เตรียมแอดมิสชั่นส์ต้องอ่าน! 2 เน็ตไอดอล “เจมข์-มิณทร์” ไขปัญหา “สุดพีค” เด็ก ม.ปลาย

เจมข์-ภูวดล เวชวงศา(ซ้าย) และมิณทร์-ยงสุวิมล (ขวา)

ถ้าจะถามว่า “จุดพีคที่สุด” ของเด็ก “ม.ปลาย” คือ ช่วงไหน คำตอบเดียวและคำตอบสุดท้ายคือ จุดของการเลือกเข้ามหาวิทยาลัย!

สารพัดเรื่องราวจะถาโถมเข้ามา ทั้งไม่รู้ว่าตัวเองชอบจะไร จะเรียนต่อที่ไหน หรือแม้แต่รู้นะว่าชอบอะไร แต่พ่อแม่ไม่เข้าใจ ไม่สนับสนุนให้เรียน และอีกมากมาย เอเวอรี่ติงจิงเกอร์เบล!

เพื่อเป็นตัวช่วย “หาคำตอบ” และช่วยไขทุกปัญหาที่มันคาใจวัยรุ่น อุทยานการเรียนรู้ TK park จัดกิจกรรม “แนะให้แนว” ปี 3 ตอน “ทะยานแตะขอบฟ้า” ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

หนึ่งในฟอรั่มที่ได้รับความสนใจจากเด็ก ม.ปลาย เข้ามาฟังกันล้นหลามเป็นฟอรั่มในหัวข้อ “ทางแยกวัดใจ ไปมหาวิทยาลัยชื่อดัง หรือเดินเข้าคณะในฝัน” โดยได้ 2 เน็ตไอดอลคนบันเทิง “เจมข์” ภูวดล เวชวงศา ดาราวัยรุ่น ผู้สละสิทธิจากการเรียนมหาวิทยาลัยรัฐมาตามความฝันในมหาวิทยาลัยเอกชน คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ และนักร้อง “มิณทร์ กามิกาเซ่” มิณทร์ ยงสุวิมล ที่สอบติดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ปีล่าสุด! ด้วยวัยเพียง 16 ปีเท่านั้น มาเล่าถึงเหตุผลที่เขาเลือกเดินตามความฝันว่า

Advertisement

“ผมเลือกเรียนในสิ่งที่รัก เพราะคิดว่าถ้าเลือกสิ่งที่รัก แม้เกิดอะไรขึ้น ทั้งดีและไม่ดี มันสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองทั้งหมด และเมื่อเราเลือกแล้ว เราจะไม่รู้สึกว่ามันคืองาน แต่คือสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขไปเรื่อยๆ” เจมข์เล่าก่อน

ส่วนมิณทร์บอกว่า “การเรียนสิ่งที่ชอบจะทำให้เราปรับตัวได้ตั้งแต่ต้น อย่างเรียนแพทย์ แม้จะเรียนหนัก แต่เราสามารถปรับเวลาได้”

นอกจากความรัก หลักในการเลือกคณะเรียนของมิณทร์คือ “เรียนแล้วจบมาทำงานอะไร เป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวได้ และสามารถทำได้นานๆ โดยที่ยังสนุกกับมัน ไม่ใช่ว่าเลือกเพราะเงินเยอะ หรือมีคนชักจูง”

Advertisement

แต่ถ้าเจอสถานการณ์ว่าคณะที่อยากเรียนไม่ใช่คณะที่พ่อแม่อยากให้เรียน 2 หนุ่ม เจมข์และมิณทร์แนะนำ

“ต้องหาข้อมูลหรือตัวอย่างคนที่ประสบความสำเร็จจากสายอาชีพที่เรียนไปให้พ่อแม่ดู เพื่อให้ภาพมากขึ้น และพูดคุยกันอย่างเปิดใจว่าสิ่งที่เรารักคืออะไร ซึ่งก็เข้าใจความคิดของพ่อแม่ที่ทำแบบนี้ อาจเป็นห่วง กลัวเราไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ถ้าเรามุ่งมั่น และพิสูจน์ให้ท่านเห็นได้ เชื่อว่าพ่อแม่จะเข้าใจ”

หรืออีกประเด็นที่พ่อแม่หลายคนมักคิดว่า “สายวิทย์ฉลาดกว่าสายศิลป์”

มิณทร์ตอบเรื่องนี้ว่า “ไม่เสมอไป มันไม่ได้แบ่งแยกอะไรขนาดนั้น อย่างมิณทร์ก็ไม่ใช่คนเรียนดีทุกวิชา แต่รู้ว่าวิชาไหนถนัด และวิชาไหนที่เรียนแล้วหลับตลอด”

เจมข์ก็ต่อว่า “พ่อแม่จะคิดว่าให้เรียนสายวิทย์ไว้ก่อน เพราะกว้าง สามารถเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้เยอะกว่า แต่เรียนศิลป์คำนวณหรือภาษาไปได้ไม่กว้าง แต่ถ้าวิทย์ไปได้หมด อย่างเจมข์เรียนศิลป์คำนวณ เพราะไม่ชอบวิทย์เลย คำตอบที่ดีที่สุดก็คือศิลป์คำนวณ”

 

รูปบรรยากาศการเวิร์คชอป

 

อีกประเด็นคำถามคาใจยอดฮิตคือการเข้ามหาวิทยาลัยรัฐมีความสำคัญในยุคนี้ไหม

เจมข์ผู้ที่เลือกที่จะเดินตามความฝันแม้สอบติด ม.รัฐ ก็ขอเรียนคณะที่ใช่ใน ม.เอกชน บอกว่า “สำคัญครับ”

“แต่ไม่สำคัญสำหรับทุกคน ผมเข้ารัฐได้ แต่เข้าไปทำไมถ้าไม่ชอบคณะที่เรียน สิ่งที่เท่ที่สุด คือ การที่ให้คนอื่นยอมรับเพราะคำว่ามหาวิทยาลัย หรือยอมรับด้วยการที่เราทำสิ่งที่รัก อันนี้อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน”

มิณทร์บอกว่า “ก่อนจะเลือกอะไร เราควรศึกษาไลฟ์สไตล์การเรียนก่อน ม.รัฐ หรือ ม.เอกชน ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าที่ไหนดีไม่ดี เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง ก็ต้องศึกษาหาข้อมูลดูให้ดีว่า เราอยากเรียนแบบไหนอย่างไร”

สุดท้าย หากยังหาคำตอบไม่ได้ว่าจะเลือกเรียนคณะไหน มหาวิทยาลัยอะไร

2 รุ่นพี่แนะนำว่า ให้ไปลองศึกษา และหาประสบการณ์หลายๆ อย่าง แล้วดูว่า เราชอบอันไหน เหมาะกับอะไร สิ่งไหนที่อยู่ด้วยแล้วทั้งวันไม่รู้สึกหงุดหงิดก็ให้เลือกอันนั้น

เพราะการที่จะทำอะไรได้ดี ต้องเริ่มจากความรักและความสนใจจริงๆ ก่อน

 

JTT_6778

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image