ระบบดาวประหลาด ในกลุ่มดาว “เซนทอรัส”

(ภาพ - University of Arizond)

ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งเอริโซนา รัฐเอริโซนา สหรัฐอเมริกา ค้นพบระบบดาวประหลาดที่มีดาวฤกษ์ 3 ดวง กับดาวเคราะห์ที่เต็มไปด้วยก๊าซขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีถึง 4 เท่าตัว อยู่ห่างจากโลกออกไป 320 ปีแสงในบริเวณกลุ่มดาวเซนทอรัส ให้ชื่อรหัสว่าดาวเคราะห์ “เอชดี131399เอบี”

นอกจากจะมีดาวฤกษ์ของระบบมากกว่าดาวเคราะห์ทาทูอีนของ ลุค สกายวอล์คเกอร์ ในภาพยนตร์สตาร์วอร์สแล้ว องค์ประกอบภายในระบบดาวที่ค้นพบใหม่นี้ยังผิดแผกไปจากที่เคยรับรู้กันมา เนื่องจาก “เอชดี131399เอบี” โคจรอยู่โดยรอบดาวฤกษ์ดวงที่สว่างจ้าที่สุดในดาวทั้ง 3 ดวงเท่านั้น โดยประเมินกันว่าดาวฤกษ์

ดวงนี้มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของโลกถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และคิดกันว่าดาวฤกษ์อีก 2 ดวงของระบบโคจรอยู่รอบซึ่งกันและกันด้วยความเร็วสูง และดาวฤกษ์ทั้ง 3 ดวงก็โคจรอยู่โดยรอบศูนย์กลางมวลของระบบไปพร้อมๆ กัน
นำ1

สภาพโคจรแปลกประหลาดดังกล่าวส่งผลให้หากเราขึ้นไปอยู่บนดาวเคราะห์เอช ดี131399เอบี เราจะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตก 3 ครั้งต่อ 1 วันในบางช่วงของปี ส่วนที่เหลือเราก็จะอยู่ท่ามกลางแสงแดดจากดาวฤกษ์ดวงใดดวงหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ดาวฤกษ์ทั้ง 3 ของระบบดาวประหลาดนี้สามารถจำแนกได้ชัดเจน เนื่องจากอุณหภูมิของมันแตกต่างกันออกไป ทำให้สีที่สะท้อนออกมา

Advertisement

แตกต่างกันชัดเจน ดวงที่อุณหภูมิต่ำสุดจะมีสีน้ำเงินมากกว่า ดวงที่อุ่นกว่าถัดมาจะเป็นสีเหลือง ส่วนที่อุณหภูมิสูงสุดจะแดงจัดกว่าดวงอื่นๆ

“เอชดี131399เอบี” มีวงโคจรกว้างใหญ่มาก มันใช้เวลานานถึง 550 ปี โลกจึงสามารถโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงที่เจิดจ้าที่สุดได้ครบ 1 รอบ โดยโคจรอยู่ห่างจากดาวฤกษ์มากกว่าระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะถึง 80 เท่า ซึ่งแดเนียล เอพาย นักดาราศาสตร์หนึ่งในทีมที่ค้นพบระบบดาวนี้ระบุว่าจะทำให้ “เอชดี131399เอบี” รู้สึกถึงอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงที่ได้รับจากดาวฤกษ์อีก 2 ดวงด้วย ถึงขนาดที่ว่าหากขยับวงโคจรของมันออกไปไกลอีกเล็กน้อย มันอาจถูกดาวฤกษ์อีก 2 ดวงดึงหลุดออกไปจากระบบก็ได้

เอพายระบุว่าสิ่งที่เป็นปมปริศนาให้ต้องศึกษาค้นคว้าระบบดาวนี้ต่อไปก็คือ ทำไมมันถึงลงเอยมาอยู่ในวงโคจรปัจจุบันนี้ได้ และทางทีมวิจัยเชื่อว่าจะค้นพบคำตอบที่น่าตื่นเต้นได้ในไม่ช้าไม่นาน

Advertisement

ตัวดาวเคราะห์ “เอชดี131399เอบี” เองก็มีธรรมชาติแปลกไปจากดาวเคราะห์ทั่วไป จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นเหมือนดาวขนาดยักษ์ที่เต็มไปด้วยกลุ่มก๊าซ ซึ่งคาดว่าหลักๆ น่าจะเป็นไฮโดรเจนกับฮีเลียม บรรยากาศชั้นบนสุดของดาวประกอบด้วยส่วนผสมระหว่างน้ำกับมีเทนในสภาพเป็นก๊าซ ต่ำลงไปจากนั้น ทีมวิจัยคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มเมฆที่ก่อตัวขึ้นจากเม็ดซิลิเกตขนาดเล็ก และลึกลงไปมากกว่านั้นน่าจะเป็นกลุ่มเมฆที่เกิดจากไอเหล็กที่อยู่ในสภาพของเหลว

นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะมีอุณหภูมิสูงถึง 577 องศาเซลเซียส ซึ่งแม้จะเย็นกว่าดาวเคราะห์ที่ค้นพบใหม่นอกระบบสุริยะทั้งหลายก็ตาม

แต่ก็ยังร้อนมากพอที่จะทำให้นักดาราศาสตร์สามารถตรวจสอบพบมันได้จากกล้องโทรทรรศน์เวรี่ ลาร์จ เทเลสโคป (วีแอลที) ของหอสังเกตการณ์ตอนใต้แห่งยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศชิลี

นักดาราศาสตร์ในทีมที่ค้นพบระบบดาวใหม่นี้ ชี้ว่าการค้นพบครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่าระบบดาวที่มีอยู่ในจักรวาลนั้นมีกว้างขวางหลากหลายกว่าที่เคยคิดกันไว้มาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image