โลกทั้งใบหยุดเคลื่อนไหวไปชั่วขณะ หลังจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด -19 เริ่มต้นระบาด กิจกรรมต่างๆ หยุดชะงัก สถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้คน กลายเป็นที่รกร้าง ห้างร้านไม่ว่าขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็กต้องปิดกิจการชั่วคราว สนามบินไร้ผู้คนเดินทาง เมืองทั้งเมืองเงียบสงัดกลายเป็นโลกใบที่เราไม่คุ้นเคยอีกต่อไป
เหตุจากไวรัสที่แพร่กระจาย ติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ด้วยการติดต่อจากละอองฝอยเข้าสู่เยื่อบุต่างๆ ของร่างกาย ด้วยความที่เป็นโรคระบาดใหม่ ทำให้ยังมีความรู้เกี่ยวกับโรคจำกัด การเกิดผู้ป่วยจำนวนมหาศาลพร้อมๆ กัน กลายเป็นเรื่องใหญ่ทางการแพทย์ บางประเทศที่ตัวเลขผู้ป่วยทวีคูณไม่หยุด หมอจำเป็นต้องเลือกหนทางรักษาด้วยการเลือกให้ใครอยู่ และเลือกปล่อยให้ใครตายไป เพราะเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ไม่เพียงพอที่จะดูแลทุกคนได้
มาตรการภาครัฐถูกออกมาอย่างเข้มงวด เพื่อจะหยุดและยับยั้งให้โรคระบาด ดำเนินไปอย่างช้าๆ เพื่อที่เราจะได้สามารถดูแลผู้ป่วยทุกคนได้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคนให้ดูแลตนเอง งดกิจกรรมทางสังคม เว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดการติดต่อของโรค
ท่ามกลางการต่อสู้อย่างหนักของบุคลากรทางการแพทย์ หนึ่งในปัญหาใหญ่คืออุปกรณ์ป้องกันตัวที่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากปริมาณการใช้งานสูงกว่าช่วงเวลาปกติหลายเท่าตัว ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ต้องบริหารจัดการให้เพียงพอ ด้วยวิธีประหยัด ประดิษฐ์สิ่งของใช้เอง รวมทั้งของบริจาคจากประชาชน เพื่อให้มีอาวุธเพียงพอที่จะต่อสู้ในระยะยาว ไม่ให้ผู้รักษา กลายเป็นผู้ป่วยเสียเอง
เกี่ยวกับสถานการณ์นี้ น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่มีแพทย์ออกมาเปิดเผยผ่านสื่อโซเชียล ซึ่งมีใจความสำคัญว่า ในสถานการณ์ลำบากต้องสู้กับวิกฤตโควิด-19 โรงพยาบาลต้องเซฟทรัพยากรจำเป็นเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน ทั้งหน้ากากอนามัย ห้องผ่าตัด หวอดผู้ป่วย บางโรงพยาบาล หมอต้องหยุดรักษาคนไข้โรคอื่น ๆ เช่น คนไข้มะเร็งต้องเลื่อนการผ่าตัดรักษาออกไป แต่ในช่วงวิกฤตนี้กลับพบคนไข้ที่มาด้วยอุบัติเหตุจากความมึนเมา หรือทะเลาะวิวาทเพราะความเมา จนแพทย์ต้องออกมาอ้อนวอนว่า อย่าซ้ำเติมสถานการณ์ให้ยิ่งแย่ลงเพียงเพราะอยากสนุกสนานจากการดื่มเหล้า เบียร์เท่านั้น
น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า การดื่มแอลกอฮอล์ ทางการแพทย์พบว่า เป็นสาเหตุเพิ่มความเสี่ยงในโรคติดเชื้อ อาทิ วัณโรคปอด ปอดบวม โรคติดเชื้อในปอด ส่วนเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในปอดได้เช่นกัน ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีโอกาสรับเชื้อง่ายกว่าคนปกติ เพราะเมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ติดเชื้อต่างๆ ได้ และการตั้งวงดื่มเหล้ากับเพื่อนหรือเที่ยวในสถานบันเทิงยิ่งเสี่ยงหนัก ดังจะเห็นตัวเลขผู้ป่วยที่มาจากสถานบันเทิงจำนวนมาก เพราะสถานที่ดังกล่าวแออัด และง่ายต่อการติดเชื้อ
อย่างไรก็ตามในเดือนเมษายนนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศยกเลิกวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว แต่ยังพบว่า มีอีกหลายคนที่ยังไม่คิดเปลี่ยนความตั้งใจ เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งเป็นสิ่งที่กังวลว่า การเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมากอาจทำให้โอกาสแพร่เชื้อกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ และเมื่อบวกกับพฤติกกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบทางการแพทย์จะไม่มีทรัพยากรพอที่จะรองรับได้
น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวว่า การทำงานเฝ้าระวังผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ซึ่งขณะนี้เกือบทุกพื้นที่ได้ยกเลิกกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ สสส. จึงได้ปรับแผนการดำเนินงานให้รองรับสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จากการรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัยปลอดเหล้า ยกระดับเป็น “ ชุมชนคนสู้เหล้า เสริมภูมิคุ้มกัน รู้ทัน ป้องกันภัยโควิด-19” โดยให้ชุมชนคนสู้เหล้า 1,291 แห่งทั่วประเทศ และแกนนำคนเลิกเหล้าหัวใจเพชรที่มีกว่า 7,500 คน รณรงค์สื่อสารกับประชาชนให้ตระหนักและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิ-19 โดยแกนนำคนเลิกเหล้าจะเป็นมดงานเฝ้าระวังภัยในพื้นที่ต่างจังหวัด เสริมกำลังหน่วยงานท้องถิ่น อบจ. อบต. รพ.ส.ต. และอสม. ในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ สคล. ยังได้จัดทำหน้ากากผ้า สบู่ และแอลกอฮอล์เจลล้างมือ แจกจ่ายให้สมาชิกในชุมชน พร้อมให้ข้อแนะนำให้รู้เท่าทันโควิด-19 ด้วย
“แกนนำคนเหลิเหล้าหัวใจเพชรมีทักษะในการพูดเชิญชวนและรู้จักวิธีการโน้นน้าวใจคนจากประสบการณ์ในการชวนคนเลิกเหล้าได้สำเร็จ มีเทคนิกในการเชิญชวน สื่อสารให้เข้าใจง่าย ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญช่วยรณรงค์ประชาชนในพื้นที่ให้ตระหนักถึงการป้องกันตัว การล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยที่ถูกวิธี การรักษาระยะห่าง รักษาสุขภาพ และการสังเกตสุขภาพของตัวเอง ที่สำคัญเน้นย้ำเรื่องการเตือนภัยไม่ดื่มสุรา และไม่สูบบุหรี่ ทั้งที่บ้าน หรือที่สาธารณะ ซึ่งจะเป็นพฤติกรรมเสี่ยงทำลายสุขภาพ ทำลายระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่าย ที่สำคัญการจับกลุ่มตั้งวงดื่มสุรา เป็นพฤติกรรมเสี่ยงทำให้โรคแพร่ระบาดหนักมากขึ้น” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
การรักษาสุขภาพ สุขอนามัยส่วนบุคคลให้แข็งแรง รักษาระยะห่างระหว่างกัน เป็นหนทางเดียว ที่เราจะกลับไปมีชีวิตอย่างปกติได้เหมือนเดิม ทางรอดครั้งนี้จึงอยู่ที่พวกเราทุกคน