ห้องเรียนบนสนามหญ้า ‘บูคู เอฟซี’ ทีมฟุตบอลที่เล่นได้ทุกคน เข้าสู่เส้นชัย ที่ ‘ความเท่าเทียม’

บูคู เอฟซี

ห้องเรียนบนสนามหญ้า ‘บูคู เอฟซี’ ทีมฟุตบอลที่เล่นได้ทุกคน เข้าสู่เส้นชัย ที่ ‘ความเท่าเทียม’

บูคู เอฟซี – ตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบได้เริ่มต้นขึ้น การเคลื่อนไหวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อยู่ภายใต้การจับตามองของหลายฝ่าย กล่าวได้ว่าปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนถูกโยงไปผูกกับเรื่องของความมั่นคงของชาติได้โดยง่าย และ “สันติภาพ” กลายเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ใฝ่หา

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเคลื่อนไหวเล็กๆ ที่ส่งแรงกระเพื่อมในสังคมชายแดนใต้ ในการเพิ่มพื้นที่ในการ “เคลื่อนไหว” ของผู้หญิงให้มากขึ้น โดยเปลี่ยน “สนามฟุตบอล” ที่หลายคนมองว่าเป็นพื้นที่สำหรับผู้ชายและความรุนแรง ให้เป็นพื้นที่ออกกำลังกายและพื้นที่เรียนรู้การอยู่ร่วมกันของ “ผู้หญิง” และ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ผ่านทีมฟุตบอลที่มีชื่อว่า “บูคู เอฟซี” (BUKU Football Club)

ดร.อันธิฌา แสงชัย หรือ อ.อัน ผู้ก่อตั้งทีมฟุตบอลบูคู กล่าวว่า ผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่สวมฮิญาบจะไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เคลื่อนไหวร่างกาย ขณะที่ผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศก็ไม่เป็นที่ยอมรับของครอบครัว ชุมชนและสังคม ทุกคนอยู่แต่ในบ้าน ในพื้นที่ของตัวเอง เวลาที่พบเจอกับปัญหา ก็รู้สึก “โดดเดี่ยว” และ “อยู่ตัวคนเดียว” ไม่มีพื้นที่ให้ส่งเสียงความต้องการออกมา การก่อตั้งทีมฟุตบอลบูคูจึงเป็นการเปิดพื้นที่ทำกิจกรรม และสร้างชุมชนที่ปลอดภัย

Advertisement

แน่นอนว่าการ “เริ่มต้น” ไม่ง่าย สิ่งที่ยากที่สุดคือ “ครอบครัว” ที่มองว่าผู้หญิงเตะบอลเป็นเรื่องไม่เหมาะสม บางคนห่วงว่าจะได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงแรงกดดันจากสังคมในการลงสนามของทีมในช่วงแรกๆ ที่ถูกล้อ ถูกแซว เป็นประจำ เด็กๆ ในทีมจึงต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมากที่จะลงสนามกันอีกครั้ง

กระนั้น ดร.อันธิฌา ได้พลิกจุดนี้ให้เป็นโอกาส

“ตอนแรกเด็กๆ เขาชินกับวัฒนธรรมข้างนอก เวลาเพื่อนเตะพลาดหรือล้ม ก็จะหัวเราะและล้อกัน อันก็พยายามสื่อสารกับเขาว่า เราโดนสิ่งเหล่านี้จากข้างนอกมาเยอะแล้ว เราจะไม่ให้เกิดขึ้นที่นี่ แต่จะสนับสนุนกัน ถ้าจะหัวเราะก็จะเป็นเสียงหัวเราะที่ออกมาตอนที่เราสนุกไปด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องของการล้อกันแล้ว” ดร.อันธิฌากล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ “บูคู เอฟซี” ยังเปรียบเสมือนห้องเรียนบนสนามหญ้า ที่สอดแทรกเรื่องความเท่าเทียม การเคารพซึ่งกันและกัน ได้อย่างแยบยล ผ่าน “เงื่อนไขการลงสนาม”

“ทีมเราไม่มีระบบตัวจริง-ตัวสำรอง ทุกคนได้เตะหมด แม้ว่าจะเพิ่งมาร่วมกับทีม ยังเล่นไม่เก่ง ก็ได้ลงแข่ง เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นของทุกคน และเรายังเปลี่ยน ‘คุณค่าใหม่’ โดยมีเกณฑ์คัดตัวลงแข่งคือ 1.คัดจากความเป็นผู้นำก็คือเป็นคนที่คอยดูแลและสนับสนุนคนอื่นๆ 2.คัดจากการมีระเบียบวินัย การมาซ้อมและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมสม่ำเสมอ และเพราะเรามีวัฒนธรรมแบบนี้ การแพ้ชนะจึงไม่สำคัญ”

ทั้งนี้ ทีมฟุตบอลบูคู ยังเปิดกว้างสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยมีสมาชิกตั้งแต่เด็กอายุ 7 ปี ไปจนถึงอายุมากที่สุด 60 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลังจากก่อตั้งทีมฟุตบอล ดร.อันธิฌา เผยว่า ครอบครัวของเด็กแฮปปี้ขึ้น เพราะลูกมีเพื่อน ได้รับการยอมรับ ได้ออกมาทำกิจกรรมนอกพื้นที่ มีคนพูดถึงเยอะ และเราก็ผลักดันหลายคนให้ไปต่อเป็น “นักกีฬาฟุตซอลหญิงของจังหวัดปัตตานี” ในส่วนของเด็กๆ หลายคนที่เมื่อก่อนขี้อาย ไม่มั่นใจในตัวเอง ก็กล้าแสดงออกและภูมิใจในตัวเองมากขึ้น เด็กๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็เข้มแข็งมากขึ้นในเรื่องของจิตใจ เพราะเขามีชุมชน ไม่ต้องโดดเดี่ยวอีกต่อไป ที่สำคัญบูคูยังมีสมาชิกเป็นเด็กผู้ชายด้วย เพราะอยากให้เขาได้เรียนรู้เรื่องการอยู่ร่วมกับเด็กผู้หญิง และเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะในอนาคตพวกเขาจะร่วมกันเป็นพลังเปลี่ยนแปลงสังคม

ดร.อันธิฌา แสงชัย

ด้าน ฮาตีก๊ะ แวอาลี หรือ กัส อายุ 22 ปี นักฟุตบอลทีมบูคู เอฟซี และ กองหลัง ของทีมกีฬาฟุตซอลหญิงจังหวัดปัตตานี เผยว่า ตอนนี้เล่นกับทีมบูคูมาประมาณ 3 ปีแล้ว รู้สึกว่า “มาไกลมาก”

“เมื่อก่อนเวลาจะออกจากบ้าน เห็นเราวางรองเท้าฟุตบอลไว้ข้างหน้าตะกร้ารถ ชาวบ้านก็จะถามแล้วว่าไปไหน พอบอกว่าไปเตะบอล ก็จะมีเสียงว่า ‘ผู้หญิงเตะบอลด้วยหรอ แล้วเล่นกับผู้ชายไม่กลัวโดนกระแทกหรอ’ เรารู้สึกน้อยใจตลอด (น้ำตารื้น) ทั้งยังโดนวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในเรื่องการแต่งกายที่ต้องเป็นเสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้น จนบางทีก็ทนไม่ไหวถามกลับไปว่า แล้วทำไมผู้หญิงถึงเตะบอลไม่ได้?” ฮาตีก๊ะเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

กระนั้นพอได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมก็รู้สึกว่าได้รับการยอมรับมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่ “ไม่มีใครยอมรับ”
“รู้สึกมีความสุข เพราะเมื่อก่อนอึดอัดมาก ทุกวันนี้ทุกคนเข้าใจเรามากขึ้น ได้เป็นตัวเอง และได้ทำในสิ่งที่อยากทำ” กัสกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ฮาตีก๊ะ แวอาลี

ด้าน สุฮัยดา กูทา หรือ ดา อายุ 25 ปี หัวหน้าและโค้ชของทีมฟุตบอลบูคู เอฟซี เปิดใจว่า ชอบเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก กระทั่งตั้งเป้าไว้ว่าอยากเรียนต่อในสถาบันกีฬาแต่ติดที่มีคลาสเรียนว่ายน้ำซึ่งต้องสวมชุดว่ายน้ำที่เปิดเผยร่างกาย ทั้งยังต้องเรียนกับผู้ชาย จึงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ครอบครัวไม่เห็นด้วย เธอจึงเบนเข็มไปเรียนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อยู่ 2 ปี โดยเรียนในคณะที่อ.อันสอนอยู่ จึงได้รู้จัก อ.อันจากตอนนั้น แต่ค้นพบว่า “ไม่ใช่ตัวตน” จึงบอกกับครอบครัวตามตรงว่า ขอไปเรียนในสิ่งที่ชอบจริง ๆ ได้ไหม และครอบครัวก็ “ไฟเขียว”

สุฮัยดา ทิ้งท้ายว่า “ตอนที่ดาเข้าปี 1 มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตยะลา อ.อันก่อตั้งทีมพอดี จึงชวนมาสอนน้องๆ ในทีม แรกๆ ที่เริ่มเตะบอลความฝันสูงสุดคือการได้เป็นนักกีฬาฟุตบอลหญิงทีมชาติ แต่ตอนนี้ความฝันของดาเปลี่ยนไป อยากช่วยผลักดันทุกคนให้เป็นผู้นำและช่วยเหลือกันต่อไป บนพื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้”

สุฮัยดา กูทา (ซ้าย)

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

ทีมฟุตบอลที่เล่นได้ทุกคน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image