ครึ่งศตวรรษ ‘โครงการหลวง’ อุดมพืชไม้ดอกเมืองหนาว เสิร์ฟ ‘ของดี’ จากยอดดอยฯ

ครึ่งศตวรรษ ‘โครงการหลวง’ อุดมพืชไม้ดอกเมืองหนาว เสิร์ฟ ‘ของดี’ จากยอดดอยฯ

โครงการหลวง – เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ผู้บริโภคไว้วางใจ เพราะจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์ไปแล้ว นอกจากจะได้บริโภคของที่มีคุณค่า ในราคาเป็นมิตร ก็ยังได้ช่วยเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือ “โครงการหลวง” ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง ปีนี้ก้าวสู่ปีที่ 51

ซึ่งยังคงยึดมั่นตามพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ ความตอนหนึ่งว่า

“ชาวเขาตามที่รู้ เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยชาวเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ”

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่โครงการหลวงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชพันธุ์เมืองหนาวต่างประเทศ อาทิ การปลูกสตรอเบอรี่, กาแฟอาราบิก้า, พืชผักเขตหนาว ไม้ผลเมืองหนาว ไม้ตัดดอกและไม้ประดับ ทว่าพอปลูกได้แล้วก็เกิดปัญหาว่า “ขายไม่ออก ถูกกดราคา” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป” เพื่อรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรในราคาเป็นธรรม ส่งขายภายใต้แบรนด์โครงการหลวง ก่อนขยายผลพัฒนาไปอีกพื้นที่หนึ่ง ผ่านการตั้ง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง” ปัจจุบันมี 39 ศูนย์ กระจายครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งหมดถูกบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ภายใต้ “มูลนิธิโครงการหลวง” จนถือเป็นการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่

Advertisement

มูลนิธิโครงการหลวง จึงร่วมกับศูนย์การค้าสยามพารากอน พาคณะสื่อมวลชนติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการหลวงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย ก่อนจัดงาน “Royal Project Gastronomy Festival 2020 @Siam Paragon : Colors of Health สีสันแห่งยอดดอยสู่สุขภาพที่ดีของคนเมือง” ณ พาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน

แปลงของเกษตรกรสมาชิก สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

เริ่มที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยแรกๆ ของโครงการหลวง นายพิชัย คำเกิด หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง กล่าวว่า สิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงทำให้ แล้วในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดนั้น วันนี้ต้องบอกว่าสถานีเกษตรหลวงอ่างขางพร้อมก้าวสู่การเป็นสถานีวิจัยและเรียนรู้แห่งแรกของโครงการหลวง ที่ใครก็สามารถมาดูงาน และสมัครเรียนหลักสูตรปลูกไม้ผลเมืองหนาวได้

Advertisement

น้ำพระทัยยังได้ชโลมไปถึงราษฎรที่อาศัยติดชายแดน ให้สามารถอยู่ปักหลักทำกินได้อย่างมีอนาคต อย่างที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ที่อยู่ติดชายแดนพม่าเพียง 6 กิโลเมตร วันนี้เกษตรกรมีอยู่มีกินจากการปลูกพืชเมืองหนาว อาทิ ฟักทองญี่ปุ่น ฟักทองจิ๋ว มะเขือก้านเขียว-ก้านดำ ผักสลัด ข้าวโพดม่วง เสาวรส ฯลฯ ส่งขายโครงการหลวง และยังเป็นที่ตั้งของ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม

พิชัย คำเกิด

พิชิต วันชัย หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชหลักพืชรอง ปลูกหมุนเวียน และปลูกไม่ซ้ำกัน ซึ่งแบบนี้จะช่วยให้ไม่มีโรคทางพืช ไม่ต้องใช้สารเคมี และยังสามารถหมุนเวียนเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี

“โครงการหลวงได้ศึกษาวิจัยพืชไม้เมืองหนาวใหม่ๆ ให้เกษตรกรได้ปลูกอยู่ตลอด และเน้นการปลูกแบบอินทรีย์ ทำให้มีออเดอร์แน่น อย่างที่หมอกจ๋ามส่งขายผ่านโครงการหลวง และส่งขายตรงเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ จนเกษตรกรหลายคนเริ่มมีเงินทอง สามารถปักหลักอยู่ในพื้นที่อย่างมั่นคง ไม่รุกป่าเพิ่ม หลายคนยังมีรอยยิ้มขึ้นไปอีก ที่สามารถส่งลูกเรียนจบสูงๆ ได้”

พิชิต วันชัย
สตรอว์เบอร์รี

เช่นเดียวกับอดีตพื้นที่สีแดงคอมมิวนิสต์ติดชายแดน สปป.ลาว ซึ่งเป็นที่ตั้ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง จ.เชียงราย นับเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งสุดท้ายในรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันส่งเสริมเกษตรกรปลูก เช่น ผักสลัด พีช พลับ องุ่น บ๊วย กาแฟ ฯลฯ แต่พยายามทำแตกต่างจากศูนย์อื่นๆ เพราะเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อนเศรษฐกิจ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

ธนภัทร์ จรัสจำรูญกร ผู้ใหญ่บ้านผาตั้ง หมู่ 14 จ.เชียงราย ซึ่งเป็นสมาชิกโครงการหลวงด้วย กล่าวว่า ผมและประชาชนชาวผาตั้งรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง รัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงไม่ทอดทิ้งราษฎรผาตั้ง การที่พระองค์พระราชทานโครงการหลวงเข้ามา ยังได้นำพาการพัฒนาด้านต่างๆ เข้ามาด้วย ทั้งหมดได้สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่อย่างยั่งยืน เราตกลงกันว่าจะไม่มีการรุกป่าเพิ่ม แต่จะใช้พื้นที่ที่มีจำกัดมา

บริหารจัดการสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งวันนี้ก็ต้องบอกว่าเกษตรกรผาตั้งสมาชิกโครงการหลวงมีรายได้ต่อหัวไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อคนต่อปีแล้ว จริงๆ ก็อยากเชิญชวนเกษตรกรทั่วไปมาศึกษาดูงานโครงการหลวง มาสมัครเป็นสมาชิก ไม่ยากเลย เขาดูแลเสมือนพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา มีตลาดรองรับให้ทั้งหมด

ธนภัทร์ จรัสจำรูญกร

สุพรรณี เมืองมา หัวหน้างานสนับสนุนการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง กล่าวว่า เรายังคงเน้นย้ำว่าการซื้อผลิตภัณฑ์โครงการหลวง นอกจากได้ของดี ราคาเป็นมิตรกลับไป ก็ยังได้ช่วยเหลือเกษตรกร ได้ฟื้นฟูป่า และแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งอยู่ในภารกิจของโครงการหลวง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มูลนิธิโครงการหลวงเติบโตขึ้น อย่างผลประกอบการปี 2562 โตจากปี 2561 ถึงร้อยละ 30 ขณะที่ในปี 2563 เรายังคงมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาพืชสายพันธุ์ใหม่ ให้เกษตรกรและผู้บริโภคเสมอ ควบคู่ไปกับการเป็นศูนย์เรียนรู้ ส่งต่อความรู้ใหม่ๆ ให้เกษตรกรสมาชิก รวมถึงคนทั่วไป

สุพรรณี เมืองมา

ธณพร ตันติยานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานกิจกรรมการตลาด ศูนย์การค้าสยามพารากอน เล่าว่า นับเป็นปีที่ 6 ที่สยามพารากอน ได้ร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวง จัดงานดังกล่าว ซึ่งปีนี้คอนเซ็ปต์งานแตกต่างจากทุกปี เพราะเน้นผักและผลไม้ที่มีประโยชน์เป็นพระเอกของงาน ซึ่งน่าจะตอบโจทย์คนเมืองที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น นำเสนอ อาทิ เคปกูสเบอรี่ ผลไม้เมืองหนาวที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระ, ลินิน ที่ลำต้นนำไปปั่นเป็นเส้นใยทำเครื่องนุ่งห่ม เมล็ดสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันประกอบอาหาร หรือนำเมล็ดมาใช้เป็นส่วนประกอบของขนมแทนงาได้ ซึ่งมีโอเมก้า 3 สูง ช่วยควบคุมน้ำหนักได้ดี ต้านการอักเสบ ลดความดันโลหิต ลดการเกิดโรคหัวใจ ฯลฯ รวมถึงดอกไม้เมืองหนาวที่สามารถรับประทานได้ อาทิ แนสเตอร์เตียม, ไดแอนทัส หรือดอกผีเสื้อ, บีโกเนีย, แพนซี ส่วนใหญ่จะไม่มีรสชาติ แต่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

ธณพร ตันติยานนท์
แปลงฟักทองจิ๋ว
บลูเบอร์รี่

ภายในงานยังมีการสาธิตทำอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ใช้วัตถุดิบจากโครงการหลวง โดยเชฟจากร้านอาหารชื่อดังในสยามพารากอน กว่า 10 ร้าน 30 เมนู อาทิ เมนู ชิคเก้น โรล กับ วินเทอร์ สลัด จากร้านสุกี้มาสะ, เมนู รอยัล พัมคิน เครม บรูเล่ จากร้านแฮร์รอดส์ ที รูม

ชิคเก้น โรล กับ วินเทอร์ สลัด จากร้านสุกี้มาสะ
รอยัล พัมคิน เครม บรูเล่ จากร้านแฮร์รอดส์ ที รูม

 

สนใจเข้าร่วมงานจัดระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2563 ณ พาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image