ม.มหิดล แนะวิธีฝึกสติสู้โควิด ชี้ทำศาสนกิจแบบเว้นระยะ คือ ‘ความรับผิดชอบ’ ที่ควบคุมได้

ม.มหิดล แนะวิธีฝึกสติสู้โควิด ชี้ทำศาสนกิจแบบเว้นระยะ คือ ‘ความรับผิดชอบ’ ที่ควบคุมได้

จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อบริบทสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของคน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ดังที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้างเกี่ยวกับ “ฐานวิถีชีวิตใหม่” หรือ นิว นอร์มอล (New Normal)

ซึ่ง “ศาสนา” ก็เป็นอีกหนึ่งมิติที่มีความสัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรม ดังที่ปรากฎภาพของวัดต่างๆ ที่มีการจัดที่นั่งฟังเทศน์ให้มีระยะห่างกันอย่างน้อย 1.5 เมตร หรือการตักบาตรแบบมีระยะห่าง รวมไปถึงการถวายสังฆทานโดยมีฉากพลาสติกกั้นระหว่างพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน เป็นต้น

กับเรื่องนี้ รศ.ดร.ปกรณ์ สิงห์สุริยา หัวหน้าภาควิชามนุษยศาสตร์และอาจารย์ประจำสาขาวิชาศาสนากับการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การปฏิบัติทางศาสนามีความสัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรม

ซึ่งการตอบสนองของศาสนาต่อสถานการณ์โควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แนบแน่นของศาสนากับบริบท แม้มีชื่อเป็นศาสนาเดียวกัน แต่อยู่ต่างบริบทกัน ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีคำตอบเดียวกัน ศาสนิกที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนก็มี ศาสนิกที่ยืดหยุ่น มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ โดยไม่กระทบกับศรัทธาก็มี บ้างก็พบว่ามีการปฏิบัติศาสนกิจผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ต้องไปรวมตัวกันให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

Advertisement

ทั้งนี้ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือ การเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) ในมุมมองเชิงจริยศาสตร์ไม่อาจตีความได้ว่าเป็นมาตรการที่ละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล เนื่องจากเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยและสุขภาพของผู้อื่น จึงต้องพิจารณาว่าการกระทำส่วนบุคคลไปกระทบกับส่วนรวมอย่างไร?

ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นชัดเจนว่า

“พฤติกรรมส่วนบุคคล ในที่สุดส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น ไปจนถึงระดับภาพรวมของประเทศ”

Advertisement

รศ.ดร.ปกรณ์ กล่าวต่อว่า การพูดถึง “สิทธิ” ถ้าเราเอามาใช้แบบไม่ระวัง อาจทำให้สับสนได้ “เสรีภาพ” เป็นสิทธิประเภทหนึ่งที่มีได้เฉพาะในเวลาที่ไม่มี “หน้าที่” ต่อบุคคลอื่น แต่เราต่างก็มีสิทธิในชีวิตและสุขภาพ เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องไม่ไปละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและสุขภาพของผู้อื่นด้วย ในกรณีนี้จึงไม่ถือว่ามีความขัดแย้งกันระหว่างการเคารพเสรีภาพส่วนบุคคลกับการมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่น

ดังที่ พระไพศาล วิสาโล กล่าวไว้ว่า วิกฤตโควิด-19 จะเป็นโอกาสที่ทำให้เราเข้าใจสัจธรรมของมนุษย์ ให้เราได้มีสติระวังตัว และที่สำคัญได้ฝึกพรหมวิหารสี่ คือ “ความเมตตา” กับผู้อื่นด้วย

รศ.ดร.ปกรณ์ อธิบายว่าหลักทั่วไปของ “การฝึกสติ” คือ รู้สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะปัจจุบัน โดยไม่จมเข้าไปอยู่ในสิ่งนั้น และไม่ผลัก หรือปฏิเสธสิ่งนั้น แต่ให้ดูด้วยความเป็นกลาง ความยากอยู่ตรงที่เมื่อเราลงมือฝึกสติ เรามักจะจมหรือผลักโดยไม่รู้ตัว ถ้าเราพยายามไปฝึกมากๆ แทนที่จะเป็นการช่วยทางใจ จะกลายเป็นการเพิ่มความเครียดยิ่งไปอีก จึงมีการพัฒนาเทคนิคต่างๆ ขึ้นมาในการฝึกสติ ไม่ว่าในศาสนา หรือจิตวิทยา เช่น สวดมนต์ ตามลมหายใจ หรือเคลื่อนไหวร่างกาย

“ข้อแนะนำคือ หาเทคนิคที่เหมาะสมกับตัวเอง แล้วก็ตั้งใจทำตามเทคนิคนั้น โดยไม่ต้องไปหวังผลเพื่อบรรเทาความเครียด ควรมองว่าการฝึกสตินั้นเป็นเพียงส่วนเสริมในชีวิตที่ทำเป็นกิจวัตร มากกว่ามองไปในทางที่จะฝึกให้ไปบรรลุธรรม” หัวหน้าภาควิชามนุษยศาสตร์ ม.มหิดลกล่าว

อย่างไรก็ตาม การสวดมนต์อาจช่วยเยียวยาจิตใจในสถานการณ์เช่นนี้ได้ โดยเวลาสวดให้รู้สึกถึงการออกเสียง และรู้สึกถึงความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นด้วยจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลลงได้

“แม้สิ่งที่เกิดขึ้นเราอาจควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ คือ ความรับผิดชอบต่อตัวเอง และผู้อื่นด้วยความรักและห่วงใย แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” รศ.ดร.ปกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

รศ.ดร.ปกรณ์ สิงห์สุริยา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image