สสส.ชี้ ทารกได้รับนมแม่ 6 เดือนต่อเนื่อง ส่งผลดีครอบคลุมระดับไอคิว พัฒนาการ และสุขภาพ

เพื่อสนับสนุนเด็กไทยเติบโตอย่างมีความพร้อม มีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 เมื่อปีที่ผ่านมา ‘สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสรางเสริมสุขภาพ’ (สสส.) จึงได้สนับสนุนโครงการ ‘การศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21’ ใน 7 หัวข้อย่อย ครอบคลุมประเด็นพัฒนาการด้านโครงการร่างาย สติปัญญา สาธารณสุข การศึกษา สันทนาการ ฯลฯ โดยมี ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ แห่งศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นหัวหน้าโครงการ

ในการรายงานผลการศึกษาศึกษางบประมาณรายจ่ายภาครัฐเพื่อการพัฒนาเด็กในช่วงอายุ 0 – 3 ปี ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว รศ.ดร.ศาสตรา สุดสวาท อธิบายถึงการลงทุนในเด็กปฐมวัยว่า เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 0-3 ปี ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในช่วงวัยอื่นๆ ขณะที่การจัดสรรงบเพื่อพัฒนาเด็กช่วงวัยดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับความสำคัญของการพัฒนาเพื่อเติบโตเป็นกำลังของประเทศในอนาคต

Advertisement

“จากการสำรวจสวัสดิการภาครัฐที่จัดหาให้กับเด็กอายุ 0-3 ปี จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2562 อยู่ที่ 58,508 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนของงบรายจ่ายประจำปี ร้อยละ 2.0 หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP เท่านั้น หากคิดเป็นรายหัวจะอยู่ที่ 22,806 บาทต่อคนต่อปี นอกจากนี้ การประเมินสถานการณ์และสภาพแวดล้อมการดูแลเด็กปฐมวัยในไทย พบว่า ยังมีปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข เป็นต้นว่า สุขภาพของเด็กที่เกิดจากความไม่พร้อมของแม่วัยใส ซึ่งส่งผลต่อโภชนาการสำหรับเด็กเล็กแรกเกิดถึง 6 เดือนด้วย จากผลการประเมินพบว่าเด็กในช่วง 0-5 เดือนที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวมีเพียงร้อยละ 23.1 เท่านั้น”

ด้าน ผศ.ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ปัญหาด้านพัฒนาการและโภชนาการส่วนหนึ่งพบว่ามาจากเรื่องสิทธิการลาคลอด ที่แม้ไทยจะกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน แต่ยังจำกัดเฉพาะในการจ้างงานในระบบ แม่ส่วนใหญ่ได้รับรายได้ลดลงในช่วงลาคลอดหรือบางรายอาจไม่มีรายได้เลย ขณะเดียวกันภาครัฐก็ไม่ได้สวัสดิการที่ชัดเจนเพื่อเป็นทางเลือกในการเลี้ยงดูบุตรในช่วงต่ำกว่า 2 ปีให้กับผู้เป็นพ่อและแม่

Advertisement

“ข้อเสนอเชิงนโยบายในเบื้องต้นคือขยายสิทธิการฝากครรภ์ของมารดาภายใต้ระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า ให้ฝากครรภ์นอกพื้นที่ทะเบียนบ้านได้ รวมถึงโครงการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เพื่อแก้ไขปัญหาด้านโภชนาการรวมทั้งกระตุ้นให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น โดยภาครัฐควรจ่ายเงินสนับสนุนเด็กแรกเกิด และไม่กำหนดเงื่อนไขเกณฑ์รายได้ของคนในครอบครัวหรือให้แบบถ้วนหน้าครอบคลุมเด็กแรกเกิดทุกคนในประเทศไทย ซึ่งจะใช้เงินงบประมาณราว 34,958 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากรูปแบบแรกราว 30,918 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลผลิตด้านทรัพยากรในวันข้างหน้า”

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. คาดหวังให้ผลจากการศึกษาดังกล่าวจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลนำเข้าเพื่อวิเคราะห์และวางแผนการทำงานของ สสส. โดยเฉพาะเรื่องของเด็กและเยาวชน พร้อมนำเสนอภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลนี้ไปใช้ต่อไป 

“สสส.มีข้อเสนอที่ชัดเจนมากต่อภาคเอกชนและภาคสถานประกอบการ เช่น สิทธิในการลาคลอดและการเลี้ยงดูลูกเล็ก เนื่องจากมีผลวิจัยที่ว่าการที่เด็กเล็กได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว เป็นเวลา 6 เดือนต่อเนื่องเป็นอย่างต่ำจะส่งผลต่อระดับไอคิว พัฒนาการ สุขภาพ และจากการหารือกับสถานประกอบการหลายแห่ง พบว่าให้สิทธิกับลูกจ้างที่ตั้งครรภ์เกินกว่ากฎหมายกำหนด บ้างก็ให้ลาคลอดได้ถึง 6 เดือนโดยยังได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการเก็บข้อมูลเชิงลึกจากหน่วยงานเหล่านี้ ทั้งข้อคิดเห็นของผู้บริหารและพนักงานระดับต่างๆ ตลอดจนประเมินความคุ้มค่าในมุมมองด้านธุรกิจ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการเจ้าอื่นๆ ได้เห็นว่าการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ และเด็กเล็กแรกเกิดถึง 3 ปี มีส่วนช่วยสังคมในการที่จะดูแลสถาบันครอบครัว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image