คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : เมื่อ ‘โควิด-19’ เร่งจังหวะเปลี่ยนผ่านขนบใหม่ให้ ‘โลกภาพยนตร์’

คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : เมื่อ ‘โควิด-19’ เร่งจังหวะเปลี่ยนผ่านขนบใหม่ให้ ‘โลกภาพยนตร์’

โลกภาพยนตร์ – แม้วันนี้ทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19 และมีทีท่าจะกินเวลานานหลายเดือน กิจกรรมทางสังคมและธุรกิจต่างๆ หลายอย่างต้อง “ชะงักงัน” แต่ใช่ว่าในวิกฤตจะไม่มีโอกาส บางธุรกิจแจ้งเกิด บางธุรกิจสร้างรายได้ต่อยอด ในโลกภาพยนตร์เราได้เห็นความพยายามอันหลากหลากที่น่าสนใจ ยิ่งในภาวะ Social Distancing การเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลให้ผู้คนค่อนโลกต้องอยู่ในที่พักอาศัยเพื่อหลบพิษไวรัส บรรดาธุรกิจต่างๆ ที่พอจะมีช่องทางก็ผันตัวมาสู่โลกออนไลน์ทั้งหมดทั้งในฐานะ “ตัวกลาง” และ “ผู้ผลิต”

ในธุรกิจคอนเทนต์ พบว่า บรรดาบริษัทออนไลน์สตรีมมิ่งคอนเทนต์ชั้นนำของโลกมีรายงานยอดปริมาณสมัครสมาชิกใหม่ที่พุ่งทยานขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้คนฆ่าเวลาระหว่างช่วงไวรัสระบาด สตรีมมิ่งชั้นนำ Disney+, Netflix, HBO Now, Showtime และ Apple TV+ มียอดผู้ชมและยอดสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้น

ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด กลับเป็นช่องที่ อุตสาหกรรมสตรีมมิ่ง” เฟื่องฟู และน่าจะเป็นจุดสตาร์ตการแข่งขันที่รุนแรงในระยะยาวต่อไป เพราะในอนาคตอีกไม่กี่เดือนยังมี สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม HBO Max ของ Warner Media และ Peacock ของ NBCUniversal ที่วางตารางเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน ตามลำดับ

Advertisement

ขณะที่บรรดา “สตูดิโอยักษ์ใหญ่” ต้องหันมาสร้างรายได้ผ่านรูปแบบ VOD หรือ Video on Demand ทางออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งยอดดาวน์โหลดภาพยนตร์แบบเสียเงินต่อหนัง 1 เรื่อง ผ่าน VOD ใน iTunes และ Amazon ก็มีสถิติเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน และนั่นทำให้ค่ายหนังใหญ่ๆ ลองยกระดับมาใช้รูปแบบ Premium VOD” กับการคัดเลือกภาพยนตร์ใหม่ที่เดิมตั้งเป้าจะฉายในโรงหนัง มาลองเปิดจำหน่ายให้ดาวน์โหลดดู

ถือเป็นการชิมลางในอนาคต หากธุรกิจสตรีมมิ่งชนะขาดรายได้จากการออกจากบ้านไปชมภาพยนตร์ บรรดาสตูดิโอใหญ่ๆ อาจหันมาใช้รูปแบบ Premium VOD เข้าสู่สมรภูมิ ซึ่งช่วงนี้เองเป็นช่วงที่สตูดิโอรวบรวมข้อมูลการตลาดและกลุ่มคนดูได้ชัดเจน เบื้องต้นพบว่ากลุ่มที่นิยมดู VOD นั้น เป็นคนละกลุ่มกับกลุ่มที่ชอบออกไปดูหนังตามโรงภาพยนตร์นอกบ้าน และกลุ่มที่นิยมดูหนังแบบ VOD ก็ไม่ใช่กลุ่มที่ชอบดูภาพยนตร์อิสระหรือหนังอินดี้เท่าใดนัก ขณะที่กลุ่ม VOD เลือกกดดาวน์โหลดหนังโดยพิจารณาด้าน “ราคา” อยู่มาก แต่พร้อมจ่ายเงินที่สูงขึ้นหากหนังเรื่องนั้นมีความน่าสนใจจนรู้สึกคุ้มค่า

สำหรับบ้านเราใครชื่นชอบ หนังสารคดี” และ “ภาพยนตร์อิสระ” คุณภาพมีซับไตเติ้ลภาษาไทย สามารถรับชมออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์จาก Documentary Club Club” ผ่านระบบ Doc Club on Demand ได้ที่ https://vimeo.com/docclubondemand/vod_pages ในราคาเรื่องละ 1.99 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 60 บาท ซื้อแล้วไม่มีระยะเวลาในการดู สามารถดูได้ตลอดจนกว่าทาง Doc Club จะหมดสิทธิในการฉาย

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ธุรกิจบันเทิงเป็นหนึ่งในอีกหลายธุรกิจที่ต้องเผชิญ “ความชะงักงัน” ตั้งแต่โรงหนังปิดตัว ภาพยนตร์ใหม่เลื่อนการเข้าฉาย อีเวนต์ด้านบันเทิงที่คู่ขนานไม่สามารถจัดได้ เทศกาลภาพยนตร์ที่ต้องยกเลิก แต่กลับพบว่าธุรกิจเหล่านี้ได้พยายาม “ผ่าทางตัน” ในทุกวิถีทาง และบ้างก็ใช้ไอเดีย การสื่อสารการตลาด” เท่าที่สามารถจะทำได้ เช่นในกรณีของการจัดฉายภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ด ที่ธรรมเนียมปกติหากเป็นหนังฟอร์มดี หรือฟอร์มยักษ์ จะต้องมีการเปิดฉาย “รอบพรีเมียร์” หรือ “รอบปฐมทัศน์” เพื่อสร้างกระแสให้กับหนัง ในงานจะต้องมีการจัดเลี้ยงปาร์ตี้ค็อกเทลที่จะได้พบปะผู้บริหาร ผู้กำกับภาพยนตร์ ทีมงาน นักแสดง และแขกเหรื่อต่างๆ แต่เมื่ออีเวนต์ลักษณะนี้ไม่สามารถทำได้ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดก็ปรากฏว่ามีการพยายามสร้างบรรยากาศฉายหนังรอบพรีเมียร์ในแบบ “ส่งถึงบ้าน”

โดยเป็นวิธีการที่ Amazon Studios ลองใช้วิธีจัดอีเวนต์รอบปฐมทัศน์ให้กับภาพยนตร์เรื่อง Blow the Man Down ด้วยวิธีการส่ง อาหาร-เครื่องดื่ม-ของที่ระลึก แบบจัดกระเช้าเป็นเซตให้เข้ากับธีมและบรรยากาศในภาพยนตร์เพื่อเชื่อมโยงผู้ชมกับหนังเข้าด้วยกัน โดยส่งกระเช้าปาร์ตี้เซตชุดนี้ไปที่บ้านของบรรดาแขกเรื่อยกว่า 100 คน ในนครลอสแองเจลิสที่ได้รับเชิญให้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทางออนไลน์สตรีมมิ่ง นัยว่าเป็นรูปแบบการสื่อสารการตลาดที่หวังให้มีบรรยากาศสไตล์ปาร์ตี้เบาๆ บ้านใครบ้านมัน แต่ได้ดูหนังพร้อมแกะกระเช้าอาหาร เครื่องดื่มนั่งจิบไวน์ดูหนังเพลิดเพลิน

อีกสิ่งหนึ่งที่หายไปในโลกภาพยนตร์ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่โรงหนังปิดตัว หนังใหม่เลื่อนเข้าฉาย ทำให้หลายสัปดาห์มานี้สิ่งที่เป็นป๊อปคัลเจอร์หนึ่งในโลกภาพยนตร์หายไปนั่นคือ “การรายงานอันดับหนังทำเงิน” ประจำสัปดาห์ หรือ Box Office” ที่ไม่มีตัวเลขรายได้หนังให้รายงาน ซึ่งเจ้าแห่ง Box Office อย่างสหรัฐอเมริกา ที่แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะบอกว่า ภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจะค่อยๆ กลับมาเป็นปกติในช่วงสิ้นเดือนเมษายนนี้ แต่บรรดานักวิเคราะห์มองว่ารูปแบบ Social Distancing จะยังคงมีอยู่ไปอีกระยะ นั่นทำให้สถานที่ชุมนุมผู้คนอย่างโรงภาพยนตร์ยังคงไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติในเร็ววัน นั่นทำให้บรรดาสตูดิโอดังต่างเลื่อนหนังฟอร์มยักษ์หวังทำรายได้ไปฉายกันในช่วงไตรมาส 3 ของปีหรือราวเดือนสิงหาคมไปแล้ว

แต่ในห้วงที่โรงหนังปิดตัวชั่วคราวนี้กลับเป็น “จังหวะ” ให้การฉายหนังในแบบ Virtual Screening ได้แจ้งเกิดให้ผู้คนชิมลาง นั่นคือการดูภาพยนตร์ผ่านออนไลน์ แต่มีรูปแบบการจัดฉายและจำหน่ายตั๋วคล้ายเราไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ มีการกำหนดวันฉายที่มีระยะสิ้นสุด ใช้วิธีจองและซื้อตั๋วผ่านออนไลน์ โดยรูปแบบนี้ใช้ได้ดีกับหนังอิสระและหนังที่ฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ที่ยกเลิกการจัดงานในช่วงนี้ อาทิ Ann Arbor Film Festival” เทศกาลหนังทดลองที่เก่าแก่ที่สุดในอเมริกาเหนือ จัดโปรแกรมให้ดูผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งใน Vimeo หนังจะฉายตามโปรแกรมที่ถูกกำหนดให้เหมือนไปดูหนังในเทศกาลภาพยนตร์ จริงๆ มีการเปิดช่วงถามตอบผ่านออนไลน์กับผู้กำกับและทีมงาน ขณะที่อีกหนึ่งเทศกาลวาไรตี้ ที่รวมทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็น โฆษณา การตลาด นวัตกรรม เพลง หนัง และอื่นๆ อย่าง SXSW” หรือ South by Southwest” ที่ยกเลิกการจัดไป แต่มีการจัดฉายหนังสั้นแบบสตรีมมิ่งให้ดูฟรีจำนวน 75 เรื่อง แต่ละเรื่องมีรอบฉายนาน 30 วัน

ภาพประกอบ Pixabay

กระนั้นน่าสนใจว่าในห้วงที่โลกภาพยนตร์ถูก ดิสรัปชั่น” จากโควิด-19 ปรากฏว่าการดูหนังสไตล์ Drive-ins หรือการฉายหนังขึ้นจอขนาดใหญ่ในพื้นที่ลานกว้าง ให้ผู้ชมซื้อตั๋วแล้วขับรถเข้าไปจอดนั่งดูกันจากในรถกลับได้รับความนิยมมากขึ้น แม้จะไม่ได้มีโรงหนังแบบนี้มากนัก

ต้องดูว่าหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย โลกภาพยนตร์จะมี “อารยธรรมใหม่” เกิดขึ้นแบบชัดเจนหรือชั่วคราว แต่วันนี้เราได้เห็น “จุดเริ่มต้น” หลายอย่างของวิธีการชมภาพยนตร์ในแบบต่างๆ

โควิด-19 จะเป็นหนึ่งในปัจจัยดิสรัปชั่นโลกภาพยนตร์ในระยะยาวต่อไปหรือไม่…ต้องติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image