‘บ้าน-พลัง-ใจ’ แพลตฟอร์มที่ สสส.ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และภาคีเครือข่ายหวังเติมใจให้กันในวันฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้หลายคนต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้น ต้องทำงานจากที่บ้าน งดออกไปนอกสถานที่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งการอยู่บ้านมาเป็นระยะเวลานาน อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกห่อเหี่ยว ความเครียดได้ 

โดยช่วงเดือนเมษายน ภายในระยะเวลาครึ่งเดือน มีผู้โทรเข้าสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อปรึกษาปัญหาความเครียดจากโควิด-19 จำนวน 615 คู่สาย หากย้อนไปในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้โทรเข้ามาปรึกษาเพราะความเครียดจากโควิด-19 ประมาณ 600 คู่สาย ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ มีผู้โทรเข้ามาจากเหตุดังกล่าวประมาณ 40 คู่สาย เดือนมกราคม ประมาณ 20 คู่สาย ทำให้เห็นได้ว่า เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยาวนานขึ้น มีความรุนแรงขึ้น ความเครียดและความรู้สึกทางลบของผู้คนก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

เพราะสุขภาพจิตต้องถูกให้ความสำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย ทางสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนรินทร์ และภาคีเครือข่าย ดำเนินการจัดทำเฟซบุ๊กเพจ บ้าน-พลัง-ใจ (https://www.facebook.com/Baanpalangjai)

ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เห็นได้ชัดว่า สุขภาพจิตของผู้ที่อยู่ร่วมกับโควิด-19 ผู้ที่รักษาหายแล้ว และประชาชนทั่วไป มีความเครียดเพิ่มขึ้น เกิดความวิตกกังวลว่า ‘ฉันติดหรือยังนะ?’ ซึ่งเป็นประเด็นที่ สสส. และกรมสุขภาพจิตได้หารือกันและเชื่อมโยงไปถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก เนื่องจากคนไทยใช้เฟซบุ๊กกันเป็นจำนวนมาก 

Advertisement

“ถ้าจะมีการทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น ทำให้จิตใจผ่อนคลายมากขึ้น รู้สึกมีความสุข สามารถจัดการกับความเครียดได้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีในการช่วยเหลือ เพราะผมคิดว่าสถานการณ์ความรุนแรงกระทบจิตใจเราในทุกรูแปบบ ไม่ว่าจะเป็นจากข้อมูลข่าวสารที่เราเปิดรับทุกวัน ความเจ็บป่วยของคนที่เราเห็น ตัวเลขการติดเชื้อที่สูง แล้วทำให้คนเครียดมากขึ้น เราได้ไอเดียออกมาว่า น่าจะพัฒนากระบวนการสนับสนุนประชาชนให้มีแนวทาง ทางออก ทางเลือกต่างๆ ในการจัดการความเครียดของตัวเอง เลยเป็นที่มาของแฟนเพจ บ้าน-พลัง-ใจ ซึ่ง สสส. ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และภาคีเครือข่ายพัฒนากันขึ้นมา” ชาติวุฒิกล่าว 

โดยที่มาของชื่อ บ้าน-พลัง-ใจ เพราะช่วงกักตัว (Quarantine) เราใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงที่บ้าน บางคนบอกเหมือนติดกับดัก แต่จริง ๆ แล้วบ้านนั้นสร้างพลัง เพราะ บ้านคือพื้นที่ ๆ อบอุ่น ที่ ๆ เราสามารถเป็นตัวของเราเอง ที่ๆ เราอยู่ได้อย่างปลอดภัย ที่ๆ เราจัดการชีวิตได้อย่างสงบสุข 

“เพราะนอกจากบ้าน นอกจากพลัง ‘ใจ’ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าใจเราสามารถจัดการความเครียดได้ สามารถดูแลสุขภาพจิตตัวเองได้ บ้านจะทำให้เกิดพลัง ไม่ใช่เฉพาะพลังกาย แต่เป็นพลังใจที่ทำให้ชีวิตเราสามารถจัดการความเครียด อยู่บ้านอย่างไรให้มีความสุข เราเคยใช้ชีวิตนอกบ้านเยอะ พอมาอยู่ในสถานการณ์ระบาด ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนบ้านที่สร้างความเหี่ยวเฉา ไม่สบายใจ ให้มันเป็นพื้นที่ๆ ปลอดภัย พื้นที่ๆ มีความสุข อยู่ร่วมกันของคนในครอบครัวอย่างร่มเย็น อย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่างมีทางเลือกกิจกรรมในบ้านด้วยความสร้างสรรค์ สร้างกำลังใจด้วยกัน” ชาติวุฒิกล่าว

Advertisement

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษาโครงการพัฒนาสื่อสังคมออนไลน์ ในการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อตอบสนอง COVID-19 สสส. กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป เรื่องสุขภาพจิตจะเป็นประเด็นใหญ่มากและเป็นประเด็นสำคัญมากๆ สำหรับคนไทย เพราะว่าเราต้องอยู่กับวิกฤตโควิด-19 นี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง ความเครียด ความกังวลก็จะเยอะ ปัจจัยต่างๆ เช่น ครอบครัว จะมีส่วนอย่างมากที่ทำให้คนสามารถจะใช้ชีวิตต่อไปได้ ฉะนั้นกรมสุขภาพจิตจึงเน้นเรื่องนี้มาก ซึ่งตรงกับภารกิจของทาง สสส.ด้วย

“เพราะว่าเราสนับสนุนให้คนอยู่บ้านมากขึ้น เมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้น คนก็ต้องอยู่กับครอบครัวมากขึ้น แล้วคนที่ไม่เคยอยู่ด้วยกันมาก่อน มีปากเสียง มีการทะเลาะเบาะแว้งกันมาก่อน พออยู่ด้วยกันมากขึ้นเขาต้องอาศัยการปรับตัว แล้วก็เขาอาจจะไม่เคยเห็นโอกาสมาก่อนว่า การที่อยู่ด้วยกันมันเป็นอย่างไร แต่มาอยู่แบบนี้แล้ว เราก็พยายามผลักดันครับ ให้เขาเห็นว่า เมื่อครอบครัวแต่ละครอบครัวมีเวลาให้กันแล้ว มันจะเป็นการพลิกวิกฤตที่มันเกิดขึ้นให้เป็นโอกาส ถ้าคุณใช้ให้เป็นประโยชน์” ดร.นพ.วรตม์กล่าว

สำหรับแนวคิดของคอนเทนต์ที่นำเสนอบนเพจบ้าน-พลัง-ใจนั้น ชาติวุฒิกล่าวว่า หลักคิดการพัฒนาเนื้อหาและกิจกรรมทุกอย่างอยู่บนฐานคิดของแนวคิดและทฤษฎีสุขภาพจิต ต้องมีการปรับอารมณ์ ต้องมีทางเลือกในการทำกิจกรรมที่บ้าน ต้องมีวิธีการที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ต้องสร้างความปลอดภัยในการทำกิจกรรม กิจกรรมต่างๆ ตอบสนองต่อความสงบสุข สร้างความหวัง มีองค์ประกอบของการถ่ายทอด สร้างทางเลือกที่หลากหลายที่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์คนไทย ไม่ว่าจะเป็นการทำกับข้าว การเล่นเกมกับลูกที่บ้าน การแต่งบ้าน การทำสมาธิ การฝึกจิตให้สงบและอื่นๆ อีกมากมาย การฝึกการเว้นระยะห่างทางสังคมคือ การตอบสนองต่อชีวิตของคนที่ต้อง Quarantine ตัวเองอยู่ในบ้าน ซึ่งในอนาคตนอกจากเพจบนเฟซบุ๊กแล้ว อาจจะมีการขยายไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ เพิ่มเติมที่จะตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ด้วย 

ดร.นพ.วรตม์กล่าวว่า เพจของบ้าน-พลัง-ใจ จะมีความรู้ มีคลิปวิดีโอมากมายที่เกี่ยวกับครอบครัวและคนรอบข้าง ว่าครอบครัวและคนรอบข้างมีบทบาทสำคัญอย่างไรที่จะทำให้เราผ่านวิกฤตไปได้ ไม่ใช่แค่ครอบครัวเราจะช่วยเราอย่างเดียวนะครับ แต่เราในฐานะที่เราก็เป็นครอบครัว เป็นคนรอบข้างของคนอื่นเช่นเดียวกัน เราจะช่วยเหลือคนรอบข้างได้อย่างไร โดยสามารถสังเกตภาวะของอารมณ์ตัวเองและคนรอบข้าง 3 ด้าน คือ 

1.อารมณ์ บางคนมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป ซึมเศร้า หงุดหงิดง่ายมากขึ้น ท้อแท้ 

2.ความคิด บางคนมีความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป สับสน ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถคิดอะไรตรงไปตรงมาได้อีกเหมือนเดิม 

3.พฤติกรรม บางคนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป บางคนไม่เคยดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ก็ดื่มเหล้า สูบบุหรี่มากขึ้น มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง 

“ทั้งอารมณ์ ความคิด พฤติกรรม จะเป็นสัญญาณบอกว่า ความเครียดเริ่มทำร้ายคุณแล้ว ประกอบกับถ้าเกิดอารมณ์ความคิดพฤติกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แล้วคุณมีการสูญเสียศักยภาพด้วย คือ เริ่มไม่ดูแลตัวเอง เริ่มไม่พูดคุยกับคนอื่น ไม่สนทนากับคนรอบข้าง ทำงานอยู่บ้านก็ทำงานไม่ได้ อ่านหนังสืออะไรก็ไม่รู้เรื่อง ศักยภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจะเป็นตัวบอกว่า อาจจะถูกได้รับผลกระทบจากความเครียดนั้นมากขึ้นแล้ว และมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต”ดร.นพ.วรตม์กล่าว 

โดยดร.วรตม์ทิ้งท้ายว่า จะดูข่าว หรือจะดูข้อมูลต่างๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่เปิดรับที่มากเกินไปไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นดูช่องข่าวที่เป็นทางการน่าจะพอเพียง ส่วนอื่นๆ ที่กรมสุขภาพจิตอยากสนับสนุนให้ทำเพิ่มเติม คือการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส การใช้เวลากับคนที่อยู่รอบข้างของคุณ การใช้เวลาอย่างมีความสุข การอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ซึ่งเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่าสถานการณ์นี้จะหยุดเมื่อไหร่ แต่เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ และเพจบ้าน-พลัง-ใจ จะเป็นหนึ่งในคำตอบว่า เราจะทำให้ครอบครัวเราอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image