หรือในอีกไม่นานมานี้ จะมีการเปิดเดินรถไฟข้ามแดน จากหนองคาย-ปอยเปต-กรุงพนมเปญ หลังจากที่กัมพูชาไม่มีรถไฟมานาน”

“ซึ่งเป็นหน้าที่ของเรา ที่อยากให้ประชาชนทั้ง 2 ชาติ เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น ว่าเรามีพรมแดนอยู่ด้วยกัน อย่างไรก็หนีกันไม่ได้ชั่วกัลปาวสาน การมีมิตรที่เดินจับมือสร้างความเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน ย่อมดีกว่า” ทูตปัญญรักษ์เผย

แบรนด์ต่างๆ ที่ไปเปิดแฟรนไซส์

วัฒนธรรม 2 แผ่นดิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วัฒนธรรมต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความคล้ายคลึงกัน เช่นเดียวกับชาวไทยและกัมพูชา ที่มีโขน หรือการรำต่างๆ ที่คล้ายกัน เรื่องนี้ นางเภือง สกุณา เผยว่า ฉันคิดว่าทั้งสองประเทศมีอะไรหลายๆ อย่างที่ส่งอิทธิพลต่อกัน ได้ใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรม ที่มีหลายๆ อย่างคล้ายคลึงกัน ยกตัวอย่างเช่น อาหาร ที่คล้ายคลึงกันมาก วัตถุดิบอาจจะคล้ายกันแต่รสชาติก็ไม่เหมือนกัน อาหารไทยอาจเผ็ดกว่าเล็กน้อย เช่น ห่อหมก ที่เรียกก็คล้ายๆ กันแต่รสชาติต่างกัน นี่คือสิ่งที่จะบอกได้ว่าสิ่งใดเป็นเอกลักษณ์ของเขา หรือการรำ ชาวต่างชาติอาจมองว่าคล้ายกัน แต่เราจะรู้ได้ว่าแบบไหนเป็นของเรา นี่คือความสวยงาม เหมือนกับดอกไม้ในสวน ที่มีหลากหลายสายพันธุ์

ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมานี้ นางเภืองเผยว่า ทั้ง 2 ประเทศมีความร่วมมือกันหลายอย่างทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม ผู้นำทั้งสองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ส่วนของวัฒนธรรมนี้ ไม่ใช่แค่มีความร่วมมือด้านดนตรี หรือรำ แต่ยังมีความร่วมมือองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน เราส่งศิลปินไปไทยหลายคน และมีศิลปินไทยมากัมพูชาก็มาก ทั้งยังมีการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วยกัน ไทยเองมีประสบการณ์ด้านนี้มากกว่า ก็ได้นำหนังไทยมาฉาย รวมทั้งละครไทยต่างๆ

 

รถสามล้อแท็กซี่ (ภาพจาก pass app taxi)

เผยแพร่ “ไทย” สู่เวทีโลก

ไม่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา แต่ยังเผยแพร่ความเป็นไทยไปสู่ชาติอื่น ชัยสิริ อนะมาน เผยว่า ไทยมีโครงการนำวัฒนธรรมไปเผยแพร่ในประเทศอื่นๆอีกมาก เช่น นำโขนไปแสดงที่ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือ มวย ศิลปะป้องกันตัวของเราไปเผยแพร่ และมีการนำภาพยนตร์ไทยไปฉายให้ประเทศต่างๆชม รวมไปถึงอาหาร ซึ่งอาหารไทยไปไกลมาก และยังมีกฐินพระราชทาน ไปยังประเทศต่างๆ เป็นการเผยแพร่ซอฟท์ พาวเวอร์ ใช้อีกหนึ่งเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

มีอีกหลายหนทางที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันและกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image