รู้ไว้ไม่เสี่ยง เช็กอาการ ‘ออฟฟิศซินโดรม’ ทำงานที่ ‘บ้าน’ ก็เป็นได้

ออฟฟิศซินโดรม

รู้ไว้ไม่เสี่ยง เช็กอาการ ‘ออฟฟิศซินโดรม’ ทำงานที่ ‘บ้าน’ ก็เป็นได้

ออฟฟิศซินโดรม เป็นชื่อที่คุ้นหูและคุ้นเคยกันดี ที่มักจะมาเยี่ยมเยียนหนุ่มสาวชาวออฟฟิศอยู่บ่อยๆ เพราะแม้จะไม่ใช้โรคร้ายแรงแต่หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง และกระทบต่อประสิทธิภาพและความสุขในการทำงานได้

ยิ่งในภาวะที่หลายบริษัทมีนโยบายให้พนักงาน เวิร์ก ฟรอม โฮม ตามมาตรการป้องกันโควิด-19 นั้น หากละเลยความเสี่ยงในการนั่งทำงานที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะส่งผลให้ป่วยเป็น “โรคออฟฟิศซินโดรม” ได้โดยไม่รู้ตัว

นายแพทย์เฉลิมพล ชีวีวัฒน์ เเพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เผยว่า ออฟฟิศซินโดรม เป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด พบได้บ่อยในผู้ที่นั่งทำงานในออฟฟิศ ที่เกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นท่าทางการทำงาน ท่านั่งทำงาน การวางมือ ข้อศอกบนโต๊ะทำงานที่ไม่ถูกต้อง การใช้ข้อมือซ้ำๆ ทำให้เกิดการอักเสบของเอ็นบริเวณข้อมือ หรือพังผืดเส้นประสาทบริเวณข้อมือได้ รวมไปถึงการจัดสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น ลักษณะโต๊ะทำงาน หน้าจอคอมพิวเตอร์ แสงสว่างในห้องทำงาน เป็นต้น

Advertisement

รู้ได้อย่างไรว่า อาการแบบนี้คือ “กลุ่มเสี่ยง” เป็นออฟฟิศซินโดรม

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด โดยเฉพาะบริเวณคอ บ่า สะบัก มีการอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณข้อศอก ข้อมือ นิ้วมือ เช่น การอักเสบของเอ็นโค่นนิ้วโป้ง นิ้วล็อก การกดทับปลายประสาท ทำให้เกิดอาการชา รวมถึงอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถประเมินตัวเองว่าเข้าเกณฑ์กลุ่มเสียงหรือไม่ ได้ง่ายๆ หากมีพฤติกรรมหรืออาการส่วนใหญ่ ดังนี้ นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน ระหว่างทำงาน มักจะรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ ไหล่ หลัง เอว อยู่เสมอ หรือระหว่างทำงานรู้สึกปวดเมื่อยจนบางครั้งต้องกินยาแก้ปวด หรือไปนวดเพื่อให้หายปวด รวมไปถึงมีอาการตาพร่ามัว อ่านหน้าจอไม่ชัด ระหว่างการทำงานเป็นครั้งคราว

นายแพทย์เฉลิมพล แนะนำวิธีเวิร์ก ฟรอม โฮม ว่า ควรเริ่มจากการปรับท่าทางในการทำงานให้ถูกต้อง ด้วยการนั่งหลังตรง ฝ่าเท้าสองข้างแนบสนิทพื้น ไหล่ผ่อนคลาย ศอก สะโพก และเข่า งอประมาณ 90 องศา ข้อมือควรอยู่ในท่าตรง ไม่กระดก หรืองอมากเกินไป ในระหว่างทำงานควรมีการยืดกล้ามเนื้อ พักสายตาอย่างน้อยทุกชั่วโมง

Advertisement

จากนั้นจึงปรับสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ในการทำงานที่เหมาะสม โต๊ะทำงานควรมีลิ้นชักแยกไว้วางคีย์บอร์ด เก้าอี้นั่งต้องมั่นคง ปรับระดับสูงต่ำได้ และจอคอมพิวเตอร์ขอบบนจออยู่ระดับสายตา

หากปรับพฤติกรรมและจัดสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมแล้ว แต่ยังมีอาการปวดรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคและพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม

นายแพทย์เฉลิมพล ชีวีวัฒน์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image