รับรสน้อยลง ไม่ได้กลิ่น ‘โควิด’ เชื่อมโยงระบบประสาทจริงหรือ?

รับรสน้อยลง ไม่ได้กลิ่น ‘โควิด’ เชื่อมโยงระบบประสาทจริงหรือ?

ในห้วงเวลาที่เชื้อไวรัสโควิดยังคงระบาดไปทั่วโลก แม้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในบางประเทศจะมีสัญญาณดีขึ้น แต่ก็ยังมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับโรคบางโรคที่อาจเชื่อมโยงกับโควิด-19 ได้ ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อนอกจากในระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ได้ เช่น “โรคทางระบบสมองและประสาท”

ซึ่ง นพ.ชัยศักดิ์ ดำริการเลิศ แพทย์อายุรกรรมระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า มีงานวิจัยจากนครอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถพบอาการทางระบบประสาทได้ถึง 36% ซึ่งอาการดังกล่าวพบได้ทั้งในระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) และระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System)

โดยคาดว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการที่เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปในระบบประสาทได้โดยตรง และไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ให้เกิดการอักเสบ และทำให้มีการบาดเจ็บของเซลล์ประสาทตามมา อันเป็นเหตุให้เกิดอาการทางระบบประสาทในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น มึนศีรษะ ปวดศีรษะ การรับรสหรือรับกลิ่นลดลง อาการปวดเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อ ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น การรับรู้สติสัมปชัญญะที่ลดลง อาการชัก หรืออาการของโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งนี้ จากงานวิจัยจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่าโรคประจำตัวทางระบบประสาทจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนชัดเจนว่ายารักษาโรคทางระบบประสาทจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน

นพ.ชัยศักดิ์ ดำริการเลิศ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวทางระบบประสาทดังกล่าวบางส่วนมีอายุค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าในคนสูงอายุนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ง่ายกว่าในคนอายุน้อย รวมทั้งอาการแสดงจะรุนแรงกว่า จึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวทางระบบสมองและประสาทดังกล่าวควรรับประทานยาต่อเนื่อง ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี และมีการป้องกันการติดเชื้อที่ถูกต้องร่วมด้วย

Advertisement

“ในโรคทางระบบประสาทบางอย่าง เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมายแอสทีเนียกราวิส (Myasthenia Gravis) โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบส่วนกลาง (Multiple Sclerosis) หรือโรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (CIDP) ผู้ป่วยบางคนจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกันในการควบคุมโรค ซึ่งจากข้อมูลจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่ายากลุ่มนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้มากน้อยเพียงใด แต่หากหยุดยาดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้โรคประจำตัวกำเริบ ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากตัวโรคและทุพพลภาพตามมา แนะนำว่าผู้ป่วยที่รับยาในกลุ่มนี้ไม่ควรหยุดยาเอง ควรดูแลสุขภาพ และป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อให้ดี ปรึกษาแพทย์ประจำที่รักษาก่อนการหยุดหรือปรับเปลี่ยนยาทุกครั้ง” นพ.ชัยศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image