ที่มา | มติชนรายวันหน้า 20 |
---|---|
เผยแพร่ |
‘สงกรานต์’ งดรดน้ำดำหัว #saveคนสูงวัย ห่างไกลโควิด
งดรดน้ำดำหัว – วันที่ 13 เมษายน นอกจากเป็น “วันสงกรานต์” หรือ “วันปีใหม่ไทย” แล้ว
วันนี้ ยังเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ที่ในเวลาปกติ วันนี้ ลูกหลานทุกคนก็จะถือพวงมาลัยเข้ากราบเท้ารดน้ำดำหัวพ่อแม่ ผู้ใหญ่ที่เคารพรักและนับถือ ตามประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน บรรยากาศเต็มไปด้วยความชื่นมื่น เปี่ยมสุข และเสียงหัวเราะที่ครื้นเครง
ทว่า…วันผู้สูงอายุในปีนี้ เป็นปีที่ “ไม่ปกติ” เหมือนที่ผ่านมา ประเพณีอันดีงามคงต้องยกเลิกไปสักพักหนึ่งก่อน เพราะเกิดวิกฤตใหญ่ที่รุนแรงไปทั่วโลก กับการแพร่ระบาดของ “ไวรัสโควิด-19” ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกว่า 1 ล้านคน มียอดผู้เสียชีวิตที่ทะลุ 7 หมื่นกว่าคน
ในบรรดาผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็น “ผู้สูงอายุ”
ข้อมูลจาก สถาบันชั้นสูงด้านสุขภาพแห่งอิตาลี (ISS) ระบุอายุเฉลี่ยของชาวอิตาลีที่เสียชีวิตอยู่ที่ 80 ปี และพบอีกว่ามักเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน ทว่าไม่เพียงอิตาลี นี่เป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกันกับผู้สูงอายุในหลายประเทศทั่วโลก
ฉะนั้นเพื่อ “ลดความเสี่ยง” ให้กับ “ผู้สูงอายุ” สงกรานต์ปีนี้ ชวนลูกหลานมา “เรียนรู้เทคนิคการดูแลและรับทราบมาตรการดูแลผู้สูงอายุ” เพื่อที่พวกท่านจะอายุมั่นขวัญยืน ปลอดภัยจากโควิด-19 อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับลูกหลานไปนานๆ
สังเกตอาการ “ผู้สูงอายุ” ติดโควิด
ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ กล่าวว่า โควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน ส่วนมากเริ่มมีอาการหลังการได้รับเชื้อ 2-7 วัน สามารถสังเกตอาการ อาทิ มีไข้ ที่อุณหภูมิกายวัดทางปากตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ในกรณีผู้สูงอายุที่เปราะบางอาจใช้เกณฑ์ 37.2 องศาเซลเซียส แต่โดยทั่วไปที่วัดอุณหภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทัลทางช่องหูใช้เกณฑ์ 38 องศาเซลเซียส หรือบริเวณหน้าผาก ใช้เกณฑ์ 37.2 องศาเซลเซียส นอกนั้นมีอาการไอ เจ็บคอ มีเสมหะ หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยตามตัว
ศ.นพ.ประเสริฐกล่าวอีกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 80 หายได้เอง มีเพียงส่วนน้อยต้องรับไว้รักษาตัวในไอซียู ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร้อยละ 2-3 และเสียชีวิตร้อยละ 1-2 ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอด เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงกว่า โดยร้อยละ 10-30 อาจต้องรับไว้รักษาตัวในไอซียู และพบอัตราการเสียชีวิต ร้อยละ 4-11 ในผู้ที่อายุ 65-84 ปี และร้อยละ 10-27 ในผู้ที่อายุ 85 ปีขึ้นไป
“ผู้สูงอายุอาจมีอาการที่ไม่ตรงไปตรงมา เมื่อมีความเจ็บป่วย ฉะนั้นต้องสังเกตว่ามีอาการอ่อนเพลีย ซึมลง สับสนเฉียบพลัน เบื่ออาหาร หรือรับอาหารทางสายยางไม่ได้ ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็วหรือไม่ด้วย”
11 วิธีดูแลผู้สูงวัย
สำหรับการดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์โควิด-19 ศ.นพ.ประเสริฐแนะนำ 11 วิธี ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัด รักษาระยะห่าง 2 เมตร หรือ 2 ช่วงแขน 2.ดูแลสุขภาพยึดหลัก 4 อ. คือ อาหาร ออกกำลัง เอนกายพักผ่อน ออกห่างสังคมแออัด 3.ปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม 4.สวมหน้ากากอนามัย หากมีไข้หวัด ไอจาม ไม่อยู่ในที่ที่มีคนแออัด 5.ไม่เอามือสัมผัสหน้า จมูก ปาก
6.ทำความสะอาดมือบ่อยๆ และทำอย่างถูกต้อง ทั้งล้างด้วยสบู่ และแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยควรสังเกตวันหมดอายุ และหากเปิดทิ้งไว้นาน แอลกอฮอล์จะระเหยทำให้เปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ลดลง 7.ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านให้บ่อยขึ้น เนื่องจากเชื้อไวรัสอยู่บนพื้นผิวได้นานหลายวัน 8.ผ่อนคลายความเครียด 9.หากควบคุมโรคประจำตัวได้ดี อาจขออนุญาตแพทย์ที่ดูแล รับยาและเลื่อนนัดหมายให้นานกว่าปกติ ลดการไปโรงพยาบาล 10.ลดการเสพข้อมูลข่าวสาร และต้องเลือกเสพเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
11.ช่วงที่ป่วย รีบไปพบแพทย์ หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 แยกตัวจากผู้อื่น หากมีไข้ที่เกิดจากโควิด 19 ไม่ควรใช้ยาไอบูโพรเฟ่น (ibuprofen) ในการลดไข้ ให้ใช้พาราเซตามอล อย่างไรก็ตาม ในส่วนการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ต้องเฝ้าระวังอาการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ซึมหรือไม่นอน เพ้อสับสน เห็นภาพหลอน เป็นต้น ทั้งจะมีความสามารถดูแลตัวเองลดลง อาจจะหลงลืมการล้างมือ ฉะนั้นให้มีป้ายเตือนให้ล้างมือไว้ภายในบริเวณอ่างล้างมือที่บ้าน และให้ผู้ดูแลช่วยสาธิตการล้างมือไปพร้อมกัน รวมถึงวางแผนหาผู้ดูแลสำรองในกรณีผู้ดูแลเจ็บป่วย นอกนั้นก็เหมือนการดูแลผู้สูงอายุทั่วไป
ลูกหลานอย่าเพิ่งกลับบ้าน
ศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2560 พบจำนวนผู้สูงวัยทั้งหมด 12 ล้านคน ในประเทศไทย ประมาณร้อยละ 10.7 ของผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังคนเดียว และประมาณร้อยละ 20 อยู่กันตามลำพังสองคนตายาย โดยในชนบทจะมีสัดส่วนผู้ที่อยู่กันสองคนตายายสูงกว่าในเมืองเล็กน้อย
“การอาศัยอยู่เพียงลำพัง หรือไม่ได้อยู่กับลูกหลาน และการมีรายได้จำกัด หรือมีฐานะยากจน ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และการดูแลตัวเองตามหลักสุขภาวะที่ดี จึงเป็นกลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุด ในกรณีแบบนี้ เพื่อนบ้านและคนในชุมชนควรช่วยกันสอดส่องดูแล ทั้งอาหาร น้ำ ยา และดูว่าท่านเจ็บป่วยหรือมีอาการบ่งชี้ว่าติดโควิดหรือไม่” ศ.วิพรรณกล่าว
เป็นสถานการณ์ระบาดครั้งใหญ่ในช่วงเทศกาลที่ ศ.วิพรรณ อดเป็นห่วงไม่ได้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีลูกหลานทำงานในเมือง ว่าจะนำเชื้อไวรัสกลับไปแพร่ให้คนที่รักและเคารพโดยไม่รู้ตัว
“อยากให้คิดกันตรงนี้มากๆ คิดถึงผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงสูง หากกลับไปแล้วสามารถกักกันตัวเอง แยกกันกินแยกกันอยู่ได้หรือไม่ในช่วง 14 วันแรก แต่จะให้ปลอดภัยที่สุด ลูกหลานไม่ควรย้ายกลับไป จำไว้เป็นคัมภีร์เลยสำหรับผู้สูงวัยว่า เสี่ยงติด เสี่ยงตาย เลี่ยงได้ ให้อยู่บ้าน” ศ.วิพรรณกล่าว
รักพ่อแม่-คนสูงวัย “งดกอด”
นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า กระทรวง พม.ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะทั้ง นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. และนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัด พม.ได้กำชับและเน้นย้ำมาตลอด เนื่องจากตระหนักว่าผู้สูงอายุหากติดเชื้อไวรัสนี้แล้ว จะรุนแรงต่อชีวิตได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่นๆ กรมจึงมีมาตรการดูแลเข้มข้น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนแรกเป็นมาตรการดูแลผู้สูงอายุที่รับบริการจาก ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) 12 แห่งทั่วประเทศ ได้ให้แนวปฏิบัติ ตั้งแต่การติดตามสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิด การทำความสะอาดสถานที่และสิ่งของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ราวจับ ลูกปิดประตู เป็นระยะ การตรวจวัดอุณหภูมิและสวมใส่หน้ากากอนามัยตั้งแต่ทางเข้าหน่วยงาน ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้มาติดต่อราชการ
“ตอนนี้ดิฉันได้สั่งการให้ทุกศูนย์งดเว้นกิจกรรมผู้สูงอายุ ที่จะต้องให้คนจำนวนมากมารวมตัวกัน เช่น กิจกรรมนันทนาการ การเข้าเยี่ยมภายใน การอบรมดูงาน การเก็บข้อมูล แต่ในกรณีประสงค์บริจาคสิ่งของหรือเลี้ยงอาหารกลางวัน ก็สามารถประสานเข้ามาได้ต่อเนื่อง เพียงแต่อาจมีการจำกัดและควบคุมผู้ที่จะเข้าไปภายใน”
และต่อมาเป็นผู้สูงอายุทั่วไป อธิบดี ผส.ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ฝากกำชับหน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานได้ใส่ใจการดูแลผู้สูงอายุแล้ว โดยเฉพาะการให้บทบาทพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศอพส.) ที่กระจายตามชุมชนทั่วประเทศ ให้เป็นแกนกลางในการให้ข้อมูลต่างๆ อาทิ การดูแลตนเอง สังเกตอาการ แก่ประชาชนในชุมชน
“ช่วงนี้อาจปฏิบัติตัวยากหน่อย ในการแสดงความรักต่อพ่อแม่และผู้ที่เคารพรัก ด้วยการไม่กอดกัน ต้องอยู่ห่างกัน แต่เหล่านี้จะเป็นผลดีกับผู้สูงอายุมากกว่า ฉะนั้นเชิญชวนมาส่งรักผ่านไลน์ ส่งความห่วงใยผ่านมือถือ” นางสุจิตรากล่าวทิ้งท้าย
แนวปฏิบัติช่วงสงกรานต์
กระทรวงวัฒนธรรมได้ออกแนวทางปฏิบัติที่ช่วงสงกรานต์ ว่า 1.งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ 2.งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา 3.งดเว้นการรดน้ำญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี 4.งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด
ส่วนการสืบสานประเพณีสงกรานต์ให้ปฏิบัติ ดังนี้ 1.สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน 2.การแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ใช้วิธีการกราบไหว้และขอพร โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สมาชิกในครอบครัวทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย
3.การแสดงความกตัญญูและขอพรต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ห่างไกลกันให้แสดงออกผ่านช่องทางโทรศัพท์หรือสื่อออนไลน์
สงกรานต์ปีนี้ #saveตัวเอง #saveพ่อแม่ #saveผู้ใหญ่ที่เคารพ จูงมือผ่านวิกฤตโควิดไปด้วยกัน