ไขคำตอบ ‘เลี้ยงลูก’ ด้วยนมแม่ ช่วง ‘โควิด-19’ ระบาด

ไขคำตอบ ‘เลี้ยงลูก’ ด้วยนมแม่ ช่วง ‘โควิด-19’ ระบาด

สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ทำเอาหลายคนจิตตกกับการใช้ชีวิต โดยเฉพาะแม่ที่ต้องให้นมลูก ต่างเกิดคำถามมากมาย ว่าน้ำนมบริสุทธิ์จะเป็นพาหะเชื้อไวรัสหรือไม่ กลัวลูกน้อยจะมีอันตราย

พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลระบาดไวรัสโควิด-19 พบอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตในหญิงมีครรภ์ ในทารกและเด็กเล็กอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับผู้สูงวัยและหรือผู้มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว โดยข้อมูลเบื้องต้นจากการแพทย์ทั่วโลก ยังไม่พบข้อมูลการติดเชื้อในแม่ จะส่งผลอย่างไรกับทารกในระยะ 3-6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มีเพียงข้อมูลแม่ติดเชื้อและมีอาการในระยะ 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด

“รายงานจากประเทศจีนในช่วงแรกๆ ของการระบาด แม้แม่มีอาการมาก แต่ทารกไม่มีการติดเชื้อจากในครรภ์ ทั้งนี้ มีรายงาน ทารกแรกเกิด 33 ราย ที่คลอดจากแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงพยาบาลเมื่องอูฮั่น มีทารก 3 คน พบมีเชื้อโควิด-19 แต่ไม่พบเชื้อใน น้ำคร่ำ เลือดจากสายสะดือ และในน้ำนมแม่ ขณะที่ทารกทั้ง 3 รายมีอาการไม่รุนแรง ฉะนั้นจากข้อมูลดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า การติดเชื้อในเด็กน่าจะเป็นการติดเชื้อจากการปนเปื้อนสัมผัสเชื้อหลังเกิด”

ส่วนข้อสงสัยแม่จะให้นมลูกช่วงการระบาดนี้ได้หรือไม่นั้น พญ.ศิริพรยืนยันว่า ยังคงให้ลูกกินนมแม่ได้ โดยต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่กระจายทางละอองฝอย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ศูนย์นมแม่แห่งประเทศ มีข้อแนะนำถึง “กลุ่มสตรีมีครรภ์โดยทั่วไป” หากอยู่บ้านต้องใช้ภาชนะส่วนตัว กินอาหารสะอาด ปรุงสุก รับประทานยาบำรุงครรภ์ และพักผ่อนเพียงพอ หากต้องออกนอกบ้าน หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด เว้นระยะห่างผู้คน 2 เมตร หมั่นล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย และใช้แผนพลาสติกใสครอบใบหน้า เพื่อป้องกันมือแตะจับใบหน้าโดยไม่ตั้งใจ

พญ.ศิริพร กัญชนะ

ขณะที่ ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวแนะนำแม่ติดเชื้อไวรัส ที่มีอาการไม่มาก หรืออยู่ในระยะเฝ้าระวังว่า ต้องดูปัจจัยทางครอบครัว ดุลพินิจของแพทย์และการตัดสินใจร่วมกันของแม่ เพราะถ้าจำเป็นก็ต้องแยก หรือถ้าทำไม่ได้ ก็ให้อยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร แต่ต้องรู้จักวิธีป้องกันและควบคุมการติดเชื้อที่ถูกต้องและทำอย่างเข้มงวด คือ ก่อนจะให้นมลูก ต้องล้างมือและสวมหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อจากแม่ไปสู่ลูก ไม่เอามือไปจับหน้ากากหรือใบหน้า จัดการทำความสะอาดผิวสัมผัสใดๆ ให้บ่อยครั้ง ควรพกผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษทิชชู่พร้อมปิดปากเสมอถ้าจะจาม มีระบบการทิ้ง การทำลายเชื้อให้มีความคล่องตัว ถ้าต้องการแยกลูก ให้แม่บีบนมให้ผู้ช่วยดูแลนำนมป้อนลูก จนพ้นระยะเฝ้าระวังหรือหายเป็นปกติ

แต่กรณีแม่ติดเชื้อและมีอาการมาก ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ กล่าวว่า จำเป็นต้องแยกแม่และลูก ถ้าแม่ยังสามารถบีบน้ำนมให้ได้ ก็ควรให้บีบน้ำนมหรือการใช้เครื่องปั๊มนมช่วยบีบน้ำนมและให้ผู้ดูแลเด็กป้อนให้ลูก โดยปฏิบัติตามวิธีป้องกันการติดเชื้อแบบเดียวกัน นอกจากลูกจะได้รับนมแม่ ยังช่วยให้แม่ยังคงสภาพในการให้นมแม่กับลูกได้เมื่อหายแล้ว

Advertisement
พญ. ศิราภรณ์ สวัสดิวร

เพื่อลูกน้อยที่ปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image