จัดเก็บ ‘สงครามและสันติภาพ’ ไว้ใน ‘ดีเอ็นเอ’

ภาพ-University of Washington

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันกับไมโครซอฟท์ ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นการจัดเก็บและอ่านข้อมูลจาก “ดีเอ็นเอ” สังเคราะห์ที่ทำขึ้นเพื่อจัดเก็บข้อมูลดิจิตอลโดยเฉพาะข้อมูลที่จัดเก็บลงใน “สตอเรจ” หรืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลดิจิตอล ที่เป็นรูปแบบใหม่ล่าสุดนี้ มีขนาดเพียง 200 เมกกะไบต์ ประกอบด้วย วิดีโอ, ภาพถ่าย และข้อมูลในรูปของตัวอักษรหรือเท็กซ์ ซึ่งถือเป็นสถิติโลกที่มีการจัดเก็บข้อมูลไว้ในห่วงโซ่ของโมเลกุลที่ขดเป็นเกลียวในรูปแบบของดีเอ็นเอ แต่ทีมวิจัยชุดนี้กำลังดำเนินการเพื่อสร้างสถิติโลกใหม่ในการจัดเก็บข้อมูลในดีเอ็นเอให้ได้ในเร็วๆ นี้อีกครั้ง

ในโลกยุคดิจิตอล มนุษย์ผลิตข้อมูลดิจิตอลในทุกๆ รูปแบบออกมามากมาย เก็บรวบรวมเอาไว้ในอุปกรณ์จัดเก็บต่างๆ ซึ่งมีการประเมินกันว่าภายในปี 2020 หรือในอีก 4 ปีข้างหน้านี้ ข้อมูลดังกล่าวเหล่านั้นจะมีปริมาณทะลุเกินหลัก 44 ล้านล้านกิกะไบต์ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือโลกเรากำลังผลิตข้อมูลดิจิตอลออกมาในอัตราที่สูงกว่าอัตรการผลิตสตอเรจ ไม่ช้าไม่นานข้อมูลดังกล่าวจะมีปริมาณเกินกว่าที่สตอเรจทั้งโลกจะบรรจุไว้ได้หมด

การใช้ “ดีเอ็นเอ” จึงเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งสำหรับอนาคต ลูอิส เซซเซ ศาสตราจารย์ด้านคอมพิวเตอร์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันระบุว่า ข้อดีของการใช้โมเลกุลที่จับตัวเป็นห่วงโซ่ ขดเป็นเกลียว อย่างแรกก็คือมันมีความหนาแน่นมากกว่าสตอเรจใดๆ หลายล้านเท่า นั่นหมายความว่ามันสามารถบรรจุข้อมูลดิจิตอลได้สูงกว่าสตอเรจแบบอื่นๆ ในเวลาเดียวกันดีเอ็นเอก็คงทนอยู่ได้นานนับหลายสหัสศวรรษ และไม่เคยตกยุคตกสมัยอีกด้วย

โดยทฤษฎีแล้ว เราสามารถจัดเก็บข้อมูลดิจิตอลไว้ในดีเอ็นเอเยอะมาก ชนิดที่สามารถบรรจุข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตในเวลานี้ลงไว้ในดีเอ็นเอที่มีขนาดเท่ากับกล่องรองเท้าเท่านั้นเอง

Advertisement

ดักลาส คาร์มีน นักวิจัยของไมโครซอฟท์ เปิดเผยว่า ในกรณีของข้อมูล 200 เมกกะไบต์ที่จัดเก็บไว้ในดีเอ็นเอ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมิวสิกวิดีโอของวงดนตรี “โอเค โก”, คำประกาศสิทธิมนุษยชนสากล และวรรณกรรมคลาสสิก ของ ลีโอ ตอลสตอย ชื่อ “วอร์ แอนด์ พีซ” หรือ “สงครามและสันติภาพ” ครั้งนี้นั้น ขนาดของสตอเรจที่ใช้เล็กกว่าปลายไส้ดินสออยู่มากด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ จอร์จ ซีลิก ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันยอมรับว่า การใช้ดีเอ็นเอเป็นสตอเรจในเวลานี้ยังคงมีปัญหา นั่นคือ กระบวนการในการ “เขียน” ข้อมูลลงไป และการ “อ่าน” ข้อมูลที่เขียนไว้ในดีเอ็นเอ ยังคง “ช้าอยู่มาก” ด้วยเหตุนี้ การบันทึกข้อมูลดิจิตอลไว้ในดีเอ็นเอจึงไม่เหมาะสำหรับการใช้งานประจำวันที่ต้องบันทึกและเข้าถึงสิ่งที่บันทึกไว้บ่อยๆ เป็นประจำ แต่เหมาะสำหรับการบันทึกเพื่อจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้ในระยะยาวมากกว่า

จนถึงขณะนี้ ทีมของมหาวิทยาลัยวอชิงตันเป็นเพียง 1 ในสองกลุ่มวิจัยเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการ “เข้าถึงแบบสุ่ม” เพื่อ “เลือก” และ “ฟื้นฟูข้อมูล” ที่บันทึกไว้ในดีเอ็นเอออกมาได้

Advertisement

นอกจากนั้น ยังเป็นที่ยอมรับกันว่า ต้นทุนในการสร้างดีเอ็นเอสังเคราะห์ เพื่อเขียนข้อมูลลงไปนั้นยังสูงอยู่มาก และประสิทธิภาพยังจำเป็นต้องปรับปรุงอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image