‘ดีต่อใจ’ ส่อง ‘องค์กรยุค 4.0’ เปิดพื้นที่ ‘เท่าเทียมทุกเพศ’

‘ดีต่อใจ’ ส่อง ‘องค์กรยุค 4.0’ เปิดพื้นที่ ‘เท่าเทียมทุกเพศ’

หลายคนอาจต้องเผชิญกับการ “เลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ” โดยเฉพาะคนหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่การเรียน ทำงาน รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่เว้นเพศชายและเพศหญิง ก็ถูกเลือกปฏิบัติในบางเรื่องเช่นกัน ที่ผ่านมาไม่มีสิทธิตรงๆ ไปเรียกร้องอะไร กระทั่งมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เรื่องนี้จึงเริ่มร้องทุกข์เอาผิดได้

5 ปีของการมีกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ นอกจากรับเรื่องร้องเรียนมาวินิจฉัยชี้ขาด ก็ยังรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญ หลายหน่วยงานและองค์กรจึงทยอยปรับตัว บางส่วนก้าวไกลมีมาตรการเสริมและแนวปฏิบัติชัดเจน เฉกเช่น 24 องค์กร ที่มาร่วมลงนามในพิธีประกาศเจตนารมณ์ “การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ

เป็นเจตนารมณ์ที่พร้อมปฏิบัติ 6 ข้อ ได้แก่

1.การแต่งกาย บุคลากรในหน่วยงานและองค์กร สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้

Advertisement

2.การจัดพื้นที่ที่เหมาะสม ให้หน่วยงานและองค์กรจัดพื้นที่ให้เหมาะสมกับคนหลากหลายทางเพศ เช่น จัดห้องน้ำอย่างน้อย 1 ห้อง ที่คนหลากหลายทางเพศ รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการเข้าใช้บริการได้

3.การประกาศรับสมัครงานและกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงาน ที่จะไม่นำลักษณะเฉพาะทางเพศ มากำหนดเป็นคุณสมบัติการประกาศรับสมัคร

4.การใช้ถ้อยคำ ภาษาและกิริยาท่าทาง และเอกสารต่างๆ หน่วยงานและองค์กรควรให้ความรู้ การปฏิบัติตัวที่สมควรและไม่สมควร ต่อบุคลากรหลากหลายทางเพศ ผู้หญิง และผู้ชาย เช่น คำว่า “พวกเบี่ยงเบนทางเพศ-อีแอบ-เก้งกวาง” กับคนหลากหลายทางเพศ, ชะนี อี สาวแก่ กับผู้หญิง, นุ่งผ้าถุง หน้าตัวเมีย แมงดา กับผู้ชาย ฯลฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตีตรา เสียดสี หรือลดทอนคุณค่าของคนทุกเพศ

Advertisement

5.การสรรหาคณะกรรมการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงานและองค์กร ควรส่งเสริมทุกเพศร่วมเป็นกรรมการในทุกระดับ สัดส่วนที่เหมาะสม เพราะแต่ละเพศก็มีมุมมองและความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถสะท้อนปัญหา อันนำไปสู่การพัฒนารอบด้านยิ่งขึ้น

และ 6.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศในการทำงาน หน่วยงานและองค์กรต้องจัดทำแนวปฏิบัติ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ เปิดช่องทางร้องเรียน ตั้งคณะทำงานตรวจสอบอย่างจริงจังเมื่อมีผู้มาร้องทุกข์

ซึ่งก้าวหน้าไปแล้วในรั้วแม่โดม รศ.ชุมเขต แสวงเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มธ.ได้ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศมาตลอดปี 2562 ผ่านการจัดทำแผนส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศเป็นครั้งแรก ด้วยเห็นพ้องกับรัฐบาลและกระทรวง พม.ในเรื่องนี้

จัดเป็นมหาวิทยาลัยที่ล้ำหน้าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอย่างมาก ตั้งแต่การแต่งกายที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติอนุญาตนักศึกษาและบัณฑิต สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ ผ่านการแก้ระเบียบการแต่งกายนักศึกษา ไม่ระบุเรื่องเพศแต่อย่างใด รวมถึงการทำโฟกัสกรุ๊ปจนได้แบบห้องน้ำ ที่รองรับคนหลากหลายทางเพศ เบื้องต้นรอการจัดสร้างเท่านั้น การยกเลิกระบุเพศในใบสมัครงานของ มธ.ที่ก้าวหน้าไปกว่าร้อยละ 80 แล้ว ตลอดจนการทำป้ายไวนิล รณรงค์การสื่อสารที่เหมาะสมกับทุกเพศตลอดทั้งปี 2562

“ในส่วนการสรรหา ธรรมศาสตร์ก็เน้นมิติความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้สัดส่วนผู้บริหารหญิงในมหาวิทยาลัยมีถึง ร้อยละ 30 หนึ่งในนั้นคือ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี ตลอดจนมีการตั้งกลไก 3 ระดับเหมือนกฎหมายชาติเลย ตั้งแต่คณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศ ที่ดูระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ในธรรมศาสตร์ คณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ ตลอดจนคณะทำงานกลุ่มที่ทำหน้าที่รณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องนี้” รศ.ชุมเขตกล่าว

ชุมเขต

ขณะที่ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ต.ล.ท.) กล่าวว่า ต.ล.ท.มีระบุในจรรยาบรรณพนักงานชัดเจนว่า “ต้องเห็นคุณค่าของบุคคลอื่น ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเสมอภาค และให้เกียรติผู้อื่นอยู่เสมอ” ปัจจุบันเรามีบุคลากรประมาณ 6 ร้อยกว่าคน มีสัดส่วนพนักงานผู้หญิง ร้อยละ 67 มีผู้บริหารระดับผู้อำนวยการขึ้นไปที่เป็นผู้หญิง ร้อยละ 71 และมีคณะกรรมการที่เป็นผู้หญิง ร้อยละ 18 ซึ่งแม้ผู้ชายจะเป็นส่วนน้อย แต่เราก็ทำงานอย่างเคารพและแลกเปลี่ยนกันเสมอ

ไม่เพียงในองค์กร ต.ล.ท.ยังสร้างความเท่าเทียมทางเพศภายนอกองค์กร กับธุรกิจจดทะเบียน 700 กว่าบริษัท ผ่านการออกหลักการประกอบกิจการที่ดี มุ่งเน้นความหลากหลายทางอายุ และเพศ ก่อนรายงานยอดผู้ประกอบการหญิงที่จดทะเบียนมี ร้อยละ 20 มีกรรมการบริษัทที่เป็นผู้หญิง ร้อยละ 83 มีซีอีโอและเอ็มดีผู้หญิงในธุรกิจหลักทรัพย์ ร้อยละ 13.8

“ตัวเลขผู้หญิงในภาคธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอด ถือเป็นเรื่องน่ายินดี และอยากเชิญชวนภาคธุรกิจมาตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ” รื่นวดีกล่าว

รื่นวดี

และ มาเรีย อันโทเน็ท อันซิโร business director บริษัท อเด็คโก้ เพชรบุรีตัดใหม่ จำกัด ธุรกิจข้ามชาติด้านที่ปรึกษาทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า อเด็คโก้มีนโยบายของบริษัทชัดเจนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ขณะที่งานของเราที่เป็นที่ปรึกษา จะต้องเจอกับลูกค้าที่ต้องประกาศสมัครงาน และผู้สมัครงานทั้งหลาย จึงแนะนำเรื่องการทำประกาศรับสมัคร ที่ไม่นำลักษณะทางเพศมาเป็นเงื่อนไข เพื่ออยากให้มาร่วมกันขจัดการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ

มาเรีย

ทุกเพศล้วนมีศักยภาพ ขอเพียงได้รับโอกาส มาร่วมเป็นองค์กรที่ 25 26 และต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image